เจ้าชายนารุฮิโตะ ว่าที่จักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น

เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ (ซ้าย) จะทรงขึ้นครองราชย์หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, เจ้าชายนารุฮิโตะ (ซ้าย) จะทรงขึ้นครองราชย์หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสละราชสมบัติ

เมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ทรงอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายของการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พระองค์ทรงใช้เวลาเสด็จไปยังสถานที่ทรงโปรดในเมืองทุกแห่งอีกครั้ง ด้วยทรงทราบดีว่า หากได้เสด็จกลับมาที่นี่ในครั้งต่อไป พระองค์จะไม่สามารถเสด็จไปทั่วทุกมุมเมืองได้อย่างอิสระตามพระอัธยาศัย ดังเช่นสมัยที่ยังทรงเป็นนักศึกษาได้อีกแล้ว

"เมืองคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือสถานะในชีวิตของข้าพเจ้า" มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงเขียนข้อความนี้ไว้ในบันทึกส่วนพระองค์ "เมื่อคิดถึงสิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกกังวลขึ้นมาอย่างประหลาด และปรารถนาให้เวลาหยุดเดิน"

กว่า 30 ปีต่อมา พระองค์ทรงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระชนมพรรษา 83 พรรษา มีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติเพื่อให้พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป โดยรัฐสภาญี่ปุ่นเพิ่งผ่านร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเปิดทางให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติได้ และคาดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในปลายปีหน้า

มกุฎราชกุมารญี่ปุ่นซึ่งมีพระชนมายุ 57 พรรษา ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีความพร้อม และจะทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี โดยตรัสว่าพระองค์มีพระประสงค์ที่จะ "ยืนหยัดใกล้ชิดกับพสกนิกร"

แต่อย่างไรก็ตาม ในการนี้มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตทรงเคยมีความขัดแย้งกับบรรดาข้าราชการของสำนักพระราชวัง ได้ตรัสถึงการนำ "กระแสความเปลี่ยนแปลงใหม่" เข้ามาในสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นด้วย

ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง รวมถึงปัญหาการสืบสันตติวงศ์ จำนวนสมาชิกพระราชวงศ์ที่ลดลง และการต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตของเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาในองค์มกุฎราชกุมาร

'ผมจะปกป้องคุณตลอดทั้งชีวิตของผม'

รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งส่งไปถึงผู้ช่วยของอดีตนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้ระบุถึง มกุฎราชกุมารญี่ปุ่นขณะทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดว่า "ทรงสง่างาม แม้จะทรงเป็นชายหนุ่มที่ขี้อายเล็กน้อย"

มีรายงานว่าเจ้าชายนารุฮิโตทรงพบกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ ที่งานเลี้ยงน้ำชาที่จัดถวายเจ้าหญิงจากสเปน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีรายงานว่าเจ้าชายนารุฮิโตทรงพบกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ ที่งานเลี้ยงน้ำชาที่จัดถวายเจ้าหญิงจากสเปน

ทรงได้พบกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ พระชายาในอนาคตเป็นครั้งแรก หลังเสด็จนิวัติญี่ปุ่นในปี 1986 โดยนางสาวโอวาดะซึ่งพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วหลายภาษา เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่พูดจาฉาดฉาน และเพิ่งผ่านการสอบที่ยากที่สุดเพื่อเตรียมก้าวขึ้นเป็นนักการทูตชั้นนำของญี่ปุ่น

ทั้งสองใช้เวลาพูดคุยดูใจกันค่อนข้างนาน โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้น มาจากการที่นางสาวโอวาดะกังวลเรื่องการใช้ชีวิตภายในสถาบันกษัตริย์ที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงของญี่ปุ่น แต่ในปี 1993 เธอก็ตกลงที่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับองค์มกุฎราชกุมาร

ในเวลาต่อมา เจ้าหญิงมาซาโกะได้ทรงเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทรงตอบรับคำขอแต่งงานหลังจากที่เจ้าชายนารุฮิโตะตรัสว่า "คุณอาจจะหวาดกลัวและกังวลเรื่องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ แต่ผมจะปกป้องคุณตลอดทั้งชีวิตของผม"

ทั้งสองพระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสในเดือนมิถุนายน 1993

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ทั้งสองพระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสในเดือนมิถุนายน 1993

เมื่อได้อภิเษกสมรสแล้ว ก็เริ่มมีกระแสคาดหวังจากผู้คนว่า เมื่อใดทั้งสองพระองค์จะมีพระราชโอรสเพื่อเป็นองค์รัชทายาท เนื่องจากญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้สตรีขึ้นครองราชบัลลังก์ และในขณะนั้นพระอนุชาขององค์มกุฎราชกุมารก็ไม่มีพระโอรสเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้มีองค์รัชทายาทสืบราชสมบัติก็ต้องมีพระโอรส หรือไม่ก็ต้องมีการแก้กฎหมาย

เจ้าชายนารุฮิโตะและพระชายาทรงเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก จนในปี 1994 องค์มกุฎราชกุมารถึงกับต้องตรัสออกมาตรง ๆ ว่า "ถ้าวุ่นวายกันเกินไป ข้าพเจ้าคิดว่านกกระสาก็อาจจะรำคาญได้"

ในปี 2001 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาคือเจ้าหญิงไอโกะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหญิงมาซาโกะก็ทรงเริ่มไม่เสด็จออกหรือปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชน ท่ามกลางการคาดเดากันว่าเป็นเพราะปัญหาพระพลานามัย

ในงานแถลงข่าวปี 2004 ความจริงจึงเริ่มปรากฏ เจ้าชายนารุฮิโตะทรงเผยกับสื่อมวลชนว่าพระชายา "ทรงอ่อนล้าหมดกำลังพระวรกาย" ในการพยายามปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตในพระราชวัง ครั้งหนึ่งเจ้าชายนารุฮิโตะทรงวิจารณ์อย่างรุนแรงแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก โดยทรงกล่าวหาเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังว่า "พยายามปรับแก้" ลักษณะนิสัยของพระชายาและพระกรณียกิจ

มีการเฉลิมฉลองเกิดขึ้นในช่วงของการประสูติของเจ้าหญิงไอโกะในปี 2001 แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีการเฉลิมฉลองเกิดขึ้นในช่วงของการประสูติของเจ้าหญิงไอโกะในปี 2001 แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น

ด้านสำนักพระราชวังได้แถลงหลังจากนั้นว่า เจ้าหญิงมาซาโกะทรงระทมทุกข์จาก "อาการผิดปกติในการปรับพระองค์" ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าหมายถึงภาวะซึมเศร้า เจ้าหญิงมาซาโกะแทบจะไม่ปรากฏพระองค์เลยเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี

วิกฤตการสืบราชบัลลังก์ผ่อนคลายลงในปี 2006 เมื่อพระอนุชาของเจ้าชายนารุฮิโตะและพระชายาทรงมีพระโอรสคือเจ้าชายฮิซะฮิโตะ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหญิงมาซาโกะทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะมากขึ้น

ในปี 2014 พระองค์เสด็จร่วมงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 11 ปี และหนึ่งปีหลังจากนั้นได้เสด็จเยือนตองกาอย่างเป็นทางการ แต่องค์มกุฎราชกุมารตรัสในปี 2016 ว่า เจ้าหญิงมาซาโกะยังทรง "มีพระอาการขึ้น ๆ ลง ๆ"

'การปกป้องแบบฟูมฟายคร่ำครวญ'

ศาสตราจารย์เคนเนธ รอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตทกล่าวว่า "ผู้หญิงบางคนอาจจะรู้สึกซาบซึ้งที่มกุฎราชกุมารทรงประกาศจะปกป้องเจ้าหญิงมาซาโกะ เรียกได้ว่าทรงทำตามคำมั่นสัญญาในข้อนี้ แต่พวกขวาจัดไม่เห็นใจพระองค์ พวกเขาเห็นว่าการปกป้องพระชายาเป็นแค่การฟูมฟายคร่ำครวญสงสารตัวเองเท่านั้น"

ศาสตราจารย์รอฟกล่าวว่า การประชวรของเจ้าหญิงมาซาโกะเป็นอุปสรรคต่อการที่องค์มกุฎราชกุมารและพระชายาจะทรงเผยความเป็นตัวตนของพระองค์เองให้สาธารณชนได้ประจักษ์ ซึ่งแตกต่างจากสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีที่ทรงมีความชัดเจนว่า ทรงสนับสนุนประเด็นทางสังคมด้านไหน ตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำไป

ศาสตราจารย์รอฟกล่าวว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ "ทรงรณรงค์อย่างต่อเนื่อง" ให้นำผู้พิการเข้ามาอยู่ร่วมในสังคมปกติ แต่มกุฎราชกุมารและพระชายา "ไม่ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านใหม่ ๆ ร่วมกันอย่างจริงจังนัก"

เจ้าชายฮิซะฮิโตะ (ด้านหลัง ที่สองจากขวา) เป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 3 ของบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, เจ้าชายฮิซะฮิโตะ (ด้านหลัง ที่สองจากขวา) เป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 3 ของบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

ความสนพระราชหฤทัยในหลายเรื่องของเจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ รวมถึงเรื่องดนตรีด้วย พระองค์โปรดทรงวิโอลา และทรงศึกษาการขนส่งสมัยโบราณ เช่นการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเทมส์ ซึ่งได้ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด นับแต่นั้นมาพระองค์ได้ตรัสถึงการที่ทรงชื่นชอบโปรดปรานแม่น้ำเทมส์บ่อยครั้ง

นับตั้งแต่พระธิดาประสูติ องค์มกุฎราชกุมารทรงมีความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่พระบิดาด้วยพระองค์เอง ส่วนในเวทีต่างประเทศ ทรงติดตามประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ โดยมีพระราชดำรัสในที่ประชุมของเวทีต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง

แฟมิลีทรีราชวงศ์ญี่ปุ่น

ทรงเคยแสดงความสนพระทัยในประเด็นการเมืองด้วยเช่นกัน แม้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ราชวงศ์ญี่ปุ่นต้องอยู่เหนือการเมือง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ช่วงที่ใกล้ครบรอบ 70 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์มกุฎราชกุมารได้ตรัสว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตอย่างไม่ทะนงตน และถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมในช่วงสงครามอย่างถูกต้องด้วย"

มีผู้ตีความพระราชดำรัสของพระองค์ว่า เป็นคำเตือนที่ส่งถึงบรรดานักการเมืองชาตินิยม ที่ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามของญี่ปุ่นเสียใหม่ คนกลุ่มนี้เองที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และต่อการแก้ไขปัญหาการสืบสันตติวงศ์ รวมทั้งการแก้ไขเรื่องจำนวนสมาชิกราชวงศ์ลดลง เนื่องจากพระราชวงศ์หญิงต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์เมื่อสมรสกับสามัญชน ดังเช่นกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเจ้าหญิงมาโกะในอีกไม่นานนี้

ศาสตราจารย์โคลิน โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยโดชิฉะ กล่าวว่าสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ไม่น่าที่จะทรงเข้าไปมีส่วนร่วมในการถกเถียงเรื่องดังกล่าว "จุดมุ่งหมายของระบบปัจจุบันคือป้องกันการใช้กษัตริย์ไปในทางการเมือง และป้องกันไม่ให้กษัตริย์ทรงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง"

เจ้าชายนารุฮิโตะพร้อมพระชายาและพระธิดาจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, เจ้าชายนารุฮิโตะพร้อมพระชายาและพระธิดาจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี

แต่ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ เจ้าชายนารุฮิโตะจะทรงมีพระราชภารกิจจำนวนมาก แม้ตำแหน่งจักรพรรดิจะเป็นแค่เพียงตำแหน่งทางพิธีการ แต่ก็มีบทบาทหลายอย่างตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในงานสาธารณะและงานด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์โจนส์ยังระบุว่า ปัจจุบันพระราชวงศ์ที่สามารถปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ เหล่านี้ได้ก็มีไม่มาก สิ่งที่ต้องมองคือความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิพระองค์ใหม่กับพระอนุชา ซึ่งทรงเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 2 และเป็นพระบิดาของเจ้าชายฮิซะฮิโตะ องค์รัชทายาทลำดับที่ 3 โดยความสัมพันธ์นี้อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่พสกนิกรเคยชิน

อิซาโอะ โทะโคะโระ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญให้แสดงความเห็นต่อคณะกรรมการของรัฐว่าด้วยการเตรียมการสละราชสมบัติ กล่าวว่าเจ้าชายนารุฮิโตะทรงเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีสำหรับอนาคต

"เจ้าชายนารุฮิโตะทรงได้รับการศึกษาอบรมมาเพื่อเป็นจักรพรรดินับตั้งแต่แรกประสูติ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพระองค์ในการดำรงบทบาทนี้ และตอบสนองต่อความจำเป็นของช่วงเวลานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ศาสตราจารย์โทะโคะโระกล่าว