พิพากษาคดีจำนำข้าว 25 ส.ค. ชี้ชะตา ยิ่งลักษณ์ กับ 2 อดีต รมต.

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นศาลในการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย 21 ก.ค.

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

เสียงตะโกน "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ" ที่ดังขึ้นจากประชาชนที่มาปักหลักรอให้กำลังใจหน้าศาลฎีกาฯ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงกับน้ำตารื้น ก่อนเข้าไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้าย 21 ก.ค. 2560

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย วันที่ 25 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ศาลอนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่ 1 ส.ค. 2560 และอนุญาตให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค. 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นแถลงปิดคดี

ส่วนคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่นั้น ศาลได้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผล "ศาลได้ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้คู่ความทั้งสองนำพยานมาให้ศาลไต่สวนเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แก่คู่ความทั้งสองฝ่าย อันเป็นหลักการสำคัญ ของการไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยและเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย"

ถือว่าคดีเสร็จการไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก เริ่มตั้งแต่ 15 ม.ค. 2559

1) 2 ปี 4 เดือน ยิ่งลักษณ์วิ่งขึ้นศาล 26 นัด

คดีนี้ศาลรับฟ้องเป็นคดีที่ อม.22/2558 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2558 หลังอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ในคำฟ้องนี้ อัยการไม่ได้ระบุมูลค่าความเสียหาย แต่คณะกรรมการสอบความเสียหายของกระทรวงการคลังประเมินว่า สร้างความเสียหายแก่รัฐ 5.1 แสนล้านบาท

ในช่วง 28 เดือนที่ผ่านมา เธอต้องวิ่งขึ้น-ลงศาล 26 นัด เนื่องจากศาลกำหนดให้เข้าร่วมกระบวนการไต่สวนพยานทุกนัดตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งถอนประกัน-ปรับเงินประกัน 30 ล้านบาท-ออกหมายจับ

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

2) แท็กติกกฎหมายถูกตีตก

นอกจากพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่ต่างฝ่ายต่างงัดขึ้นมาแสดงต่อศาล เพื่อต่อสู้-หักล้างข้อมูลของอีกฝ่าย ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังใช้ "แท็กติกทางกฎหมาย" ยก "ข้อต่อสู้เพิ่มเติม" เข้าสู่ศาลอย่างต่อเนื่อง ถูกตีตก-ยกคำร้องไปแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่

  • 31 ส.ค. 2558 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
  • 31 ส.ค. 2558 ยื่นคำร้องคัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารที่ปรากฏในบัญชีพยานของโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ปรากฏในชั้นของการไต่สวนมาก่อน
  • 29 ก.ย. 2558 ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดต่อศาลอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีสั่งฟ้องคดีรับจำนำข้าว แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
  • 29 มิ.ย. 2560 ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าวและคลังเก็บข้าวที่ จ.อ่างทอง 16 แห่ง หลังกระทรวงพาณิชย์ตรวจพบว่าเป็นไปตามบัญชี-ไร้ความเสียหาย
  • 7 ก.ค. 2560 ยื่นต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ หลังโจทก์อาศัยช่องทางตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่โดยเฉพาะพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่นเข้ามาในคดี ทั้งที่ไม่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. ขณะที่รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้บัญญัติว่า "การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา" และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้"
ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ท้ายที่สุดข้อต่อสู้เรื่องการ "สอดไส้บัญชีพยานเอกสาร" ที่ไม่ปรากฏในสำนวนของ ป.ป.ช. ก็ถูกตีตกรอบ 2 ในวันนี้ หลังจากปี 2558 องค์คณะผู้พิพากษาเคยสั่งยกคำร้องมาแล้วครั้งหนึ่ง

ปฏิบัติการ "ดิ้นเฮือกสุดท้าย" จึงถูก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คู่ปรับการเมือง ชี้ว่าเป็นความพยายาม "ต่อชะตา-ซื้อเวลา"

ก่อนหน้านี้ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวยอมรับกับบีบีซีไทยว่า "ไม่ได้คาดหวังมากนักว่าจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพียงแต่ต้องการบันทึกเอาไว้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการสอดไส้บัญชีพยาน เพราะแสดงให้เห็นว่าสำนวน ป.ป.ช.ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น และพยานหลักฐานที่เพิ่มขึ้นมา ก็เป็นสำนวนของคดีอื่น โดยเฉพาะคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์"

"ครั้งแรก" ของยิ่งลักษณ์

49 วัน

เตรียมตัวก่อนเลือกตั้ง ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย

5 ปี

ต้องเว้นวรรคทางการเมือง หลังเป็นนายกฯ คนแรกที่ถูกถอดถอนกลางสภาฯ

  • 2 พี่น้อง คู่แรกที่เป็น นายกฯ และถูกทหารยึดอำนาจ กลายเป็น "จำเลย" ในศาล

3) เดินขึ้นศาลควบคู่เดินสายพบมวลชน

นอกจากการขับเคลื่อนทางคดีโดยทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ยังมีคำแนะนำจากทีมกุนซือการเมืองให้อดีตนายกฯ เคลื่อนตัวเข้าหามวลชนรากหญ้าโดยเฉพาะ "ชาวนา" ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียโดยตรงจากนโยบายรับจำนำข้าว เพื่อให้กระบวนการต่อสู้ 2 ขาสอดประสานกัน

ในวันแถลงเปิดคดีด้วยวาจา (5 ส.ค. 2559) ซึ่งใช้เวลา 75 นาที น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุตอนหนึ่งว่า "อยากขอความเป็นธรรมกับศาลว่าสิ่งที่ให้กับชาวนา มันมากเกินไปหรือ"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำข้าวที่ซื้อจากชาวนามาเปิดขายในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำข้าวที่ซื้อจากชาวนามาเปิดขายในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2559

กิจกรรมสำคัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2559 จึงอยู่ที่การเดินสายรับซื้อข้าวจากชาวนาภาคอีสาน ก่อนมาเปิดขายที่ห้างกลางกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือกรณีราคาข้าวตกต่ำเหลือ 8 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธพร้อมน้ำตาว่าการลงพื้นที่ไม่ใช่การสร้างภาพเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือจงใจสร้าง "ดราม่า"

"ชาวนานั้นทุกข์มาก ไม่มีแม้กระทั่งข้าวสารกรอกหม้อ ไม่มีแม้เงินใช้จ่ายประจำวัน แต่ก็ยังมาให้กำลังใจดิฉัน" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีชาวนาเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ในการนัดไต่สวนพยานหลายนัด เช่น ชาวนาอุบลฯ ยกพลมา 3 คันรถบัส เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2559 จากนั้นในการขึ้นศาลนัดอื่นๆ ก็มีชาวนาจาก จ.ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และปทุมธานี และอีกหลายจังหวัดเดินทางมาให้กำลังใจ

กระทั่งเข้าสู่โค้งสุดท้าย-ไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย 3 นัดสุดท้าย สถานีโทรทัศน์ TV24 จัดทำรายงานพิเศษเรื่องชาวนากับยิ่งลักษณ์ออกอากาศในทุกช่วงข่าว

ชาวนา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ตอกย้ำด้วยสุดยอดประเด็น "ดราม่า" ส่งท้ายคดี นั่นคือ "น้ำตานารี" เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560 ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 50 น.ส.ยิ่งลักษณ์งดจัดเลี้ยง ส.ส. หันไปเดินสายทำบุญที่วัดด้วยเหตุผล "เจอแต่เรื่องหนักหนา"

นี่เป็นอีกครั้งที่เธอน้ำตานองหน้าระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

"หวังว่าหลังวันเกิดจะมีสิ่งที่ดีเข้ามาบ้าง และหวังให้ปีหน้า จะมีโอกาสกลับมาทำบุญที่นี่อีกครั้ง" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

จนถูกนำคำพูดไปถอดรหัส-ตีความยกใหญ่

ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

แม้รัฐบาล คสช.ปรามประชาชนให้ติดตามข่าวอยู่ที่บ้าน แต่กลับมีมวลชนเดินทางมาที่ศาลฎีกาฯ เป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าท่ตำรวจ 2 กองร้อย

จากนั้นเพียง 4 วัน บ้านพักในซอยโยธินพัฒนาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เปิดต้อนรับ "แฟนเพจ" ในการจัดมีตติ้งครบ 6 ล้านไลค์ ต่อด้วยการปล่อยภาพกิจกรรมร่วมกับประชาชนประดิษฐ์ดอกดารารัตน์ เพื่อถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตามด้วยเดินสายทำบุญทั่วไทย

สำหรับการขึ้นศาลนัดสุดท้าย 21 ก.ค. 2560 อดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ มากเป็นพิเศษ ถึงขนาดมีการจัดแถวถ่ายรูปหน้าศาล

อดีต รมต. และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยร่วมถ่ายภาพกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนขึ้นไต่สวนพยานนัดสุดท้าย

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

อดีต รมต. และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยร่วมถ่ายภาพกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนขึ้นไต่สวนพยานนัดสุดท้าย

ไม่ต่างจากมวลชน "คนรักยิ่งลักษณ์"ที่เดินทางมาแบบไม่เกรงกลัวการส่งเสียงปรามจากรัฐบาล คสช. ที่ว่า "ไม่ควรมา" ถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สื่อมวลชนเขียนเตือนประชาชนว่า "ต้องเคารพศาล"

"คุณ (สื่อ) ก็ต้องสอนคนว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมา ดูที่บ้านก็ได้ มาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็รู้ว่าคนต้องการอะไร คุณก็จะไปจุดชนวนแบบนี้ให้ผมตลอด แบบนี้ไม่ไหว พอแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ในระหว่างใช้เวลา 45 นาทีฝ่าวงล้อมมวลชนไปถึงทางเข้าศาล เสียงตะโกนเชียร์ "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ" ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางช่วง อดีตนายกฯ ถึงกับน้ำตารื้น

ภาพที่ปรากฏตอกย้ำความเชื่อที่ว่า "อดีตนายกฯ" ผู้ตกที่นั่ง "จำเลย" มีมวลชนอยู่ข้างหลัง บุคคลระดับนำของพรรคเพื่อไทย-ทีมกฎหมายจึงตัดสินใจยื่นขอแถลงปิดคดีด้วยวาจา เพราะถ้อยคำสำคัญจากปาก "นายกฯ หญิงคนแรกของไทย" ในวันที่ 1 ส.ค. ไม่ใช่แค่การพูดกับศาล แต่เป็นการสื่อสารถึงมวลชน

"วันนี้คงไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่มาให้กำลังใจที่ศาลทุกนัด" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ก่อนทราบผลแห่งคดีในวันที่ 25 ส.ค. วันเดียวกับที่ศาลนัดพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน พบว่า มี 5 จาก 9 คนที่ร่วมพิจารณาทั้ง 2 คดี

ปิดฉากการต่อสู้ของ 1 อดีตนายกฯ 2 อดีตรัฐมนตรีไปพร้อมกัน!!!