เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกาตาร์

ภาพวิวกลางคืนในกรุงโดฮา

ที่มาของภาพ, Getty Images

รายได้ของประเทศมาจากแหล่งก๊าซในประเทศที่ใช้เป็นทุนดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

กาตาร์เคยมีบทบาทในการพูดคุยสันติภาพระหว่างกลุ่มตาลีบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน และได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ผ่านกระบวนการอันอื้อฉาวจากข้อกล่าวหาเรื่องสินบน

ความพยายามเข้าไปมีบทบาทของกาตาร์ในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำชาติอาหรับไปเสียทุกเรื่อง เช่น การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในกาซา และกลุ่มอิสลามทั้งในอียิปต์และซีเรีย

ในประเทศเอง กาตาร์ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ประเทศมีความมั่งคั่งด้วยรายได้จากน้ำมันที่นำไปสนับสนุนการให้สวัสดิการของรัฐแก่ประชาชนของตนอย่างเต็มที่

เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

คือชีค ทามิม อิน ฮามัด อัล-ทานี เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในการสืบราชสมบัติที่ดำเนินไปอย่างสันติเมื่อเดือนมิถุนายน 2013

ชีค ทามิม อิน ฮามัด อัล-ทานี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชีค ทามิม อิน ฮามัด อัล-ทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ และทรงเคยศึกษาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สท์

ชีค ทามิม อิน ฮามัด อัล-ทานี ทรงเป็นรองผู้บัญชาการเหล่าทัพและเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของกาตาร์ โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พระองค์ทรงมีบทบาทด้านความมั่นของประเทศและกองทัพมากขึ้น

เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ และทรงเคยศึกษาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สท์

สื่อ

รัฐบาลกาตาร์เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลยิ่งในภูมิภาค และช่วยยกระดับสื่อในกาตาร์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

แม้อัลจาซีราจะกล้ารายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวในภูมิภาค แต่ในเวลาเดียวกันก็หลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเอง และพันธมิตรในอ่าวเปอร์เชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย

อัลจาซีราถูกจำกัดการแพร่ภาพในหมู่ชาติอาหรับหลายประเทศหากเนื้อหาสร้างความไม่พอใจให้ชาติเหล่านั้น

คนยืนในสนามบิน

ที่มาของภาพ, AL-JAZEERA

ส่วนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในกาตาร์นั้น มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์และแทบจะไม่แตะหรือวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นใด ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

รัฐบาลกาตาร์ยังควบคุมการนำเสนอข่าวต่อประชากร 2.7 ล้านคนของประเทศ ด้วยการปิดกั้นเนื้อหาโจมตีศาสนาอิสลาม, สื่ออนาจาร และความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์

ระบอบการปกครอง

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2004 รัฐกาตาร์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1971 รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติแก่สภาที่ปรึกษาซึ่งประกอบ ด้วยสมาชิกจำนวน 45 คน โดยจำนวน 2 ใน 3 จะมาจากการเลือกตั้ง ส่วนที่เหลือจะมาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

รัฐกาตาร์

เมืองหลวง: กรุงโดฮา

  • ประชากร 2.7 ล้านคน

  • พื้นที่ 11,437 ตร.กม.

  • ภาษาหลัก อาหรับ

  • ศาสนาหลัก อิสลาม

  • อายุขัย 79 ปี (ชาย), 78 ปี (หญิง)

  • สกุลเงิน ริยาล

Getty Images

ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศไทยระบุว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กาตาร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ และมีรายได้ประชาชาติต่อหัวราว 144,139 ดอลลาร์สหรัฐฯ /คน ในปี 2015 (รายได้ต่อหัวสูงที่สุดของโลก) เศรษฐกิจของกาตาร์ประมาณร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันกาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน กาตาร์มีปริมาณน้ำมันสำรองประมาณ 25.2 พันล้านบาร์เรล (สิ้นปี 2016) ซึ่งประเมินว่าจะสามารถผลิต (ในระดับการผลิตปัจจุบัน) ต่อไปได้อีกถึง 62 ปี

ความสัมพันธ์กับไทย (ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา)

สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 7 สิงหาคม 1980 ประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮาในปี 2002 ต่อมาเมื่อปี 2004 กาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทย

กรุงโดฮาของกาตาร์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กรุงโดฮาของกาตาร์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในปี 2015 การค้าไทย-กาตาร์มีมูลค่าประมาณ 114,128.28 ล้านบาท โดยกาตาร์ส่งออกมาไทย 102,196.50 ล้านบาท ไทยส่งออกไปกาตาร์ประมาณ 11,931.77 ล้านบาท

สินค้าส่งออกของไทยไปกาตาร์ ได้แก่ ผักสด ผลไม้ อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสไทย เครื่องดื่ม รถยนต์ รถกระบะ อะไหล่รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเย็น ส่วนไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากกาตาร์