เหนี่ยวหัวใจสุดไกปีน: ปฏิบัติการจิตวิทยาล่าสุดของ คสช.?

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ภาพถ่ายนักแสดง

ที่มาของภาพ, Bangkok Broadcasting and Television

คำบรรยายภาพ,

ภาพนักแสดงในซีรีส์ภารกิจรัก ซึ่งนักแสดงนำชายอยู่ในบทบาทของทหารอากาศ ทหารเรือ ทหารบก และตำรวจ

นักวิชาการด้านสื่อชี้ การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสี่เหล่าทัพต่อการผลิตละครซีรีส์ "ภารกิจรัก" เป็นความพยายามล่าสุดของ คสช. เพื่อเอาชนะใจผู้ชมในยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ด้านนักประวัติศาสตร์มองว่า ความพยายามนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าทหารในโลกความจริงและจินตนาการต่างกัน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกโรงเชียร์ประชาชนให้มานั่งหน้าจอโทรทัศน์ดูละคร "เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน" ภาคแรกของละครซีรีส์ "ภารกิจรัก" ทางช่อง 7 สี

"ก็ดูซิ" คือ คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อคำถามสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ (6 ก.ค.) ว่าจะสนับสนุนให้ประชาชนดูละครเรื่องนี้หรือไม่

นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี ที่ นายกชวนคนไทยดูละคร หลัง มี.ค. ปีที่แล้วที่เขาเคยชักชวนให้คนไทยดูละครซีรีส์เกาหลีเรื่อง "Descendants of the Sun" เนื่องจากมีเนื้อหาส่งเสริมความรักชาติ

ต่อมาละครซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 โดยใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ" เพราะบทซีรีส์ที่ดีตามแบบซีรีส์เกาหลี ประกอบกับนักแสดงที่มีชื่อเสียง จึงไม่น่าแปลกใจที่ ซีรีส์เรื่องนี้สร้างเรตติ้งสูงมากเช่นกันในเวลาที่ฉายแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเสาร์และอาทิตย์ก็ตาม ด้วยเรตติ้งสูงสุด 5.4 และเรตติ้งเฉลี่ย 4.4

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, KBS

คำบรรยายภาพ,

ซีรีย์เรื่อง "Descendants of the Sun" ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่ชักชวนให้คนไทยดูละครเรื่องนี้เพราะมีเนื้อหาส่งเสริมความรักชาติ

จากแรงบันดาลใจวันนั้น ถึงวันนี้ ช่อง 7 พร้อมด้วยบริษัท พอดีคำ จำกัด ของนายธงชัย ประสงค์สันติ ผู้กำกับและผู้จัดละครรายใหญ่ประจำช่อง 7 ได้ตัดสินใจสร้างละครซีรีส์ในลักษณะเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 4 ตอนหลักๆ ซึ่งออกอากาศตอนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีด้วยเรตติ้งที่สูงระดับ 6.5

ทุกเหล่าทัพล้วนสนับสนุน

ละครเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจัดหายุทโธปกรณ์ในการถ่ายทำ ให้ใช้สถานที่ถ่ายทำ และกำลังพลร่วมเข้าฉากเพื่อความสมจริง และเมื่อมีการจัดการแถลงข่าวเปิดตัวละครเรื่องนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากจะมีผู้บริหารและผู้จัดละครและเหล่าดาราที่ร่วมแสดงในซีรีส์เรื่องนี้แล้ว ยังมีตัวแทนจากกองทัพมาสมทบด้วย เช่น พล.ท. ธรณิศวร์ โรจนสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานประสานภารกิจทางทหาร กับกระทรวงการต่างประเทศ พ.อ. วันชนะ สวัสดี รองผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ภาพบรรยากาศในวันแถลงข่าวเปิดตัวซีรีส์ภารกิจรัก ซึ่งมีผู้แทนจากเหล่าทัพมาร่วมงานกันพร้อมหน้า

ที่มาของภาพ, Bangkok Broadcasting and Television

คำบรรยายภาพ,

ภาพบรรยากาศในวันแถลงข่าวเปิดตัวซีรีส์ภารกิจรัก ซึ่งมีผู้แทนจาก 4 เหล่าทัพมาร่วมงานกันพร้อมหน้า

"กระทรวงกลาโหมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้การสนับสนุนการผลิตซีรีส์ ภารกิจรัก เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นละครน้ำดีมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ส่งเสริมแนวคิดเรื่องความรักชาติ หวงแหนแผ่นดินเกิด และมีแง่มุมที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตการทำงาน และความเสียสละของเหล่าทหาร ตำรวจ ผู้ปฎิบัติภารกิจเพื่อชาติ ให้ประชาชนในวงกว้างได้รับรู้ ผ่านนักแสดงที่มีชื่อเสียงของช่อง" พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในวัน 12 มิ.ย.

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ในวันนี้(6 ก.ค.) ระบุว่า ทางช่อง 7 และผู้จัดได้ทำเรื่องเสนอมา ซึ่งทางรัฐบาลและคสช. พิจารณาบทแล้วมองว่าเป็นภาพบวกต่อ คสช. จึงให้การสนับสนุนในรูปแบบดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นเงินทุนสนับสนุน

3 ปี ของการยัดเยียด "ไม่มีประสิทธิภาพ"

ผศ. ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำสาขาวิทยุโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า การใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในการสื่อสารนโยบายชี้แจงประชาชนใน "เดินหน้าประเทศไทย" ทุกวัน (ยกเว้นวันศุกร์) หลังเวลาเคารพธงชาติ และรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ในวันศุกร์เวลา 20.15 น. ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนมีทางเลือกในการรับสื่อนอกจากทีวี

คนไม่ดูรายการนายกฯ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

รัฐบาล คสช. ใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯชี้แจงนโยบายต่างๆ ผ่าน 2 รายการหลัก "เดินหน้าประเทศไทย"และ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"

"ทีมงานด้านการสื่อสารของรัฐบาลน่าจะรับทราบแล้วว่าการสื่อสารแบบเดิมๆ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหมือนเคย จึงหันมาเสนอให้เอกชนผลิตละครที่ส่งเสริมการรักชาติ โดยเฉพาะเมื่อปีที่ผ่านมาในช่วงที่ซี่รีส์เกาหลีเรื่อง ชีวิตเพื่อชาติรักนี้เพื่อเธอเป็นที่นิยม นายกฯ เคยเปรยว่าอยากจะสนับสนุนผู้จัดคนไทยในการสร้างละครแนวรักชาติ" ผศ. ดร. วิไลวรรณกล่าว

นักวิชาการผู้นี้อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้ภาพยนตร์และละคร เป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทหาร เนื่องจาก ละครตัวหลัก 4 คน ใน 4 ตอน มาจาก 4 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของสังคมไทย ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ดูแลความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ และในการทำรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 4 เหล่าทัพ ก็ผนึกกำลังกัน "คืนความสุข" ให้กับคนไทย

"ตอบโจทย์ในทุกมิติ"

ผศ.ดร.วิไลวรรณ วิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นการตอบโจทย์ในทุกมิติ เนื่องจากคนไทยนิยมชื่นชอบการชมละครโทรทัศน์ ขณะที่รูปแบบการนำเสนอแบบซีรีส์จะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ด้วย ตอบโจทย์ความต้องการของคสช. ที่ต้องการส่งสารสำคัญ (key message) ที่ว่า "เสียสละเพื่อชาติ ผ่านตัวละครในสี่ตอน"

นอกจากนี้ยังเลือกช่องทางการออกอากาศที่ดี เนื่องจากช่อง 7 เพราะช่องที่มีเรตติ้งสูงที่สุด เข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด และการเลือกวันและเวลาออกอากาศเป็นเวลาไพรม์ไทม์ของวันศุกร์, วันเสาร์และวันอาทิตย์ก็เป็นแต้มต่อ

แฟนคลับเวียร์

ที่มาของภาพ, Bangkok Broadcasting and Televisoin

คำบรรยายภาพ,

บรรดาแฟนคลับของ 'เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ' (คนกลาง)ให้กำลังนักแสดงนำในเรื่อง เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน พร้อมกันสวมชุมสีเขียวเช่นเดียวกันกับชุดทหาร

สิ่งที่สำคัญคือ การเข้าใจผู้ชมรุ่นใหม่ ที่ใช้สื่อหลากหลายช่องทาง นอกจากจะสามารถดูสดทางโทรทัศน์แล้วยังสามารถดูย้อนหลังได้อีกทาง เรียกได้ว่าเป็นการผลิตซ้ำ และทำให้เกิดกระแสในโซเชียล และเกิดไวรัลมาร์เก็ตติ้ง กดไลค์ กดแชร์ มากมาย

การเลือกตัวละครที่เป็นที่นิยมและมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสการพูดถึงในเชิงบวกมากขึ้น

"ตัวละครที่เลือกมา ตอกย้ำภาพลักษณ์ 'หล่อเพื่อชาติ' ขณะที่ละครเรื่องนี้เป็นแบบโรเมนติก ดราม่าและแอคชั่น ซึ่งตรงกับจริตของคนดูอีกด้วย"

ทหารในละคร คนละเรื่องกับความจริง

ในความเห็นของนายชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ "นายใน สมัยรัชกาลที่ 6" กลับเห็นแย้ง โดยระบุว่า ความพยายามดังกล่าวของกองทัพและหน่วยงานที่สนับสนุนเพื่อให้เกิดละครเพื่อส่งเสริมภาพบวกของกองทัพ กลับเป็นความพยายามที่สูญเปล่า

นายชานนท์ ให้เหตุผลว่า สิ่งที่เห็นในละครเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องตอกย้ำว่า โลกแห่งจินตนาการ ที่ไม่มีทางบรรจบกับได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นทหารในโลกแห่งความเป็นจริง

"ในละคร พระเอกที่เป็นทหารอาจจะหล่อ แต่ในชีวิตจริงเป็นอย่างไร ก็เห็นกันอยู่ในข่าวทีวี" นายชานนท์ กล่าว

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์และผู้จัดละครไทยมักจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับความรักชาติและความรักระหว่างหนุ่มสาวมาทำเป็นละครหลายเรื่อง จากการรวบรวบของบีบีซีไทย พบว่า มีละครมากกว่า 13 เรื่องได้รับการออกอากาศในช่วงเวลา 60 กว่าปีของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย และบางเรื่องนำมากลับมาผลิตใหม่ (Remake) หลายครั้ง

หน้าที่ของสื่อบันเทิงสมัยใหม่

โดย กาญจนา แก้วเทพ ในหนังสือเรื่อง สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ

  • 1. หน้าที่ของการละเล่นในสังคม

  • 2. หน้าที่การครอบงำอุดมการณ์

  • 3. หน้าที่เป็นหลุมหลบภัยทางจิตใจ

  • 4. หน้าที่แบบสั่งสอนตามความเชื่อทางศาสนา

  • 5. หน้าที่สร้างยูโทเปียหรือโลกในอุดมคติ

  • 6. หน้าที่ทดแทนอารมณ์ที่ขาดหายไป

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

โดยละครที่ตัวพระเอกเป็นทหาร เช่น "เจ้าเวหา" (ออกอากาศทางช่องทรูโฟร์ยู) กัลปังหา (ทางช่อง 3) วนิดา (ช่อง 3) สาวน้อยประแป้ง (ช่อง 3) ชื่นชีวานาวี (ช่อง 3) ในละครชุด เทพบุตรจุฑาเทพ ตอน "คุณชายรณพีร์" (ช่อง3) กองพันหรรษา (ช่อง 7) นายร้อยสอยดาว (ช่อง7และ 5) กองร้อย 501 (ช่อง 7) มัสยา (ช่อง 7) ผยอง (ช่อง 7) คำมั่นสัญญา (ช่อง 7 และ ช่อง 3)

อย่างไรก็ตาม มีละครอีก 1 เรื่องที่ ถือว่ามีผู้ตั้งขอสังเกตว่ามีความเกี่ยวพันกับทหารและการปฏิวัติรัฐประหารอย่างมีนัยสำคัญ คือ ละครเรื่อง "ผู้กองยอดรัก" ซึ่งได้รับการนำมาสร้างทำเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง ในปี 2516 และ 2524 นอกจากนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึง 7 ครั้ง ในปี 2515, 2522, 2531, 2538, 2545, 2550 และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 ละครเรื่องนี้ได้รับการออกอากาศมาแล้วเกือบทุกช่องนับตั้งแต่ช่อง 4 บางขุนพรหม ช่อง 5 ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9

เว็บไซต์ประชาไท เคยเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการสร้างละครเรื่อง "ผู้กองยอดรัก"ว่า "ละครรักกุ๊กกิ๊กเกี่ยวกับทหารที่ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970" โดยจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบการก่อรัฐประหาร กับการนำละครเรื่องนี้กลับมาทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ในการทำรัฐประหารในปี 2549 ปีถัดมาก็มีการสร้างละครเรื่องนี้ และหลังรัฐประหาร 2557 ละครเรื่องนี้ก็ถูกนำกลับมาสร้างเป็นละครอีกครั้งในปี 2558 ทางช่อง 3 เวลาไพรมไทม์