พลิกแฟ้มคดีการเมือง แกนนำเหลือง-แดง-นกหวีด ใครติด ใครหลุด

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ จัดกิจกรรมวางดอกกุหลาบหน้าเรือนกลางพิเศษกรุงเทพ เพื่อให้กำลังใจแนวร่วม นปช.ที่ถูกคุมขังอยู่ภายใน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2553

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ จัดกิจกรรมวางดอกกุหลาบหน้าเรือนกลางพิเศษกรุงเทพ เพื่อให้กำลังใจแนวร่วม นปช.ที่ถูกคุมขังอยู่ภายใน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2553 แต่วันนี้เขากลับเข้าเรือนจำแห่งนี้เป็นรอบที่ 4

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) พลาดโอกาสไปร่วมแสดงพลัง-ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการขึ้นไต่สวนพยานคดีรับจำนำข้าวนัดสุดท้าย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ก.ค.)

1 วันก่อนหน้านั้น นายจตุพรต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นครั้งที่ 4 ชนิด "ไม่ได้เตรียมตัว" หลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ฟ้องฐานหมิ่นประมาท กรณีปราศรัยใส่ความรัฐบาลว่าเป็น "ทรราชฟันน้ำนม" สั่งการคนเสื้อน้ำเงินยิงคนเสื้อแดงในการประชุมอาเซียนปี 2552 จัดฉากสร้างสถานการณ์ทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย เป็น "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง แต่ศาลฎีกากลับคำพิพากษา

แกนนำ นปช. ชี้ว่าเป็น "ข่าวร้าย" และ "เหนือความคาดหมาย" โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ระบุผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า "ปกติไปศาล แต่ครั้งนี้ไม่ได้ไป และคาดว่าเขาไม่น่าลงคดีนี้"

พระพุทธะอิสระ

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่กังวลเรื่องการปรับตัวในเรือนจำของประธาน นปช. เพราะปรับตัว-ปรับใจกันมาตลอด "วันนี้เกิดกับนายจตุพร วันต่อไปอาจเกิดกับคนอื่นอีก"

ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ชี้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของนักสู้เพื่อประชาชนที่มีปลายทางอยู่ 2 อย่างคือชนะกับแพ้ "..ถ้าแพ้ก็มีอยู่ 2 ทางคือตายกับติดคุก ส่วนตัวผมขอเรียนว่าเราอยู่ในขั้นของการไม่ชนะ หรือเรียกว่าแพ้ก็ได้"

นี่ไม่ใช่คดีเดียวที่นายอภิสิทธิ์กับนายจตุพรเป็น "คู่ความ" กัน เพราะอดีตนายกฯ ฟ้องหมิ่นประมาทประธาน นปช. ถึง 3 สำนวน ในจำนวนนี้มี 2 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วคือ 1. คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ไม่เคารพและตีตนเสมอองค์พระมหากษัตริย์ (คดีหมายเลขดำที่ อ.404/2552) ศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน 2. คดีปราศรัยพาดพิงว่านายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร (คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553) ศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน

ปฏิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค. 2553

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปฏิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค. 2553

ส่วนอีกคดีที่ยังรอลุ้นผลคือ คดีปราศรัยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ดึงเรื่องประชาชนยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนายทักษิณ ชินวัตร และกล่าวหาว่าเป็น "ฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน" (คดีหมายเลขดำ อ.4176/2552) ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการฎีกา

นอกจากคดีหมิ่นประมาทที่นายจตุพรตกเป็น "จำเลย" แบบเฉพาะตัว เขากับแกนนำ นปช. ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมในอีกหลายคดี

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

นายสนธิ ลิ้มทองกุล พูดคุยกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล (ซ้าย) พูดคุยกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

แม้อยู่ต่างขั้วการเมือง แต่แกนนำกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พธม.) ก็มีสารพัดคดี รวมถึงคดีก่อการร้ายติดตามเป็นเงาตามตัวเหมือนกัน

แต่คดีที่ทำให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ติดคุก หาใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีรายงานเท็จกรณีกู้เงินธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,078 ล้านบาท (คดีหมายเลขดำ อ.1036/2552) เมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนสั่งจำคุก 20 ปี เขาจึงหมดอิสรภาพตั้งแต่ 6 ก.ย. 2559

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชน กปปส.เคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพฯ 26 ก.พ. 2557

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชน กปปส.เคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพฯ 26 ก.พ. 2557 เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่สำหรับแกนนำมวลชนที่ชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ที่ปักหลักชุมนุมนาน 204 วันในช่วงปี 2556-2557 พวกเขาเผชิญคดีเช่นกัน อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีกบฎจากการชุมนุมการเมืองปี 2556-2557 ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 58 คนตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ก็ยังไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล มีเพียง 1 คดีของแกนนำและนักวิชาการรวม 4 คนที่ได้เริ่มกระบวนการในศาลอาญาไปแล้ว

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

นี่คือบางส่วนที่อยู่ในแฟ้มคดีการเมือง เมื่อ "แกนนำมวลชน" กลายเป็น "จำเลย" หลังเลือกต่อสู้การเมืองบนท้องถนนในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา