เพิ่มเติม: 53 ปี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับอนาคตนายกฯ รอบ 2 ?

  • พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, Getty Images

3 ส.ค. 2560 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอายุครบ 53 ปีบริบูรณ์ ในวัยนี้ นักการเมืองบางคน อาจเพิ่งเริ่มเส้นทางการเมือง แต่สำหรับ "มาร์ค" แล้ว มันคือ 25 ปี บนเส้นทางการเมืองของ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่รู้จักในหมู่เพื่อนอังกฤษว่า Mark Vejj และ อดีต "ดาวจรัสแสง" ของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ที่รับแรงสนับสนุน จากอดีตหัวหน้าพรรคถึง 2 คน คือ นายพิชัย รัตตกุล และนายชวน หลีกภัย ให้เข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อปี 2535

ในวันนี้ คู่แข่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเขาในรอบ 10 ปี หลังได้พ้นกระดานการเมืองไปหมดแล้ว บ้างถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคร้าย บ้างเงียบหาย ไม่ก็ลี้ภัย หนีคดีการเมืองในต่างประเทศ จนยากจะกลับมาได้ เขายังคงอยู่ ณ จุดเดิมในตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลา บวกลีลาการพูดที่ราวกับถอบแบบ "นายหัวชวน" นายอภิสิทธิ์ ถูกทำนายทายทักมาตลอด ว่า "มีวาสนาจะได้เป็นนายกฯ" ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จในปี 2551 แม้จะถูกฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ว่า เป็นการขึ้นสู่อำนาจที่ไม่ค่อยสง่างามนัก

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์จะกล่าวย้ำทุกครั้งที่มีโอกาสว่า อาชีพของเขาคือนักการเมือง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรือไม่ ก็จะเป็น "การเลือกตั้งครั้งสุดท้าย" ของเขาแล้ว

ตัวเลขน่ารู้ เกี่ยวกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

  • 3 คน มีพี่น้อง เขาเป็นลูกชายคนเล็ก มีพี่สาว 2 คน

  • 7 เคยเป็นเลขนำโชค เพราะเป็นหัวหน้า ปชป.คนที่ 7 และเป็นนายกฯ คนที่ 27

  • 50 ปี อายุเดิมที่ตั้งใจเลิกเล่นการเมือง

  • 962 วัน คือระยะเวลาบนเก้าอี้ผู้นำประเทศ

  • 2507 ปีเกิดที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ

AFP/Getty Images

"ถ้าไม่สำเร็จก็จบ เพราะผมเป็นฝ่ายค้านมา 3 ครั้ง มากพอแล้ว ครงไม่มีครั้งที่ 4 แต่หากได้กลับมาเป็นนายกฯอีก ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ เดิมเคยคิดไว้ว่า ถ้าไม่มีอะไรสะดุด พออายุ 50 ปี ก็จะเลิกเล่น เสร็จงานการเมืองก็คงไปทำอย่างอื่นแล้ว" นายอภิสิทธิ์กล่าวไว้เมื่อปี 2558 ระหว่างการกล่าวบรรยายพิเศษที่ มหาวิทยาลัยรังสิต

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความฝันของอดีตนายกฯคนที่ 27 นอกเหนือจาก "ก้างสีเขียวลายพรางชิ้นโต" อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่บางฝ่ายพยายามผลักดันให้เป็นนายกฯต่อ ผ่านรัฐธรรมนูญที่วางกลไกเกื้อหนุนให้เกิด "นายกฯคนนอก" ไว้สารพัด ยังรวมถึง อดีตของตัวนายอภิสิทธิ์บนเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งทิ้ง "บาดแผล" เอาไว้อย่างมากมาย

บีบีซีไทย ขอสรุป 4 บาดแผลซึ่งกลายเป็น "จุดอ่อน" สำคัญ ที่อาจทำให้นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถทิ้งทวนอาชีพนักการเมืองบนเก้าอี้นายกฯ อย่างที่ฝันเอาไว้ได้

จุดอ่อนที่ 1 : การยอมรับจากคนในพรรค

ที่ผ่านมา หากถามเรื่องการยอมรับนายอภิสิทธิ์จากคนใน ปชป. อย่างเป็นทางการ คำตอบที่ได้รับคงจะเป็น "ทุกคนยอมรับหัวหน้าอภิสิทธิ์ 100%" แต่ในเวลาเดียวกัน กลับมีการปล่อยรายชื่อสมาชิกพรรคที่โด่งดังหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ, นายศุภชัย พานิชภักดิ์, นายกรณ์ จาติกวณิช ขึ้นมา "โยนหินถามทาง" ว่า บุคคลเหล่านี้มีใครเหมาะสมจะมานำ ปชป. แทนนายอภิสิทธิ์"ได้หรือไม่

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในเดือน ธ.ค.2556 ระหว่างการแถลงข่าวประกาศจุดยืนพรรคบอยคอตการเลือกตั้งปี 2557

หลายครั้ง สื่อมวลชนมักรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถควบคุมกลุ่ม-ก๊วนต่างๆ ภายในพรรคได้ กระทั่งรุ่นใหญ่อย่างนายชวนหรือนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ต้องมาคอยออกแรงช่วยการันตี อันแสดงให้เห็นถึงภาวะ "บกพร่องบารมี" ทั้งที่นั่งเป็นผู้นำค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผมมาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน

บางทีสนามการเมืองแรกที่นายอภิสิทธิ์จะต้องเอาชนะ อาจเป็นการคัดเลือกคณะกรรมการ ปชป.ชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่จะหมดวาระลงในช่วงปลายปี 2561

จุดอ่อนที่ 2: ภาพของผู้แพ้

ด้วยการบอยคอยการเลือกตั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง (ปี 2549 และปี 2557) ส่วนอีก 2 ครั้งที่ยอมส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงแข่งก็แพ้ให้กับนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายสมัคร สุนทรเวช (ปี 2550) กระทั่งหน้าใหม่แกะกล่องอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554) ก็ยังพ่ายอย่างราบคาบ จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า ปชป.

แม้จะได้รับเลือกให้กลับมานำพรรคสีฟ้านี้อีกครั้ง แต่นายอภิสิทธิ์ติด "ภาพของผู้แพ้" ในสนามเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว

นี่คือบาดแผลสำคัญ ที่ทำให้คนใน ปชป.บางส่วน เรียกร้องให้มีการเปรียบตัวแม่ทัพนำศึก

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในยุคที่อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า ปชป.

ปี 2549

บอยคอตการเลือกตั้ง

  • ปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชน (สมัคร สุนทรเวช) ด้วยสัดส่วนที่นั่ง 233:165

  • ปี 2554 แพ้พรรคเพื่อไทย (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ด้วยสัดส่วนที่นั่ง 265:159

  • ปี 2557 บอยคอยการเลือกตั้ง

Getty Images

จุดอ่อนที่ 3: สายตาของคนนอก

ตลอดระยะเวลา 2 ปี 7 เดือนเศษ บนเก้าอี้นายกฯ นายอภิสิทธิ์ต้องคอยแก้ไขปัญหาสารพัด โดยเฉพาะปัญหาจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งครั้งที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดคือในปี 2553 ที่มีการใช้อาวุธสงครามจนสูญเสียทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นวาทกรรม "มือเปื้อนเลือด" ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามใช้กล่าวหาเขาอยู่ตลอดเวลา แม้ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะยกคำร้องที่กล่าวหาเขากรณีสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "ไม่มีความผิด" ก็ตาม

คน ปชป. รู้ดีว่า ไม่ว่ากติกาการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่พรรคจะไม่มีทางชนะเลือกตั้งได้เลย หากไม่สามารถโกยคะแนน ส.ส.จากภาคเหนือและภาคอีสานให้ได้มากกว่าเดิม

แต่ภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ที่คนนอกมองเข้ามา โดยเฉพาะหลังปี 2553 กลับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเดินทางไปสู่ชัยชนะดังกล่าว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จุดอ่อนที่ 4: สุเทพ เทือกสุบรรณ

หากจะบอกว่า การขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯของนายอภิสิทธิ์ เมื่อ 9 ปีก่อน จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าปราศจากเลขาธิการ ปชป. ที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มากทั้งบารมีและเครือข่าย

แต่ระยะหลังดูเหมือนแนวทางการเมืองของทั้ง 2 คน มักจะเดินสวนกัน โดยปรากฎรอยร้าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค หรือการเลือกส่งผู้สมัครลงในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

และที่เห็นเด่นชัดครั้งล่าสุด คือการประกาศจุดยืนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 ที่นายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืน "ไม่รับ" แต่นายสุเทพกลับประกาศให้ทุกคน "รับ" ซึ่งเมื่อผลออก ปรากฎว่าพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานะเสียงสำคัญของ ปชป. ได้ลงมติไปในทางเดียวกับนายสุเทพ คือรับร่างรัฐธรรมนูญ

สุเทพ-อภิสิทธิ์

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY Images

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับนายสุเทพ "เพียงแต่มีแนวคิดต่างกันเท่านั้น"

จากคนคู่ใจเปลี่ยนเป็นฝ่ายตรงข้ามตัวฉกาจ เมื่อนายสุเทพประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วนายอภิสิทธิ์จะทำอย่างไร กับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเขาวางเดิมพันไว้สูงถึงขั้น "เลิกเล่นการเมือง" หากไม่ได้รับชัยชนะ

ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. นายอภิสิทธิ์ยังคงใช้ความพยายามอย่างหนักเข้าหามวลชน โดยก่อนวันเกิดเพียงไม่กี่วัน อภิสิทธิ์เองก็ลงพื้นที่เพื่อช่วยประชาชนด้วยการมอบถุงยังชีพ เพื่อให้กำลังใจชาวจังหวัดสกลนคร

ขณะที่เมื่อวานนี้ ได้ฤกษ์เปิดไลน์ออฟฟิเชียล แอคเคาน์ @Mark_Abhisit ของตัวเองอย่างเป็นทางการ ส่วนในวันนี้ซึ่งเป็นคลายวันเกิดครบรอบ 53 ปี ได้ถือฤกษ์ดีเข้าเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อความเป็นสิริมงคล

หากเทียบ ประชาธิปัตย์ กับนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลโปรดของนายอภิสิทธิ์ แล้ว ทีมสาลิกาดงของอังกฤษได้เลื่อนชั้นกลับมาสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษในฤดูกาลล่าสุดที่จะเริ่มเตะในไม่กี่วันนี้ แต่อนาคตของพรรคแม่พระธรณีบีบมวยผม และอดีตนายกฯ ไทยรายนี้ ยังก็เป็นเครื่องหมาบคำถามตัวโต ยิ่งถ้าไปดูสถิติการแข่งขันในสนามเลือกตั้งของเขาในอดีต แฟนๆ หลายคนอาจจะต้องใจหาย เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่เคยพา ปชป.ประสบความสำเร็จจากการแข่งขันในคูหาหย่อนบัตรเลย แม้แต่ครั้งเดียว