ศาลสั่งจำคุก พล.ท. มนัส อีก 20 ปี จากคดีฟอกเงินค้ามนุษย์ รวมคดีเก่าเพิ่มเป็น 47 ปี
- Author, ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์ & วัชชิรานนท์ ทองเทพ
- Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันในวันนี้ (15 พ.ค.) ว่า เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงินค้ามนุษย์โรฮิงญา หมายเลขดำ ฟย.16/2559 ที่ พนักงานอัยการ คดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชลชาสน์ ไชยมณี จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 54 คน เป็นจำเลย สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พวกจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง โดยในจำนวนจำเลยทั้งหมด มี พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นจำเลยที่ 46 รวมอยู่ด้วย โดยศาลมีคำสั่งจำคุก พล.ท.มนัส รวม 2 ข้อหาเป็นระยะเวลา 40 ปี แต่ให้จำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 (20) ส่วนจำเลยสำคัญอีกคนคือ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ "โกโต้ง" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูลจำเลยที่ 14 สั่งจำคุมรวม 10 ปี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ศาลอาญา ได้มีพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ได้สั่งจำคุก พล.ท.มนัส ไว้แล้ว 27 ปี เมื่อรวมโทษคดีฟอกเงินที่ได้จากการค้ามนุษย์ ครั้งล่าสุดนี้ คิดระยะเวลาจำคุกรวม 47 ปี ส่วนโกโต้ง จำคุกเพิ่มเป็น 85 ปี
เว็บไซต์มติชนรายงานว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2554 -2558 พวกจำเลยได้สมคบและตกลงกัน ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินจากการค้ามนุษย์โรฮิงญา โดยร่วมกันกระทำความผิดเปิดบัญชีธนาคารรับโอนเงิน ฝากเงิน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน และการกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิด หรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการฟอกเงิน รวมยอดเงินหมุนเวียนในการกระทำความผิด รวม 443,389,468 บาท ไปซื้อ ที่ดิน 27 แปลง ใน จ.สตูล รวม 7,709,308 บาท, ก่อสร้างโรงแรมมายด์เซเว่น ราคา 27 ล้านบาท, ซื้อรถยนต์ 4 คัน ราคา 14.1 ล้านบาท เรือเร็ว 1 ลำ ราคา 4.5 ล้านบาท และเรืออีก 1 ลำ ราคา 1.6 ล้านบาท เป็นต้น เหตุเกิดที่ จ.ระนอง จ.สงขลา จ.สตูล จ.กระบี่ เกี่ยวพันกัน พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
คดีก่อนหน้านี้
ในวันที่ 19 พ.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาให้ พล.ท. มนัส และนายปัจจุบัน มีความผิดในคดีค้ามนุษย์ชาวมุสลิมโรฮิงญา
ในขณะนั้นคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยศาลตัดสินให้มีความผิด 62 รายจากจำเลยทั้งหมด 103 ราย ในฐานความผิดต่างกัน อาทิ เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ, สมคบและร่วมกันค้ามนุษย์, นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร, รับและให้ที่พักคนต่างด้าว, ความผิดต่อเสรีภาพ, เรียกค่าไถ่ และทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี
พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ฐานมีส่วนในองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติและความผิดฐานค้ามนุษย์ 3 คดี และยังพบอีกว่าการมีรับโอนเงินจากเครือข่ายค้ามนุษย์ราว 13 ล้านบาท
เรื่องราวดังกล่าวสั่นสะเทือนไปทั้งกองทัพ จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาโวยสื่อเมื่อถูกถามเกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิในกองทัพพัวพันกับคดีนี้ บอกว่าทหารคนเดียวไม่ได้ทำให้กองทัพเจ๊ง
ผู้ต้องหาคนสำคัญอีกหนึ่งคนคือ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ "โกโต้ง" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 75 ปี จากความผิด 6 คดี ได้แก่ 1) มีส่วนร่วมกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2) ค้ามนุษย์และเด็ก 3 กระทง 3) ร่วมกัน 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์ 4) สมคบคิด 2 คนขึ้นไปเพื่อการค้ามนุษย์ 5) นำพาแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย และ 6) ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย
"ประยุทธ์" วอนอย่าเหมารวมทั้งกองทัพ
ระหว่างศาลตัดสินคดีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าในขณะนั้น ไม่ทราบว่าการตัดสินของศาลในเวลานั้นมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์แค่ไหน ส่วนกรณีของ พล.ท. มนัสเป็นเพียงแค่ทหารคนหนึ่งของกองทัพเท่านั้น
"อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ที่มาของภาพ, EPA
โดยในช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ค. ศาลพิจารณาแล้วพบว่าจำเลยกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบด้วย นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1 นายอ่าสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 2 และนายประสิทธิ์ เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 เป็นขบวนการจัดหาแรงงานในพื้นที่ กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต่อบุคคลอายุ 15-18 ปี และมีส่วนร่วมกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงมีคำตัดสินให้รับโทษ 2 เท่า
ต่อมาในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว ศาลยังได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์จำเลยอีกกลุ่มที่เป็นผู้ขนส่งแรงงานและเป็นผู้ดูแลเส้นทางโดยพยานหลักฐานโจทก์ พบความเชื่อมโยงระหว่างจำเลย ซึ่งมีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน แม้จำเลยบางคนจะต่อสู้อ้างว่ารับจ้างขนส่งสินค้าไม่ทราบว่ามีการขนส่งแรงงานโรฮิงญานั้น ก็เป็นข้ออ้างเลื่อนลอย เนื่องจากมีหลักฐานตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เมื่อจำเลยมีความเชื่อมโยงกัน ย่อมรับรู้ถึงเหตุการณ์
คดีประวัติศาสตร์ต่างชาติสนใจ
สำหรับบรรยากาศที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เต็มไปด้วยบุคคลที่สนใจในคดีทั้งจากญาติของจำเลยและผู้เสียหายเข้าร่วมฟังการพิจารณาจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนไทยทุกสำนัก รวมทั้งสื่อมวลชนต่างชาติต่างให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดี แต่ได้จัดบริเวณนั่งฟังผลที่ห้องอื่นแทน โดยมีการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดภาพและเสียงการอ่านคำพิพากษาคดี ผ่านกล้องวงจรปิด

ที่มาของภาพ, Getty Images
ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น เว็บไซต์มติชนรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามกว่า 60 นายดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบศาลอาญา รัชดาภิเษก โดยเน้นการตรวจสอบหาอาวุธหรือวัตถุต้องสงสัย เพื่อดูแลความเรียบร้อย
สำหรับคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 เมื่อทางการไทยเข้าทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ หลังจากขุดค้นพบร่างชาวโรฮิงญาจำนวนหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จังหวัดสงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังชาวเมียนมาและบังกลาเทศ ก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในขณะนั้นว่า ในอดีตไทยเป็นแหล่งหรือเป้าหมายหรือจุดพักของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์จากประเทศที่ยากจนกว่า เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ต้องการเดินทางมาทำงานในไทย หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น อย่างมาเลเซีย เพื่อขายแรงงานและการค้าประเวณี
คดีร้ายแรง ทหารพัวพัน
เมื่อมีเริ่มกระบวนการสอบสวนและขยายผลทำให้พบการเชื่อมโยงบุคคลทั้งข้าราชการระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่นและนายหน้าจากเมียนมา โดยบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึง คือ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์เป็นโจทก์ มีข้าราชการและพลเรือนเป็นจำเลยที่ 1-103 ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฯ พ.ศ.2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2558 ได้มีการโอนคดีดังกล่าวจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาแทน
เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต จึงทำให้การพิจารณาคดีนี้จำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลทำการไต่สวนพยานรวม 116 นัดต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 เดือนละ 8 วัน โดยไม่มีการเลื่อนคดี หรือยกเลิกนัดแต่อย่างใด
หมายเหตุ: ข่าวนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560