ประยุทธ์: “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์”

ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นองค์กรสำคัญเป็นหนึ่งในหลักของประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราต้องเคารพเทิดทูนและรักษาไว้ยิ่งชีวิตสำหรับเราเป็นข้าราชการ เป็นรัฐมนตรี ต้องเพิ่มประชาชนเข้าไปให้อยู่ในใจ เพราะเราปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

"ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีมาเกือบ 1,000 ปีมีพระมหากษัตริย์มาตลอด ฉะนั้นหน้าที่ของพวกเรา สิ่งแรกจะต้องเชิดชูสถาบันด้วยความจงรักภักดีปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพให้ได้ เราต้องหนักแน่น วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเยอะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการกว่า 1,200 คน

ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ลงโทษผู้ทำความผิด แต่มีคนจำนวนหนึ่งพยายามท้าทาย ขณะที่พระมหากษัตริย์ "ทรงพระเมตตา" มาตลอด

"เรื่องการตรวจสอบกระทำความผิด อะไรก็แล้วแต่ผู้ที่เผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสมวันนี้สถาบันทรงพระเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่าไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้ซึ่งประชาชนบางคนก็รู้กฎหมาย แต่ก็พยายามจะทำอยู่เหมือนพยายามที่จะต่อต้านกฎหมายซึ่งก็คือกฎหมายฉบับหนึ่งเหมือนฉบับอื่น ๆ และพระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ นิรโทษกรรมมาโดยตลอดแต่ก็ยังมีคนพยายามจะทำอยู่ผมก็ไม่เข้าใจ ว่าสถาบันไปทำอะไรให้เดือดร้อน ผมพยายามจะคิดแบบที่เขาคิด แต่ก็คิดไม่ออก คิดไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้นไม่เข้าใจเหมือนกัน ฉะนั้นให้นึกถึงว่าพระองค์ท่านทรงมีพระเมตตามาตลอด พระองค์ท่านไม่อยากให้มีการลงโทษอะไรต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายนี้พระองค์ท่านไม่ได้เป็นคนออกแต่ทุกรัฐบาลเป็นคนออกกฎหมายนี้มา เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้เข้าใจด้วยพระองค์ท่านใช้กฎหมายไม่ได้ พระองค์ท่านพระราชทานอำนาจทั้ง 3 อำนาจมาให้รัฐบาลเป็นผู้บริหาร เราก็ต้องปกป้องพระองค์ท่าน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี

การออกมาแสดงความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ มีขึ้น 1 วัน หลังศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาลับตัดสินจำคุกนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพในคดีที่ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่น ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการแชร์บทความเรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์ พระองค์ใหม่ของไทย" ของเว็บไซต์บีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้รวบรวมข้อมูลการตั้งข้อหาต่อประชาชนตามมาตราดังกล่าวในช่วงสามปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปกครองประเทศ พบว่ามีอย่างน้อย 82 คน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มมากขึ้น และมีการพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรง ระบุว่าในช่วง 3 ปีมีคนถูกสอบสวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ย้ำทางการไทยต้องแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR)