85 ปีปฏิวัติสยาม: การตีความ “ประชาธิปไตยไทย” ณ เวทีศิลปะโลก

คำบรรยายวิดีโอ, อริญชย์ที่ด็อกคูเมนตา

ครบรอบ 85 ปี ปฏิวัติสยามและการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตย' อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยหนึ่งเดียวนำผลงานแสดงที่ "ด็อกคิวเมนตา"(documenta) นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 14 ที่กรุงเอเธนส์ในกรีซ และเมืองคาสเซิลในเยอรมนี เปิดโอกาสให้สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสื่อสารกับผู้ชม

ผลงานอย่างภาพวาดสีน้ำมันเหตุการณ์ประท้วง 14 ตุลาคม 2516 และประติมากรรมทองเหลืองที่ถอดแบบมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากชุดผลงาน "And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.)" และ "246247596248914102516... And then there were none" ของอริญชย์เป็นการเปิดพื้นที่ให้วัตถุและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กลับมาอยู่ในบริบทร่วมสมัยอีกครั้ง

ประติมากรรม

ที่มาของภาพ, Mathias Voelzke

คำบรรยายภาพ, ประติมากรรมทองเหลืองจากผลงานชุด "246247596248914102516... And then there were none"

"ทั้งนี้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับตัวบริบท ว่าบริบทต้องการหาความหมายของมันมากน้อยแค่ไหน" นี่อาจเป็นคำอธิบายที่ฟังดูน่างุนงงที่สุดของอริญชย์ ตลอดการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยต่อเนื่องเป็นเวลาร่วมเดือน ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านทางโทรศัพท์ และพูดคุยกันที่เมืองคาสเซิลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจจะเป็นคำอธิบายที่ชัดแจ้งที่สุดจากศิลปินวัย 42 ปีผู้นี้เช่นกัน

'บริบท' ที่ศิลปินพูดถึงอาจเป็นความจริงที่ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว 85 ปี แต่ผ่านการรัฐประหาร 13 ครั้งและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเสียส่วนใหญ่

หรือความจริงที่ว่างานศิลปะของอริญชย์ถอดแบบจากสัญลักษณ์แทนความเป็นประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นเกือบ 80 ปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ภายใต้รัฐบาลทหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วิดีโอ

ที่มาของภาพ, Arin Rungjang

คำบรรยายภาพ, ภาพนิ่งจากงานวิดีโอจากชุดผลงาน "246247596248914102516... And then there were none"

พิพิธภัณฑ์ 100 วัน

ด็อกคิวเมนตา จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2498 ที่เมืองคาสเซิลในเยอรมนี โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเยอรมนีที่จะก้าวทันความเคลื่อนไหวของโลกศิลปะสมัยใหม่หลังจากเพิ่งผ่านพ้นยุคมืดของลัทธินาซี นิทรรศการนี้ ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปีนี้และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "พิพิธภัณฑ์ 100 วัน" ตามระยะเวลาที่จัดแสดงแต่ละครั้ง ผลงานที่นำมาแสดงเป็นของศิลปินแถวหน้าของโลกในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ พาโบล ปิกัสโซ จิตกรชาวสเปน หรือ วาซาลี แคนดินสกี จิตกรชาวรัสเซีย ไล่มาจนถึงยุคร่วมสมัยที่นิยามของ"ศิลปะ" ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ในงานด็อกคิวเมนตาครั้งที่ 7 เมื่อปี 2525 งานศิลปะของ โจเซฟ บอยส์ ศิลปินชาวเยอรมัน คือการปลูกต้นโอ๊ค 7,000 ต้นทั่วเมืองคาสเซิล ซึ่งต้นโอ๊คเหล่านั้นยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน นั่นคือศิลปะ ในงานด็อกคิวเมนตาครั้งที่ 12 เมื่อปี 2555 ศิลปินชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย พาคนจีน 1,001 คนไปร่วม และให้พวกเขาเดินเที่ยวไปมาในเมืองคาสเซิลได้ตามใจชอบ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามเดินทางออกจากเมือง โดย อ้าย เว่ยเว่ย เรียกสิ่งนี้ว่า 'ศิลปะจัดวาง' ของเขา

ศิลปินไทยที่เคยเข้าร่วมด็อกคิวเมนตาในครั้งผ่าน ๆ มาได้แก่ สาครินทร์ เครืออ่อน, ปรัชญา พิณทอง, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ชัย ศิริ

อริญชย์ รุ่งแจ้ง จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากผลงานที่ชื่อ "Golden Teardrop" ประติมากรรมรูปทองหยอดขนาดใหญ่ซึ่งเข้าร่วม "เวนิส เบียนนาเล่" อีกหนึ่งนิทรรศการศิลปะที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อปี 2556

อริญชย์

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, อริญชย์ รุ่งแจ้ง

"พรุ่งนี้เราจะเป็นแบบประเทศไทย" VS "เรียนรู้จากเอเธนส์"

ด้วยงบ 37 ล้านยูโร หรือราว 1,400 ล้านบาท ด็อกคิวเมนตาครั้งที่ 14 นี้มีศิลปินเข้าร่วมกว่า 160 คน ด้วยชื่อแนวคิดงานว่า "เรียนรู้จากเอเธนส์" (Learning from Athens) จึงเป็นครั้งแรกที่นิทรรศการไม่ได้จัดขึ้นที่เมืองคาสเซิลเมื่อเดือนที่แล้วเพียงที่เดียว แต่ได้เริ่มเปิดนิทรรศการที่กรุงเอเธนส์ ไปก่อนหน้านั้น ในเดือนเมษายน

ภายใต้การนำทีมของอดัม ชูมชิค ภัณฑารักษ์ชาวโปแลนด์ แนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ชักชวนให้ศิลปินที่เข้าร่วมมองความสัมพันธ์และบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสองเมือง เป็นแนวและแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ

อาจจะเป็น "เอเธนส์เรียนรู้จากไทย" เสียมากกว่า สำหรับกรณีของอริญชย์นั้น วีธีการทำงานของเขาไม่ใช่การสร้างงานขึ้นมาใหม่ แต่อาศัยการค้นคว้าหาข้อมูล มาสร้างงานศิลปะจากเนื้อหาหรือวัตถุจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง หลังจากได้รับการเชื้อเชิญให้เขาร่วมแสดงงาน เขาเดินทางไปเอเธนส์และค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยและประเทศกรีซ ที่พิพิธภัณฑ์การต่อต้านเผด็จการเพื่อประชาธิปไตย (Museum of Anti-dictatorial and Democratic Resistance)

รูป

ที่มาของภาพ, Arin Rungjang

คำบรรยายภาพ, "พรุ่งนี้เราจะเป็นแบบประเทศไทย" พาดหัวหนังสือพิมพ์กรีกในปี 1973 กลายเป็นภาพวาดสีน้ำมันในผลงานชุด "And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.)"

"ตอนไปพิพิธภัณฑ์นี้ คนที่นำชมเขาถามเราว่าเรามาจากไหน เราบอกว่าเรามาจากไทย เขาก็เข้ามากอด แล้วบอกว่า คุณรู้ไหม ประเทศไทยเนี่ยเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เราถึงได้ทำการเดินประท้วง หลังจากนั้นเขาก็พาเราไปดูหนังสือพิมพ์ของกรีซจากสมัยนั้นที่พาดหัวว่า "พรุ่งนี้เราจะเป็นแบบประเทศไทย"..." อริญชย์ กล่าว

การประท้วงครั้งนั้นคือการประท้วงวิทยาลัยเทคนิคเอเธนส์ (The Athens Polytechnic uprising) ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารของกรีซ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2516 หลังเหตุการณ์ประท้วง 14 ตุลาฯ ในปีเดียวกัน

หน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวถูกนำมาแสดงในรูปภาพสีน้ำมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดผลงานที่ชื่อ "And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.)" ซึ่งจัดแสดงอยุ่ที่พิพิธภัณฑ์เบนากิ ที่กรุงเอเธนส์ นอกภาพวาดจากหนังสือพิมพ์ที่รายงานเหตุการณ์ประท้วงครั้งนั้นที่เอเธนส์แล้ว อริญชย์ยังวาดภาพสีน้ำมันจากเหตุการณ์การประท้วง 14 ตุลาฯ ที่ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยแสดงควบคู่กันไปอีกด้วย

อริญชย์กล่าวว่า การสร้างภาพแสดงแทนอีกครั้ง ผ่านกระบวนการศิลปะ โดยใช้องค์กระกอบและวัตถุดิบที่ต่างไปทำให้เรามองภาพบนหนังสือพิมพ์ด้วยมุมมองที่แตกต่างไป

"ผมก็ไม่ได้พยายามจะแสดงทรรศนะหรือความคิดทางการเมือง แต่องค์ประกอบของภาพในงาน ความคู่ขนานของภาพและเหตุการณ์ มันก็ทำให้เราคิดได้ถึงว่าในปัจจุบันเนี่ย สิ่งที่มันเกิดขึ้นในตอนนั้นและผลลัพธ์ที่มันเกิดขึ้นในตอนนี้มันมีความแตกต่างกันหรือคล้ายคลึงกันยังไง"

ชื่อชุดผลงาน "And then there were none" ที่อริญชย์ว่า อาจเป็นการรำพึงรำพันถึงการกลับตาลปัตรของประวัติศาสตร์ จากที่ "เอเธนส์เรียนรู้จากประเทศไทย" กลับไปสู่การ "เรียนรู้จากเอเธนส์" ตามชื่อนิทรรศการอีกครั้ง จากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้กรีซในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 'แต่แล้ว[หลายทศวรรษผ่านไป] ก็ไม่เหลืออะไร'

รูป

ที่มาของภาพ, Arin Rungjang

คำบรรยายภาพ, ภาพวาดสีน้ำมันจากชุดผลงาน "And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.)"

อีกส่วนหนึ่งของชุดงานที่เอเธนส์คือ งานวิดีโอที่เชื้อเชิญคนที่อยู่ในเหตุการณ์ประท้วงทั้งสองเหตุการณ์มาเล่าเรื่องราวของตัวเอง โดยคนไทยที่เข้าร่วมคือหมอลำกลอนที่เคยถูกว่าจ้างให้ทำการแสดงให้กับทั้งฝั่งคอมมิวนิสต์และฝั่งรัฐบาลในยุค 70 ส่วนชาวกรีกคือผู้นำชมในพิพิธภัณฑ์การต่อต้านเผด็จการเพื่อประชาธิปไตยในเอเธนส์ที่ทำให้อริญชย์ได้เรียนรู้ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์นี้นั่นเอง

เช่นเดียวกับการแสดงภาพเหตุการณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งผ่านงานศิลปะ อริญชย์กล่าวว่า เรื่องราวแบบมุขปาฐะหรือการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาอาจจะมีความ 'บิดเบือน' หรือ 'คลาดเคลื่อน' แต่มันก็เผยให้เห็นถึง 'ความเป็นมนุษย์' แบบที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกอย่างตรงไปตรงมาทำไม่ได้

ทูตไทยคือชื่อสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์

ในสารคดี "Inside Hitler's Reich Chancellery" (ภายในทำเนียบจักรวรรดิไรช์ของฮิตเลอร์) โดย เยอร์เกน อาส, ดาเนียล อาส และ แคสติน เมาเออร์แบกเกอร์ ที่ฉายทางช่อง History ปรากฏหลักฐานว่าลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเข้าเยี่ยมของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก่อนเขาจะปลิดชีวิตตัวเองในหลุมหลบภัยใต้อาคารทำเนียบจักรวรรดิไรช์ เป็นของ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ หรือ วัน ชูถิ่น หนึ่งในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิไรช์ที่สาม

สมุดเยี่ยม

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อริญชย์ถอดแบบ หนังสือบันทึกที่ชื่อ "225 วัน ในคุกรัสเซีย" ของพระประศาสน์พิทยายุทธ และสมุดเข้าเยี่ยมฮิตเลอร์ที่มีชื่อ พระประศาสน์พิทยายุทธปรากฏลายเซ็นสุดท้าย

นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างชุดผลงานที่ชื่อ "246247596248914102516... And then there were none" จัดแสดงที่ Neue Neue Galerie ตึกไปรษณีย์เก่าที่ถูกปรับมาเป็นมาเป็นหนึ่งในที่จัดแสดงงานศิลปะหลักที่เมืองคาสเซิล ด้วยบทบาทสำคัญของพระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งเป็นทหารบกชั้นผู้ใหญ่ผู้เข้าคุมตัวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังบางขุนพรหม ในช่วงปฏิวัติสยาม อริญชย์จึงเลือกถอดแบบประติมากรรมนูนต่ำของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้านที่แสดงภาพเหล่าทหารที่เข้าร่วมก่อการปฏิวัติสยาม

"ความสัมพันธ์ที่เราเห็นจากหลักฐานชิ้นนี้ มันทำให้เราเห็นว่าความเชื่อแบบชาตินิยมมันมีส่วนที่จะมาสนับสนุนว่าทำไมรัฐบาลไทยถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำรัฐบาลเยอรมนีหรือแม้กระทั่งรัฐบาลอิตาลีในสมัยนั้น ประติมากรรมนี้ทำให้เกิดความเข้าใจอันใหม่ว่า ตอนที่เขาเปลี่ยนผ่านการปกครองนั้นน่ะ มันเปลี่ยนที่จะเข้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและในขณะเดียวกันมันก็มีความคิดแบบชาตินิยมเข้ามา ...ถ้าจะบอกว่าประเทศไทยในยุคนั้นมีวิธีการคิดสร้างชาติแบบชาตินิยมที่เลียนแบบเยอรมนี หรือว่าอิตาลี หรือว่าญี่ปุ่น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้"

ลักษณะร่วมที่เด่นชัดระหว่าง การตอบสัมภาษณ์ของอริญชย์ และตัวงานประติมากรรมของเขาเอง ก็คือแนวโน้มที่จะ 'นิ่งเงียบ' และยกภาระการตีความและหาความหมายให้ผู้สัมภาษณ์และผู้ชมเอง เมื่อถามว่างานศิลปะของเขายืนอยู่ฝ่ายใด ฝ่ายคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ลิดรอนความเป็นประชาธิปไตย อริญชย์กล่าวว่าเขาบอกไม่ได้ เขาระบุว่ามันอาจจะกลายเป็นแค่วัตถุทางศิลปะก็ได้ หรือมันอาจจะเป็นตัวแทนของการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่เคยสมบูรณ์เลยก็เป็นได้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูอาจนึกถึงและอดเทียบเคียงไม่ได้คือ ทหารที่เป็นตัวละครในสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยจากอดีตชิ้นนี้ กับบทบาททหารในบริบทปัจจุบันในการลิดรอนความเป็นประชาธิปไตยในประเทศชาติ

ภาพวาด

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ภาพวาดพระประศาสน์พิทยายุทธ

"อาจจะมองไม่ชัดถ้ามันอยู่ในพื้นที่ศิลปะที่เยอรมนี แต่ถ้ามันเคลื่อนย้าย มันก็จะทำให้มีความหมายอีกแบบหนึ่ง ถ้ามันเข้าไปอยู่ในพื้นที่มันมีความต้องการที่จะหาความหมายมากกว่า อย่างเช่นถ้ามันกลับไปที่เมืองไทย มันก็จะทำหน้าที่ของมันมากกว่า"

นอกจากนี้ อริญชย์ยังได้วาดภาพพระประศาสน์พิทยายุทธ คู่กับภรรยา คือ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) และถอดแบบหน้าสมุดเข้าเยี่ยมของฮิตเลอร์ และหนังสือบันทึกที่ชื่อ "225 วัน ในคุกรัสเซีย" ของพระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของภรรยานางประศาสน์พิทยายุทธ เมื่อ พ.ศ.2491 มาจัดวางแสดงด้วย

บันทึกดังกล่าวของพระประศาสน์พิทยายุธกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานวิดีโอที่ยาวราว 40 นาที ซึ่งเป็นส่วนประกอบสุดท้ายของชุดผลงานที่ซับซ้อนและสวยงามที่สุดของงานอริญชย์ที่ด็อกคิวเมนตา

ในช่วงแรก ในขณะที่วิดีโอพาไปดูเบื้องหลังของการถอดแบบประติมากรรมด้วยเทคนิคสามมิติจากอนุสาวรีย์ กลับมีเสียงของอริญชย์ที่เล่าเรื่องชีวิตและประวัติครอบครัวตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพ่อเขาที่โดนคนเยอรมันที่แม่อริญชย์เชื่อว่าเป็นลัทธินีโอนาซีรุมซ้อมและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน ไปจนถึงเรื่องของทวดของอริญชย์ หลวงสมัครศัลยุธ ซึ่งเป็นหนึ่งในกบฏบวรเดช ที่พยายามจะยึดอำนาจคืน หนึ่งปีให้หลังจากปฏิวัติสยามแต่ก็โดนฝ่ายรัฐบาลปราบปรามในที่สุด

ในช่วงหลังของวิดีโอ ในขณะที่ผู้ชมฟังเสียงบรรยายที่อ่านจากบันทึกของพระประศาสน์พิทยายุทธที่เล่าถึงช่วงที่เขาได้พบเจออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไปจนถึงความยากลำบากของการถูกจองจำ 225 วันในคุกรัสเซียหลังกรุงเบอร์ลินถูกกองทัพบุกเข้ายึดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพในวิดีโอเป็นนักเต้นชายหญิงสองคนที่เห็นชัดได้ว่าเคลื่อนไหวตามการตีความต่อเนื้อหาจากบันทึกที่ผู้ชมกำลังได้ยิน สถานที่ที่พวกเขากำลังเต้นอยู่นั้นไม่ใช่ที่ไหน แต่เป็นลานจอดรถซึ่งคือจุดเดียวกันกับที่อาคารทำเนียบจักรวรรดิไรช์ของฮิตเลอร์เคยตั้งอยู่นั่นเอง

การเต้น

ที่มาของภาพ, Mathias Voelzke

คำบรรยายภาพ, งานวิดีโอ ส่วนหนึ่งของผลงานชุด "246247596248914102516... And then there were none"

"ผมพยายามหาความเป็นได้ในการสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ที่มันไม่จำเป็นที่ต้องยึดติดกับโครงสร้างประวัติศาสตร์ที่ถูกพัฒนามาก่อนหน้านั้น การใช้ประวัติศาสตร์ส่วนตัว อะไรที่เป็นเรื่องเล่า นานๆ ไป มันเป็นตำนาน อยู่ในพื้นที่ของจินตนาการมากกว่าพื้นที่ของความจริง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสนใจ"

วิดีโอชิ้นนี้เป็นส่วนที่ซับซ้อนที่สุดของผลงานอริญชย์ด้วยความย้อนแย้งของในตัวเนื้อหา การปนเประหว่างเรื่องเล่าส่วนตัวกับประวัติศาสตร์ประเทศ ภาพที่เราเห็นคือการเบื้องหลังการถอดแบบและหล่อประติมากรรมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่อริญชย์กำลังเล่าเรื่องทวดของตัวเองที่ล้มเหลวจากการพยายามยึดอำนาจคืนจากกลุ่มคนที่นำมาซึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บันทึกของพระประศาสน์พิทยายุทธเล่าถึงความโชติช่วงของภายใต้การนำของฮิตเลอร์ถูกวางคู่ไปกับการตายของพ่ออริญชย์เองที่เกิดจากความคิดหัวรุนแรงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องการฟื้นฟูลัทธินาซี

ด้วยงานวิดีโอชิ้นนี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกราวกับว่าอริญชย์ต้องการจะบอกผ่านงานศิลปะทั้งหมดของเขาเพียงว่า ทุกอย่างมันไม่ง่ายเช่นนั้น ความเป็นจริงคือการผสมปนเปอย่างไร้ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ไม่มีกระแสความคิดหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชุดใดที่จะจะถูกต้องและชอบธรรมอย่างเบ็ดเสร็จ

จากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติสยาม ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2516 จากส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เมื่อปี 2535 สู่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ไปจนถึงการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อช่วงปี 2556-2557

และงานประติมากรรมชิ้นนี้ของอริญชย์ก็คล้ายจะย้ำว่าการช่วงชิงความชอบธรรมของแต่กลุ่มแต่ละฝ่ายอย่างก็จะดำเนินเรื่อยไปอย่างไม่มีวันจบ

การผนวกรวมเนื้อหาส่วนตัวเข้าไปในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็สะท้อนให้เห็นถึงมิติอันซับซ้อนของสังคมใหม่ไทยที่นับวันความคิดแย้งทางการเมืองยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

วิดีโอ

ที่มาของภาพ, Arin Rungjang

คำบรรยายภาพ, ภาพนิ่งจากงานวิดีโอที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดผลงาน "246247596248914102516... And then there were none"

ในช่วงท้ายของวิดีโอ อริญชย์ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและคนอื่นๆ ในขณะที่ "เวลาที่เคลื่อนที่กำกับไว้ทุกขณะ" และจบด้วยการรำพึงถึงแม่ของเขา

"…..แม่ผมป่วยหนัก อีกไม่นานแม่ต้องจากไป ผมยังจำได้ถึงช่วงเวลาตอนเด็ก แม่ฉีดพรมน้ำหอมลงบนตัว นั่งบนเก้าอี้หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง ขณะเดียวกันแม่ก็เล่าเรื่องพ่อให้ฟัง ผมนั่งบนพื้น มองไปที่แม่ แล้วนึกในใจว่า "แม่ผมสวยเหลือเกิน"..."

จากบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ ข้ามไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน กลับมาสู่เรื่องส่วนตัวที่สุดของเขา จริงอยู่ที่เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมการที่แม่อริญชย์กำลังจะจากไป และความสวยของแม่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งของแม่ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการผสมรวมของประวัติศาสตร์อันยุ่งเหยิงในวิดีโอชิ้นนี้

แต่บทรำถึงถึงแม่อริญชย์ส่วนนี้ก็อาจจะเป็นส่วนประกอบที่สวยงามที่สุดของงานชุดนี้ของเขา

ขึ้นอยู่กับบริบทของคนดูแต่ละคนว่าต้องการหาความหมายของมันมากน้อยเพียงใด

เรื่องและวิดีโอโดย ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย