10 ปี 18 ชิ้น แผน "ปฏิรูปตำรวจ" ที่อยู่แค่เอกสาร

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวอิสระ
ทหารถือปืนหน้าสัญลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบนโยบายในการปฏิรูป "วงการสีกากี" ให้กับ 36 กรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2560 ถือว่า การปฏิรูปตำรวจได้ฤกษ์ "นับหนึ่ง" เสียที หลังจาก คสช. ยึดอำนาจมา 3 ปีเศษ

โจทย์ 3 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบให้กรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงสร้างและภารกิจ 2.อำนาจในการสอบสวน 3. การแต่งตั้งโยกย้าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำหนดขั้นตอนการทำงานด้วย "สูตร 2-3-4" เพื่อให้ทันกรอบเวลาที่เหลืออยู่ตามรัฐธรรมนูญ คือ 2 เดือนแรก ให้อ่านงานวิจัยเก่าๆ ให้ครบ จากนั้นอีก 3 เดือนถัดมา ให้จัดทำเป็นร่างกฎหมาย และ 4 เดือนสุดท้าย คือให้รับฟังความเห็นประชาชน เพื่อแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง โดยการดำเนินการทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 1 เม.ย.2561 เว้นแต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องเสร็จก่อน คือภายในปี 2560

โจทย์ของนายกฯไม่ใช่คำถามใหม่ มีผู้ให้คำตอบไว้มากแล้ว เพราะเคยมีการจัดทำรายงาน ผลศึกษา หรือข้อเสนอแนะให้ "คำตอบ" เอาไว้แล้วอย่างน้อย 18 ชิ้น ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ฯลฯ ไปจนถึงภาคประชาชน สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือการผ่าตัดวงการสีกากีในยุคสีเขียวนำ จะใช้โมเดลใดเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ในเวลาเพียง 9 เดือน

ลองมาดูกันว่า รายงานในอดีตตอบคำถามของหัวหน้า คสช. ไว้อย่างไร

โครงสร้างตำรวจไทย

"ใหญ่" และ "รวมศูนย์"

  • 220,000 นาย กำลังพลรวม

  • >500 นาย เป็นระดับนายพล

  • 100,000 ล้านบาท งบประมาณปีล่าสุด

  • >3/4 คือเงินเดือนบุคลากร

GETTY IMAGES

โจทย์ข้อแรก: โครงสร้างและภารกิจของ สตช.

ผลศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจในอดีตแทบทั้งหมด เห็นควร "กระจายอำนาจ" ของ สตช. ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และควร "กระจายงาน" ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจ ไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจจราจร ฯลฯ

โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน ซึ่งจัดตั้งสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เสนอให้แยกกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกจาก สตช. และให้ทำสำนักงานในรูปแบบนิติบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน พร้อมเปลี่ยนตำแหน่ง ผบช.ภ. และ ผบช.น. ให้เป็น "อธิบดีตำรวจภาค" และ "อธิบดีตำรวจนครบาล"

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ก็เห็นว่า สตช. ควรกระจายอำนาจ "ตำรวจจะจัดระบบกำลังแบบกองทัพไม่ได้"

ทั้งนี้ หลายองค์กร อาทิ คปก. สปช. รวมไปถึงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ยังเสนอให้ตำรวจระดับจังหวัดไปอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ โดยมีโมเดล อาทิ ให้เริ่มทำจาก กทม.และหัวเมืองใหญ่ก่อน รวมถึงให้มี ผบช.กลุ่มจังหวัด 5-6 จังหวัด แทนการใช้ ผบช.ภ. เช่นปัจจุบัน

โดยทั้งหมดไม่ได้เสนอให้เปลี่ยแปลงโครงสร้าง สตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่สังกัดกระทรวงใด แต่ขึ้นตรงต่อนายกฯ มีเพียงคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ที่วิปสองฝ่าย คือ สนช. กับ สปท. จัดตั้งขึ้น มี พล.ต.อ.บุญเรือง ผลพานิชย์ เป็นประธาน ที่เสนอให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม สตช. เคยจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้างตัวเอง ย้อนศรกับข้อเสนอขององค์กรอื่น โดยให้ยกระดับขึ้นเป็น "กระทรวง" นอกจากนี้ ในยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจ ระยะ 20 ปี (ระหว่างปี 2560 - 2579) ที่ สตช. จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด เพียงแต่กำชับเรื่องการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่กันให้ชัดเจนเท่านั้น

ผบ.ตร.ลงพื้นที่

ที่มาของภาพ, Getty Images

โจทย์ข้อที่สอง: อำนาจในการสอบสวน

เรื่องนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรจะแยกผู้ที่ทำงานด้านการสอบสวนที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ออกจากผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ

โดยข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ของ พล.ต.อ.วสิษฐ ที่ให้จัดตั้ง "หน่วยงานสอบสวนกลาง" ได้ถูกนำไปอ้างอิงอยู่ตลอดในรายงานของหลายหน่วยงานซึ่งจัดทำภายหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ขณะที่ คปก. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ยังเสนอให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนเพื่อแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วย

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจ ระยะ 20 ปี ของ สตช. เสนอให้ปรับพนักงานสอบสวนเป็นตำแหน่งหลัก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2559 ปฏิรูปงานของพนักงานสอบสวนไปบางส่วน ให้สามารถเติบโตข้ามสายได้

เส้นทางองค์กรสีกากี จาก กรมเวียง ถึง สตช.

สมัยอยุธยาเริ่มมีกิจการตำรวจอยู่ภายใต้กรมเวียง ตามระบบปกครองแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)

2405

จัดตั้ง "กองกำลังตำรวจ" เป็นครั้งแรก แบ่งเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

  • 2458 จัดตั้ง "กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน" เมื่อ 13 ต.ค. ซึ่งต่อมาถือเป็นวันตำรวจแห่งชาติ

  • 2475 เปลี่ยนชื่อกรมตำรวจภูธรฯ เป็น "กรมตำรวจ"

  • 2541 มีการตราพระราชกฤษฏีกาโอนกิจการตำรวจจากกระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)" โดยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย และเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนแรก

  • 2547 มีการออก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการบริหารงานของ สตช. จากนั้นปี 2548 สตช. ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง กระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรม นำไปสู่แนวคิดในการปฏิรูปตำรวจ

GETTY IMAGES

โจทย์ข้อที่สาม: การแต่งตั้งโยกย้าย

ที่ผ่านมา คสช.ได้ออกประกาศและใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รวม 6 ครั้ง โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนองค์ประกอบของ "คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)" ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. และ "คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)" ที่มีอำนาจในการพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพันถึงนายพล ให้มีฝ่ายการเมืองเหลืออยู่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในอดีตดูจะมีแนวคิดที่หลากหลายกว่าสิ่งที่ คสช. ทำมา เช่น คปก. เสนอให้ลดวัฒนธรรมทหาร โดยยกเลิกระบบชั้นยศ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับ โดยจะต้องมีการสอบทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ

ตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์การประท้วงของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจพยายามควบคุมสถานการณ์การประท้วงของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553

แต่ข้อเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดมาจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. ที่มีนายวิรัช ชินวินิจกุล (ตำแหน่งปัจจุบัน องคมนตรี) เป็นประธาน ที่มีข้อเสนออาทิ

  • ในการแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นต้นไปให้ยึดหลักอาวุโสอย่างเคร่งครัด ส่วนระดับรองลงมาให้ยึด 70%
  • ให้มีกลไกการเพิ่มหรือลดระดับอาวุโสเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่
  • หากไปอยู่ดำรงตำแหน่งใดแล้วต้องอยู่อย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้เกิคดวามรู้สึกมั่นคง และป้องกันการวิ่งเต้น
  • ให้แบ่งเกรดกองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจออกเป็น "ชั้นหนึ่ง" และ "ชั้นสอง" ตามปริมาณและคุณภาพงาน โดยให้เริ่มโยกย้ายไปในชั้นสองก่อนมาถึงชั้นหนึ่ง
  • ให้โยกย้ายเพียงปีละ 1 ครั้ง จะไม่มีการโยกย้ายนอกฤดูเด็ดขาด ยกเว้นมีเหตุจำเป็น

แม้เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจะเป็นโจทย์ข้อสุดท้าย แต่แทบจะมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และเสมือนเป็นตัวชี้วัดว่าการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงไม่แปลกที่ พล.อ.บุญสร้างจะประกาศว่า "การซื้อขายตำแหน่งต้องหมดไป"

ตำรวจเข้าแถว

ที่มาของภาพ, Getty Images