ระเบียงทัศน์: จาก "โหมโรง" สู่ การเมืองเหลืองแดง วัฒนธรรมแห่งการประชันในรัตนโกสินทร์

  • ดร. กฤษฏิ์ เลกะกุล
  • อาจารย์พิเศษ SOAS, University of London
วงปี่พาทย์เสภา ("วงฟองน้ำ" พ.ศ. 2530) จากซ้ายด้านหน้า ละมูล เผือกทองคำ จำเนียร ศรีไทยพันธุ์ บุญยงค์ เกตุคง จากซ้ายแถวที่สอง พิณ เรืองนนท์ บรูซ แกสตัน และอานันท์ นาคคง

ที่มาของภาพ, อานันท์ นาคคง

คำบรรยายภาพ,

วงปี่พาทย์เสภา ("วงฟองน้ำ" พ.ศ. 2530) จากซ้ายด้านหน้า ละมูล เผือกทองคำ จำเนียร ศรีไทยพันธุ์ บุญยงค์ เกตุคง จากซ้ายแถวที่สอง พิณ เรืองนนท์ บรูซ แกสตัน และอานันท์ นาคคง

วัฒนธรรมการ "ประชัน" ดนตรีในสังคมไทย มีเอกลักษณ์ที่น่าศึกษา เพราะนอกจากจะทำให้รับรู้ถึงคุณค่าทางดนตรี สัมผัสถึงเสียงเพลงแห่งการต่อสู้อันเข้มข้นในสังคมดนตรีไทยแล้ว ยังได้เห็นรากวัฒนธรรมไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับการขันแข่งอยู่ตลอด สิ่งนี้ปรากฏออกให้เห็นทั้งทางดนตรี ศิลปะการแสดง แม้แต่การต่อสู้บนเกมการเมืองของผู้ที่มีความเห็นต่างขั้ว

โหมโรง

จากภาพยนตร์และละครเรื่อง "โหมโรง" ที่โด่งดังในไทย และต่างประเทศในชื่อ "The Overture" เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมการประชันดนตรีในสังคมไทยผ่านชีวประวัติของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการประชันดนตรีปี่พาทย์ ระหว่างนายศร และขุนอิน ที่ต่างมีเอกลักษณ์และสไตล์การบรรเลงระนาดเอกที่ต่างกัน มาแข่งขันกันในนามของวงดนตรีประจำแต่ละวัง เรามองเห็นการต่อสู้ของนักดนตรีผ่านทางเสียงเพลงและเครื่องดนตรีไทยอย่าง ระนาด ฆ้อง ปี่ กลอง เรียนรู้วิธีการโต้ตอบกันในประชันผ่านสไตล์ เทคนิคการตีระนาดที่พริ้วไหว หนักหน่วง ความเร็วความชัดเจนของการบรรเลง แม้แต่สีเสื้อขาวและดำที่เป็นสีของนักดนตรีแต่ละฝ่าย ที่มองถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพระเอกและผู้ร้าย ธรรมะและอธรรม ความดีและความชั่วเป็นการเปรียบเทียบระหว่างคนสองฝั่งที่มีความต่างทางพื้นฐานด้านดนตรี ประเพณีและความต่างทางความคิดแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ที่ต้องมาต่อสู้กันบนเวทีอันทรงเกียรติที่สนับสนุนโดยกลุ่มเจ้านายหรือชนชั้นสูง โหมโรง เป็นการเล่าเรื่องที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคมไทยยุครัตนโกสินทร์ที่ดนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงผ่านทางระบบอุปถัมภ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 และสังคมไทยสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ สังคมไทยกับการประชันนั้นมีความเชื่อมโยงด้วยกันตลอดเวลา

ภาพยนต์โหมโรง "The Overture" (พ.ศ. 2547)

ที่มาของภาพ, สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล

คำบรรยายภาพ,

ภาพยนต์โหมโรง "The Overture" (พ.ศ. 2547)

ประชัน

การประชันปี่พาทย์หรือการแข่งขันทางดนตรี (Music Competition) ในสังคมไทยมีความแตกต่างจากดนตรีตะวันตกและดนตรีชาติอื่น ๆ การประชันปี่พาทย์หรือโดยเฉพาะปี่พาทย์เสภานั้นโดยประเพณีเดิมเป็นการแข่งขันของวงปี่พาทย์สองวง โดยในการประชันทั้งสองวงจะบรรเลงเพลงโต้ตอบกันไปมาตั้งแต่เพลงโหมโรง เพลงเสภา จนไปถึงเพลงเดี่ยวในแต่ละเครื่องมือเพื่อโชว์ศักยภาพปฏิภาณไหวพริบของนักดนตรีในการบรรเลงรวมถึงความสามารถในการแต่งเพลงและปรับวง (Orchestration) ของครูผู้ฝึกสอน นอกจากนี้สิ่งที่โดดเด่นของการประชันดนตรีคือ เป็นการแข่งขันโดยไม่มีกรรมการเป็นผู้ตัดสินและจะไม่มีการประกาศว่าใครคือผู้ชนะหรือแพ้ในการแข่งขันโดยตรง สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกถึงว่าใครบรรเลงดีกว่าใครหรือผู้ชนะนั้นจะวัดกันจากเสียงเชียร์เสียงปรบมือของคนดูหรือการนับจากจำนวนธงของคนดูที่มาปักลงบนกระถางหรือลำต้นของต้นกล้วยที่ตัดวางไว้หน้าวงปีพาทย์ที่ตัวเองชอบแต่ละฝ่ายระหว่างการประชัน ซึ่งคือการโหวต จากคนดูคนฟัง

การประชันปี่พาทย์มีวิวัฒนาการในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเชื่อกันว่าเป็นดนตรีที่เริ่มจากความนิยมในหมู่ชาวบ้านแต่ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน จนกระทั่งได้รับความนิยมในหมู่คนชั้นสูงในรั้วในวังที่นิยมการแข่งขันดนตรีเพื่อความเพลิดเพลิน จึงได้มีการพัฒนารูปแบบของการประชันให้มีความหลากหลายและเข้มข้นมากขึ้น ประชันปี่พาทย์เสภามีหลักฐานเด่นชัดจากวิวัฒนาการของวงปี่พาทย์เสภาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และช่วงรัชกาลที่ 4 สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411) ที่ถือว่าเป็นยุคพัฒนาของวงปี่พาทย์เสภาที่ครูดนตรีไทยในวังได้มีการพัฒนาเพลงเสภาหลักสี่เพลงขึ้นในอัตราสามชั้น คือ เพลงพม่าห้าท่อน จระเข้หางยาว สี่บท และบุหลัน เพื่อนำมาบรรเลง ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้านายต้องการที่จะให้มีการแข่งขันหรือประชันวงปี่พาทย์จึงได้มีการเพิ่มเพลงประเภททยอยและเพลงเดี่ยวในการประชันเพื่อเพิ่มระดับความยากหรือความเข้มข้นของการประชันให้มากขึ้น

วงดนตรีสตรีสยามสมัยรัตนโกสินทร์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2454

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

วงดนตรีของสตรีสยามสมัยรัตนโกสินทร์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2454

การประชันในสมัยก่อน นักดนตรีหรือวงดนตรีปีพาทย์ที่มีชื่อเสียงจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายในวังผ่านระบบอุปถัมภ์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 การประชันปี่พาทย์จัดว่าเป็นแฟชั่นนำสมัยเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และขุนนางผู้มีฐานะที่ว่าใครมีวงปี่พาทย์หรือมีนักดนตรีฝีมือดีและมีชื่อเสียงในการประชันก็จะเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าของวังเจ้าของบ้านนั้นๆ ดังนั้นเจ้านายแต่ละวังในสมัยก่อน เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ภาณุรังสีสว่างวงศ์ (สมเด็จวังบูรพา) สมเด็จเจ้าฟ้าฯบริพัตรสุขมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ (สมเด็จวังบางขุนพรหม) ต่างตามหานักดนตรีหรือครูดนตรีฝีมือดีจากที่ต่าง ๆ เพื่อเข้ามาชุบเลี้ยงให้เป็นนักดนตรีฝีมือฉกาจในวังของตนเพื่อไปประชันกับวังอื่น ถือเป็นการประชันในเรื่องของศักดิ์ศรีระหว่างเจ้านายวังต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเหล่าขุนนางผู้มีฐานะ ในทางประวัติศาสตร์การประชันดนตรีสมัยนั้นถือว่าเข้มข้นและจริงจังมาก เพราะเนื่องด้วยมีศักดิ์ศรีของเจ้านายมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการชนะหรือการแพ้การประชันมีผลต่อการเลื่อนบรรดาศักดิ์และฐานะของนักดนตรี

รูปแบบการประชันที่เปลี่ยนไป

พอหลังปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การประชันปี่พาทย์ได้เปลี่ยนรูปแบบไป หลังจากที่ครูดนตรีและนักดนตรีฝีมือดีได้กระจัดกระจายออกจากวังหรือบ้านของขุนนางไปสู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งเมืองหลวง ปริมณฑลและต่างจังหวัด ท่านเหล่านี้ได้ประกอบอาชีพนักดนตรีและเปิดสำนักดนตรีต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ นักดนตรีเหล่านี้ต่างก็ได้ธรรมเนียมและรูปแบบการประชันที่ได้เรียนรู้จากในวังมาเผยแพร่สู่สังคมภายนอกโดยมีความคิดที่ว่านี่คือวัฒนธรรมดนตรีของชนชั้นสูง ดังนั้นการประชันปี่พาทย์ในสังคมไทยระหว่างสำนักดนตรีจึงได้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น มีการว่าจ้างนักดนตรีแต่ละสำนักที่มีชื่อเสียงเพื่อมาประชันกันในงานสำคัญทั้งงานศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อความบันเทิง ทำให้สังคมดนตรีปี่พาทย์และครูดนตรีเจ้าของสำนักมีการตื่นตัวตลอดมีการพัฒนาเพลง เทคนิคต่าง ๆ ในการบรรเลง การพัฒนาวัตถุดิบในการสร้างเครื่องดนตรีและไม้ตีที่ให้เสียงดังกังวาน และการพัฒนารูปแบบในการบรรเลงแบบต่าง ๆ เพื่อมาโต้ตอบกัน

การประชันเป็นการโต้ตอบเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Symbolic Cultural Meaning) ในความหมายของเสียงเพลง เทคนิค สไตล์ การแต่งเพลง การปรับวง เพลงเดี่ยว หางเพลงและเพลงสำเนียงภาษาต่าง ๆ เป็นการอวดถึงสติปัญญาความสามารถของนักดนตรีและครูผู้สอน กล่าวได้ว่าการเป็นวงประชันที่มีชื่อเสียงมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และการยอมรับของนักดนตรีในสังคมไทยมากในสมัยนั้น การประชันระหว่างสำนักต่าง ๆ ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมของการแบ่งฝักฝ่ายและการแข่งขันต่อสู้ทางดนตรีในสังคมไทยได้ชัดเจน วงดนตรีประชันที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น ได้แก่ วงสุพจน์ โตสง่า วงดุริยประณีต วงหัวลำโพง วงปลื้มปรีชา วงครูหยด ศรีอยู่ วงครูสกล แก้วเพ็ญกาศ วงบ้านใหม่หางกระเบน วงครูประสงค์ พิณพาทย์ ฯลฯ

ความหลากหลายกลายเป็น "มาตรฐาน" เดียว

การประชันปี่พาทย์เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อดนตรีไทยเริ่มหมดความนิยมลง อันเกิดจากการรับอิทธิพลของวัฒนธรรมดนตรีต่างชาติ รวมถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจของเอเชียในปี 2540 ทำให้แทบไม่มีใครคิดจ้างนักดนตรีไทยเพื่อมาบรรเลงหรือมาประชันกัน วงการดนตรีไทยซบเซา สุดท้ายนักดนตรีเหล่านี้จึงหาทางอยู่รอดโดยเข้าไปสังกัดตามสถาบันการศึกษา และสถาบันราชการกองดุริยางค์ต่าง ๆ เช่น กองดุริยางค์สี่เหล่าทัพ (กองดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ) กรมศิลปากร และวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร

ปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ครั้งที่ 11 (7 ม.ค. 2556) ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร

ที่มาของภาพ, กฤษฏิ์ เลกะกุล

คำบรรยายภาพ,

ปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ครั้งที่ 11 (7 ม.ค. 2556) ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร

สถาบันเหล่านี้ได้จ้างครูหรือนักดนตรีจากสำนักต่าง ๆ ให้มารวมกันให้ความรู้และทำงานร่วมกันในหน่วยงานราชการ สิ่งที่น่าสนใจคือ นักดนตรีจากต่างสำนักที่เคยประชันกันต้องมาทำงานและเล่นดนตรีร่วมกัน แน่นอนย่อมมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องวิธีการบรรเลง ทางเพลง สไตล์และเทคนิคในการบรรเลงต่าง ๆ แต่สุดท้ายต้องยอมให้กับคำสั่งระบบราชการทหารและสถาบันที่จำกัดและควบคุมการบรรเลงให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งบางสถาบันถึงกับให้มีการสร้าง "มาตรฐานในการบรรเลง" ซึ่งนำมาสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักดนตรีที่ต้องไปพึ่งสถาบันราชการ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นหลักและทำให้การประชันระหว่างสำนักดนตรีเบาบางลงไม่เข้มข้นแบบสมัยก่อน สิ่งนี้มีผลต่อการประชันและการเรียนดนตรีที่ต้องขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของสถาบันราชการ ทำให้ดนตรีกลายเป็นการแข่งขันระหว่างสถาบันราชการและสถานศึกษา การบรรเลงหรือการประชันปี่พาทย์เสภาที่วังหน้าที่กรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นทุกปีทุกวันที่ 7 มกราคม นับว่าเป็นตัวอย่างการประชันที่อวดศักยภาพวงดนตรีและนักดนตรีของแต่ละสถาบันอย่างกลาย ๆ ในสังคมดนตรีไทยต่างรู้กันว่าปี่พาทย์เสภาที่วังหน้าจัดว่าเป็นการประชันที่สำคัญงานหนึ่งในปัจจุบัน

ประชันกับวัฒนธรรมไทย และประชันกับการเมืองเหลืองแดง?

เรามองเห็นอะไรจากการประชันดนตรี? การประชันจริง ๆ แล้วไม่ได้มีแต่ในเฉพาะดนตรีแต่มีอยู่ทั่วในวัฒนธรรมไทย การประชันในวัฒนธรรมไทยนั้นครอบคลุมถึงศิลปะการแสดง และถ้ามองให้ลึกลงไปกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์การเมืองที่เร่าร้อนของเมืองไทยที่ผ่านมา การต่อสู้กันระหว่างเสื้อเหลืองแดงในเกมการเมืองจัดได้ว่าเป็นการประชันประเภทหนึ่งที่แข่งขันกันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ทั้งเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม การปราบทุจริต การรักษาอำนาจของชนชั้นกลางหรือคนชั้นกลางระดับบน การเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเพิ่มอำนาจต่อรองในสังคมไทยต่อรัฐ

ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เหมือนกันของการประชันดนตรีและประชันเหลืองแดง คือ การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายที่พยายามโต้ตอบกันทุกวิถีทางเพื่อความเป็นผู้ชนะ ซึ่งรวมถึงยุทธวิธี กลยุทธ เล่ห์เหลี่ยมโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยเสียงเพลงหรือดนตรีที่เหมือนการประชัน เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2555 เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (อดีตนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2551-2554) ต้องมารายงานตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อมาให้การเกี่ยวกับคดีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในตอนที่ทั้งสองคนมาให้การกับเจ้าหน้าที่กลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มใหญ่ได้มาชุมนุมหน้าตึก DSI และเปิดเพลงด้วยลำโพงเสียงดังในเพลงไทยเดิม "ธรณีกันแสง" ที่ปกติใช้ในงานศพที่มีความหมายในเชิงลบของคนที่จะต้องเสียชีวิต เพื่อสร้างแรงกดดันให้ทั้งสองในการเข้าไปรับการสอบสวน

เมื่อปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร ได้มีการเผยแพร่วีดีโอคลิปหัวข้อ "ทักษิณคนโลภ" ต่อสาธารณะพร้อมกับเพลงที่กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองด้วยสไตล์เพลงเพื่อชีวิต

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ดนตรีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเสื้อเหลือง-แดงในเกมการเมืองไทย

เฉกเช่นเดียวกันกับเมื่อปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร ได้มีการเผยแพร่วีดีโอคลิปหัวข้อ "ทักษิณคนโลภ" ต่อสาธารณะพร้อมกับเพลงที่กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองด้วยสไตล์เพลงเพื่อชีวิตร้องโดย "แอ๊ด คาราบาว" พร้อมกับรูปภาพล้อเลียนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พร้อมโจมตีด้วยข้อความที่กล่าวหาการคอรัปชั่นของครอบครัวชินวัตรร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสุดท้ายนายยืนยง โอภากุล ได้มายืนยันผ่านสื่อว่าเขาไม่เคยร้องเพลงประกอบวิดีโอคลิปอันนี้ แต่เป็นกลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้ตัดต่อเสียงร้องของเขาในอัลบั้ม "ซึม เศร้า เหงา แฮ้งค์" ในปี 2548 ไปไว้ในวิดีโอคลิปอันนี้เพื่อโจมตีรัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ขณะนั้น

การต่อสู้ของเหลืองแดงนั้นคือการประชันแบบหนึ่งที่มีรูปแบบในการโต้ตอบกันอย่างหลากหลายและเข้มข้นซึ่งสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยในการแข่งขันบนเกมการเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือ การประชันเหลืองแดงนั้นมีพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการประชันในดนตรีไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความอิสระที่ไม่ให้มีกรรมการตัดสิน แต่ให้คนดูหรือประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยเสียงเชียร์หรือการตบมือโดยบางครั้งอาจรวมถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยมยุทธวิธีในการบรรเลงและการเกณฑ์คนดูมาช่วยเชียร์เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ในมุมนี้มองได้ว่าการประชันดนตรีและประชันเหลืองแดงนั้นแทบไม่ต่างกันในภาพของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย การประชันทั้งสองอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ การต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสียงเชียร์หรือเสียงโหวตจากประชาชนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากมวลชนมากที่สุดโดยเล่นแบบไม่ต้องมีกรรมการและไม่มีกติกาตายตัว จากที่กล่าวมาเราอาจมองการประชันการเมืองเหลืองแดงว่ามีความคล้ายกันในเชิงพื้นฐานทางวัฒนธรรมกับการประชันในดนตรี แต่สิ่งที่ทำให้การประชันบนเกมการเมืองต่างกันออกไป คือตัวแปรของความซับซ้อน เพราะสุดท้ายการประชันเหลืองแดง ต้องพ่ายแพ้ให้กับทหารที่อ้างว่าเป็นกรรมการเข้ามาหยุดและเข้ามาเล่นเองในเกมแบบไม่ต้องมีกติกาโดยเหตุผลว่าเพื่อมวลมหาประชาชน น่าคิดว่าการประชันทางการเมืองที่สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่ออุดมการณ์ เพื่อการปราบคอรัปชั่นหรือแม้แต่เสรีภาพของประชาชน สุดท้ายก็มาจบที่มือของผู้มีอำนาจนอกระบบที่เหนือกว่าเกมการเมือง สิ่งนี้ทำให้เราอาจตั้งคำถามกับตัวเราว่าจริงหรือที่เราต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม?

ดัดแปลงจาก ดุษฎีนิพนธ์ 'Prachan: Music, Competition, and Conceptual Fighting in Thai Culture', PhD thesis, SOAS, University of London (2017) โดย กฤษฏิ์ เลกะกุล