68 ปีทักษิณ หนีคดี 6 หมายจับ ผลัก “ชินวัตร” เข้าแดนอันตราย

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจ ที่ถนนอักษะ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจ ที่ถนนอักษะ พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2557 ในขณะที่ กปปส.ชุมนุมอยู่อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ

26 ก.ค. 2560 ครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 68 ของนายทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นปีที่ 11 ที่เขาไม่มีโอกาสฉลองวันเกิดในมาตุภูมิ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองทีเข้าสู่ "แดนอันตราย" อีกครั้งเมื่อ น้องสาว และน้องเขย รอการตัดสินคดีในเดือน ส.ค. ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุก 10 ปี

บีบีซีไทยพาย้อนดูความนิ่งที่ไม่เคยเงียบของนายทักษิณ นับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุกความเคลื่อนไหวของเขาถูกถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของคนในตระกูลชินวัตร

2557 : ทักษิณ "จำศีล"-ให้โอกาส คสช.ทำงาน

2 เดือนหลังรัฐบาลของน้องสาวถูกโค่นอำนาจโดย คสช. นายทักษิณ ชินวัตร เลือกจัดงานวันเกิดปีที่ 65 อย่างเงียบๆ และไกลจากประเทศไทย โดยมีเพื่อนนักธุรกิจคนสนิทอย่างนายชาญชัย รวยรุ่งเรือง หรือเหยียน ปิน เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงที่โรงแรมแรมโฟร์ซีซัน ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเพียงครอบครัว ญาติสนิท และคนใกล้ชิดไม่กี่คนร่วมงาน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับอนุญาตจาก คสช. ให้เดินทางทัวร์ 5 ประเทศ ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-10 ส.ค. 2557 โดยมี ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ร่วมทริป

จึงปรากฏภาพ "2 พี่น้อง-2 ผู้ถูกรัฐประหาร" กอดกันกลมที่สนามบิน

ขณะที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย โพสต์เฟซบุ๊กอวยพรวันเกิดพ่อ-หวังได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวอีกครั้ง "หากได้พ่อกลับคืนมาเป็นครอบครัวที่อบอุ่นดังเดิม พวกเราทุกคน.. จะดึงพ่อให้ออกไปให้ไกลๆ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลย"

ทว่า 3-4 วันหลังจากนั้น ภาพหนังสือที่หน้าปกเขียนว่า "2559 ทักษิณ กลับมา" ถูกแชร์กระหน่ำในสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่าเป็นของชำร่วยแจกในงานวันเกิดนายทักษิณ ร้อนถึงหน่วยงานด้านการข่าวต้องเช็คข่าวกันวุ่น ก่อนที่โอ๊ค-อุ๊งอิ๊งจะออกมาปฏิเสธว่าเป็นเพียงข่าวลือ

ทักษิณฉลองเบิร์ดเดย์จากแดนไกล

2549

จัดงานวันเกิดที่บ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งสุดท้าย

  • 2557 ฝรั่งเศส

  • 2558 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรส

  • 2559 อังกฤษ

  • 2560 อังกฤษ

AFP/Getty Images

21 ส.ค. 2557 นายทักษิณเคลื่อนตัวมาประชิดไทย เพื่อฉลองวันคล้ายวันเกิดให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ที่ฮ่องกง สมาชิกพรรคเพื่อไทยที่รู้ข่าวรีบรุดไปพบ "นายเก่า"

คำสำคัญที่อดีตนายกฯ สื่อสารกับลูกพรรคคือ "เมื่อขณะนี้มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ต้องให้โอกาสเขาทำงานไป หากเราไปขัดขวาง ก็จะกลายเป็นว่าไม่ให้ความร่วมมือกับประเทศ" (ไทยรัฐออนไลน์ 22 พ.ค. 2557)

พล.อ.ประยุทธ์และคณะ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 9 ก.ย. 2557 พร้อมประกาศกลางวงประชุม "เป็นรัฐบาลต้องติดดิน ดูแลประชาชน" นายพานทองแท้ก็ส่งการ์ตูนแอนิเมชัน "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ฉายประวัตินายทักษิณ ออกมาข่มขวัญรัฐบาล

ถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาเล็กๆ ในช่วงที่นายทักษิณเลือก "จำศีล"

2558 : ถูกยึดพาสปอร์ต-ถอดยศ-ได้หมายจับใบที่ 6

18 พ.ค. 2558 นายทักษิณออกจากมุมมืด เมื่อได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในการประชุมระดับผู้นำ The 6th Asian Leadership Conference ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. 2558 โดยมิลืมโพสต์ภาพผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเพื่อรายงานตัวกับแฟนๆ

แต่สิ่งที่ทำให้การเมืองร้อนขึ้นมา คือการให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้ ซึ่งต่อมาแฟนเพจ "หยุดดัดจริตประเทศไทย" นำคลิปความยาว 1.32 นาทีมาเผยแพร่ ใจความตอนหนึ่งระบุว่า "ก็เที่ยวนี้ก็.. ทหารก็จะฟังองคมนตรี เพราะตอนที่เขาไม่ต้องการให้เราอยู่ เขาก็ให้สุเทพออกมา และให้ทหารเข้ามาช่วย เลยทำให้เราไม่มีอำนาจอะไร ผมก็เลยคุยกับนายกฯ ปูว่าเหตุการณ์เหมือนที่พี่โดนมา"

บทสัมภาษณ์นี้นำวิบากกรรมมาสู่นายทักษิณเพิ่มเติม ทั้งถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง-ถูกถอดยศตำรวจ-ถูกกองทัพบกฟ้องหมิ่นประมาท จนนำไปสู่การออกหมายจับเป็น "คดีที่ 6"

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกปปส.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชน กปปส.เดินขบวนขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 ก่อนที่ก่อนชุมนุมจะยุติลงด้วยการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

นายทักษิณเลือกตอบโต้ผ่านอินสตราแกรม (22 พ.ค. 2558) ระบุว่าได้แผ่เมตตาให้กับผู้มีอำนาจได้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง เพื่อจะได้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง พร้อมย้ำว่า "เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า 'ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง' คือทุกสิ่งไม่มีอยู่จริง เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป พาสปอร์ตก็เช่นกัน.."

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

22 พ.ค. 2558 ครบขวบปีรัฐประหาร สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเผยแพร่บทสัมภาษณ์ 2 ผู้นำต่างขั้วอำนาจ โดยนายทักษิณยอมรับว่า "กังวลอยู่บ้าง" กับเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดี เมื่อซีเอ็นเอ็นถามว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะออกมาชุมนุมบนถนนอีกหรือไม่ เขาบอกว่า "พยายามบอกให้พวกเขาอดทน และหากจะมีการออกมาก็ต้องเป็นไปด้วยความสงบ ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงใดๆ แต่ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าออกมา"

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ขอใช้โอกาสนี้บอกโลกว่าเหตุใดต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยยืนยัน "ไม่เคยต่อต้านประชาธิปไตย" และ "ไม่อยากอยู่ในอำนาจ แต่ผมเป็นคนเดียวที่สามารถจัดการปัญหาในไทยได้ภายใต้กฎหมายในขณะนี้"

ส่วนการฉลองวันเกิดปีที่ 66 ของนายทักษิณเกิดขึ้นที่บ้านพักในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเปิดให้ลูกในไส้-ลูกพรรคร่วมอวยพร มีพิธีบายศรีเรียกขวัญให้นายทักษิณด้วย แทบทุกกิจกรรมถูกถ่ายทอดผ่าน "สำนักข่าวโอ๊ค-อิ๊ง" พร้อมเชิญชวนแฟนเพจติดแฮชแท็ก ‪#‎HBDTS‬‬‬

เขาขึ้นกล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า "คนเป็นผู้นำ ถ้าไม่คิดถึงอนาคต แล้วคนที่เป็นผู้ตามก็ลำบาก" นอกจากนี้ยังตั้งวงวิเคราะห์เหตุบ้านการเมืองไทยให้อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยฟัง พร้อมอาสาเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยกล่าวสั้นๆ ว่า "บอกมา ถ้าอยากให้ไปช่วย" (มติชนออนไลน์, 28 ก.ค. 2558)

ทว่านอกจากรัฐบาลไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ อดีตเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท. 10) ของนายทักษิณ ที่ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังโยนคำถามกลับ "ตามกฎหมายแล้วมาได้หรือ"

2559 : จาก "อย่าระแวงผม" ถึงชวนคนคว่ำร่างรธน. "ฉบับฝันร้าย"

อาจเพราะไม่ต้องการให้ "นายกฯ น้อง" ที่เขาบอกกับใครๆ ว่าเป็น "โคลนนิ่ง" ของเขาต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน พลันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเริ่มไต่สวนพยาน ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 5 แสนล้านบาท ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตกเป็นจำเลย ก็มีความเคลื่อนไหวจากนายทักษิณ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย วันที่ 21 ก.ค. 2560 ท่ามกลางกำลังใจจากมวลชน โดยศาลนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 25 ส.ค. 2560

ทว่าไม่ใช่การเร่งเกมรบ แต่คล้ายเป็นการส่งสัญญาณขอเจรจาสงบศึก?

ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีต เจอร์นัล (เผยแพร่ 21 ก.พ. 2559) "นายกฯ คนที่ 23" จงใจพูดกับ "นายกฯ คนที่ 29" ว่า "โปรดอย่าได้ระแวงกันเลย ไม่ต้องกลัวหรอกว่าผมจะกลับไปมองหาหนทางแก้แค้น ผมไม่ได้มองหาเงื่อนไขใดๆ ที่จะช่วยตัวผมเอง แต่ถ้าหากคุณมีเจตนาดีจริงๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ถ้าหากต้องการคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชนไทย ก็มาพูดจากัน"

เขายังพูดถึงชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง "ผมไม่ได้ไม่พอใจผู้พิพากษา แต่ไม่พอใจระบบว่าทำไมต้องตั้งข้อหาเธอ หวังว่าเธอคงไม่ถูกพิพากษาว่าผิด แต่ไม่แน่ใจเท่าไรนัก"

เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับจากผู้มีอำนาจ นายทักษิณจึงกลับมาเล่นเกมบู๊ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา (28 ก.พ. 2559) โดยบอกว่า "ผมเลือกที่จะอยู่อย่างเงียบๆ เพื่อปล่อยให้รัฐบาลได้แก้ปัญหากันไป แต่ขณะที่เวลาผ่านมาปีครึ่งแล้ว การปรองดองกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง.." "ดูเหมือนว่าแนวทางแก้ปัญหาจะออกนอกลู่นอกทาง รัฐบาลไม่ได้มีความคิดที่จะปรองดอง.." "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ถ้าเราเปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือ.."

ดัชนีชี้วัดกระแสนิยมในตัว "อดีตผู้นำ-ผู้นำคนปัจจุบัน" ได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นสนามประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 2559 นั่นทำให้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณกลายเป็นของแสลงของผู้มีอำนาจ สะท้อนผ่านการตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 อดีตนักการเมืองและชาวบ้านที่ร่วม "แจกขันน้ำสีแดง" พร้อมภาพถ่ายของนายทักษิณ-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายทักษิณ ชินวัตร สไกป์มาอวยพรสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายทักษิณ ชินวัตร สไกป์มาอวยพรสมาชิกพรรคเพื่อไทย วันที่ 7 เม.ย. 2559 เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พร้อมเรียกร้องให้นักการเมืองรักประชาชน ไม่ว่ามาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง

ต่อมาเมื่อนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มพลเมืองโต้กลับ เรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกจากค่ายทหาร หลังโพสต์เฟซบุ๊ก "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาร่ายยาวถึงขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง (21 เม.ย. 2559)

"นักศึกษาก็นักศึกษาแล้วอยู่กับพวกไหน พวกไหน ใครเอารถไปส่ง ใคร วอยส์ทีวีไปส่งหรือเปล่า รถ นปช.ไปหรือเปล่า ใครล่ะ ยึดโยงกันยังไง นี่วิเคราะห์แบบนี้.." "ใครล่ะที่สนับสนุนกันมา ใครมีการวางแผนมา หนึ่งล็อบบี้ยีสต์ต่างประเทศ ใครทักษิณ"

เป็นผลให้นายทักษิณออกมาตอบโต้กลับ (22 เม.ย. 2559) ว่า "ไม่มีล็อบบี้ยิสต์ในโลกคนไหนที่จะมีความสามารถทำลายคุณได้ เท่ากับคุณทำลายตัวคุณเอง"

12 วันก่อนลงประชามติ งานวันเกิดปีที่ 67 ของเขาถูกจัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ มีเฉพาะญาติใกล้ชิดไปร่วมงาน แต่ปีนี้ทั้งน้องสาว-น.ส. ยิ่งลักษณ์ และน้องเขย-นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่อาจไปร่วมงาน เพราะติดเงื่อนไขศาลฎีกาฯ เรื่องการออกนอกราชอาณาจักร

นายทักษิณ-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, Facebook Yingluck Shinawatra

คำบรรยายภาพ,

เมื่อปี 2559 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กชวนสมาชิกแฟนเพจร่วมอวยพรวันเกิด "พี่ชายที่ดิฉันรักและเปรียบเสมือนคุณพ่อ" ขณะที่ คสช. ขอให้นายทักษิณหยุดเคลื่อนไหว

ทว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สร้างดราม่ากระตุกต่อมหน้าตามวลชน กับการโพสต์คลิปวิดีโอทางเฟซบุ๊ก ความยาว 6.28 นาที โดยร้องเพลง "เพลงของเธอ" มอบเป็นของขวัญแด่พี่ชาย พร้อมข้อความตอนหนึ่งว่า "เรามีข้อจำกัดที่เหมือนกัน คือน้องไปได้ทุกที่ในประเทศไทย ยกเว้นต่างประเทศ พี่ชายก็เดินทางไปได้ทุกประเทศ ยกเว้นประเทศไทย อยากจะบอกว่าความรู้สึกนั้นมันทรมานมากค่ะ.."

แม้ไม่อยู่ไทย-ไม่มีสิทธิลงประชามติ แต่นายทักษิณก็ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ (5 ส.ค. 2559) รายงานว่านายทักษิณได้ส่งสารผ่านอีเมลไปที่รอยเตอร์ ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็น "ฝันร้ายที่ขัดแย้งและสับสน" โดย "กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญยกร่างเพื่อให้กลุ่มที่กุมอำนาจในปัจจุบันสืบทอดอำนาจต่อไปได้ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน และประกาศใช้บังคับ" หลังก่อนหน้านั้น เขาให้ลูกโอ๊คโพสต์เฟซบุ๊กระบุ 6 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติด้วยคะแนนร้อยละ 61.35 ต่อ 38.65 ซึ่งแกนนำ กปปส. ผู้ประกาศสนับสนุนร่างฯ อย่างแข็งขัน ชี้ว่า "เหตุผลส่วนหนึ่งที่คนไปโหวตรับร่างฯ เพราะนายทักษิณประกาศไม่รับร่างฯ"

2560: "ชินวัตร" ครอบครัวตัวประกัน

เข้าสู่ปี 2560 มีนักการเมืองแวะเวียนไปสวัสดีปีใหม่อดีตนายกฯ ตามธรรมเนียม หนึ่งในนั้นคือนายวัฒนา เมืองสุข นอกจากปรับทุกข์-ผูกมิตร นายทักษิณยังยืนยันไม่เคยคิดร้ายกับประเทศไทย "หากคิดไม่ดีกับบ้านเมือง คนที่จะได้รับผลร้ายซึ่งเสมือนเป็นตัวประกันที่อยู่ในเมืองไทยก็คือ บุตร ภรรยา และญาติพี่น้องที่รัก"

แม้เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังตัดสินคดีจำนำข้าวของน้องสาว และคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 2551 ของน้องเขย แต่เขายังนิ่ง-เงียบ

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และลูกๆ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (คนที่ 2 จากขวามือ) อดีตภริยาของนายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นศาลเพื่อฟังคำตัดสินคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป 546 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2554 โดยมีลูกทั้ง 3 คนเคียงข้าง

กระทั่งกรมสรรพากรใช้ "อภินิหารทางกฎหมาย" เรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ป เป็นเงินกว่า 1.76 หมื่นล้านบาท หลังก่อนหน้านั้นในปี 2553 เคยถูกศาลพิพากษายึดทรัพย์ 4.63 หมื่นล้านบาทจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปมาแล้ว นายทักษิณจึงไม่อาจอยู่นิ่งอีกต่อไป

31 มี.ค. 2560 เขาโพสต์เฟซบุ๊กบรรยายความในใจที่ถูกใส่ร้าย-ลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายๆ ในบ้านเมือง ทั้งระเบิดราชประสงค์, ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน, สร้างภาพว่าเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างการปกครอง โดยยืนยัน "มีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยถวายงานเจ้านายทุกพระองค์ ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีมาตลอด"

"สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย คือการปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า.." "กระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ผมขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดผมออกจากสมการไปได้เลยครับ ผมไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวผม และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดผมเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความ 'ขัดแย้ง' ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป.."

"ผมหยุดแล้วครับ ท่านล่ะ เมื่อไหร่จะหยุดสักที" เขาตั้งคำถามทิ้งท้าย

ล่าสุดกรมบังคับคดีได้รับอายัด 12 บัญชีธนาคารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามที่คณะกรรมการสืบทรัพย์ โดยกระทรวงการคลัง ร้องขอให้ดำเนินการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ เพื่อชดใช้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทีมทนายได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว เธอทวิตยืนยันว่า "ยังเข้มแข็ง" และ "ไม่ได้ทำอะไรผิด"

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

ถึงวันนี้ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยสาระสำคัญคือให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ และคดีทุจริตไม่มีอายุความ การนับถอยหลังกลับบ้านของผู้นำพเนจร-ผู้ต้องหาที่มีหมายจับ 6 หมาย จึงคล้ายไม่มีวันสิ้นสุด

ขณะเดียวกัน 2 ผู้นำที่ตกเป็น "จำเลย" ก็มิอาจใช้แนวทาง "ใช้ชีวิตต่างแดน" ฆ่าเวลาคดีขาดอายุความได้

"ผมเคยอยากกลับ หากผมได้กลับบ้าน แน่นอนผมจะกลับ แต่หากไม่สามารถกลับได้ ผมโอเค เพราะผมอยู่ได้ทุกประเทศ"

นั่นคือคำพูดของนายทักษิณเมื่อปี 2559 โดยที่ยังไม่รู้ว่าเขาหมดหนทางกลับบ้าน