ยกฟ้อง สมชาย-พัชรวาท-ชวลิต คดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 51

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย

ที่มาของภาพ, EPA

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 7 ต.ค.2551 ชี้ไม่ได้ทำผิดตามคำฟ้อง การชุมนุมปิดล้อมสภา ปลุกระดมมวลชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุอีกว่า การปิดล้อมรัฐสภาของผู้ชุมนุมที่มีการปลุกระดมเพื่อบุกเข้ามายังสภา ทำให้คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถออกมาได้ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในสภา โดยได้ทำตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ หรือ กรกฎ/48

ส่วนประเด็นการใช้แก๊สน้ำตา อันเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำเลยไม่อาจคาดเห็นได้ว่าแก๊สน้ำตาจะทำอันตรายต่อผู้ชุมนุม ไม่มีเจตนาให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตรายแก่ร่างกายและเสียชีวิต จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามคำฟ้อง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, จำเลยในคดีนี้ทั้ง 4 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา รวมทั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

คดีนี้ศาลฎีกาฯ รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา ม.157 กรณีสลายการชุมนุมของ พธม. เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าประชุมสภาได้ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 471 คน

สื่อหลายสำนักรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (2 ส.ค.) บริเวณเวณหน้ามีกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรค เดินทางมาให้กำลังใจนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รวมทั้งแกนนำ นปช. นอกจากนี้ยังกลุ่มผู้ชุมนุม พธม.ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ คนแรกที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ายึดพื้นที่ไว้ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

ที่มาที่ไป

นายสมชาย รับตำแหน่งนายกฯ คนที่ 26 ในเดือนกันยายน 2551 ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง การชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯ ขับไล่ "การสืบทอดอำนาจ" ของนายทักษิณ ผ่านพรรคพลังประชาชน ในขณะนั้น

การชุมนุมยกระดับสู่การปิดล้อมรัฐสภา สกัดกั้นไม่ให้นายสมชาย นำคณะรัฐมนตรี เข้าแถลงนโยบายต่อสภาฯ เพื่อทำให้ "พิธีกรรม" การเป็นรัฐบาลไม่สมบูรณ์ จนนำไปสู่การเข้าสลายชุมนุมของตำรวจในวันที่ 7 ต.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน

ผู้ตายคือใคร

รายแรก คือ "สารวัตรจ๊าบ" หรือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี นายตำรวจนอกราชการ อดีต สวป.เมือง บุรีรัมย์ ผู้เข้าร่วมชุมนุม หัวหน้าการ์ด พธม. เสียชีวิตในรถจี๊ปเชโรกีที่ถูกระเบิดบริเวณแยกขัตติยาณี หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ในงานพระราชเพลิงศพของสารวัตรจ๊าบ มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯเป็นประธาน และ บุคคลสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น มาร่วมงาน

ภาพข่าวเหตุสลายชุมนุม 7 ต.ค.2551

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

รายที่ 2 คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ "น้องโบว์" เสียชีวิตระหว่างการเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สรุปเหตุเสียชีวิตว่าเกิดจากระเบิดซีโฟร์

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า "ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ "น้องโบว์" 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงทอดผ้าไตร ก่อนเสด็จฯ กลับ ทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' ด้วยสีพระพักตร์ยิ้มแย้ม"

ย้อนเวลาหาคดี

คดีนี้ใช้เวลาเกือบ 9 ปี เริ่มตั้งแต่ ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูลความผิดจำเลยทั้ง 4 เมื่อปี 2552 และได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ทว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องในเดือนตุลาคม 2555 เพราะสำนวนฟ้องไม่สมบูรณ์

ม.ค. 2558 คดีสลายชุมนุม พธม. กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้ง เมื่อ ป.ป.ช.ได้ทำคำฟ้องรวบรวมสำนวนพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นฟ้อง 4 จำเลย ต่อศาลฎีกาฯ คำบรรยายฟ้องระบุว่า ทั้ง 4 คน เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมของประชาชนที่เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ได้ดำเนินการตามหลักสากล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ขวาสุด)

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่แสดงความเห็นกรณีน้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ขวาสุด) เป็น 1 ในจำเลย โดยบอกกับสื่อมวลชนว่า "เป็นคนละคนกัน"

ในสำนวนคำฟ้องของ ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค.2551 จำเลยทั้ง 4 ดำรงตำแหน่ง ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้เข้าประชุมสภาในวันที่ 7 ต.ค.

คำฟ้องบรรยายว่า นายสมชาย จำเลยที่ 1 เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ และเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ พร้อมคณะเข้ารับฟังนโยบายรัฐบาลต่อสถานการณ์ชุมนุม ก่อนที่นายสมชายจะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท "ดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้"

ย้อนกลับไปวันที่ 7 ต.ค.2551 พล.อ.ชวลิต ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ ควบคุมการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศลาออก แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองหลังการสลายชุมนุม

ขณะที่ พล.ต.อ. พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาแก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภารกิจดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมในวันที่ 7 ต.ค.2551

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาแก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภารกิจดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมในวันที่ 7 ต.ค.2551

ก่อนจะถึงห้วงสุดท้ายของคดี ในเดือน พ.ค.2559 จำเลย 3 คน (แต่ไม่ปรากฏชื่อ พล.อ.ชวลิต) ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ที่มีพล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ถอนฟ้องคดีนี้ อ้างอิงกรณีอัยการไม่ฟ้องคดีจน ป.ป.ช.ต้องยื่นฟ้องเอง และเทียบเคียงกับคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ ป.ป.ช.ยกคำร้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.มีมติ ไม่ถอนฟ้องคดี พธม. ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ

ในวันไต่สวนพยานนัดสุดท้าย 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสมชาย ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาล สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสมชายได้ขอความเป็นธรรมต่อศาล พร้อมระบุว่า "ระหว่างปฏิบัติงานได้สั่งห้ามใช้แก๊สน้ำตา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาควบคุมสถานการณ์อย่างละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย"