ออสเตรเลียและอเมริกา “ประชาธิปไตย” ที่ ประยุทธ์ เอาอย่าง?

นายกฯ ประยุทธ์ พบเด็ก

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในระหว่างเปิดทำเนียบรัฐบาล ต้อนรับคณะเยาวชนไทยและผู้ปกครองตามโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ ครั้งที่ 11 และโครงการเยาวชนไทยในออสเตรเลียคืนแผ่นดินแม่ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แสดงความชื่นชมทั้งสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างชัดเจน มั่นคง มีเสถียรภาพทางการเมือง น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการเดินหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย

"ผมได้นำหลักการของทั้ง 2 ประเทศมาดูด้วย หลายอย่างก็มีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากพอสมควร เพราะใช้เวลามากว่า 2 ปีในการไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งสมบูรณ์ในอนาคตต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ทำให้เกิดคำถามว่าหลักการของประเทศต้นแบบประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ รวมถึงออสเตรเลีย ที่ผู้นำ คสช.อ้างว่านำมาปรับใช้คืออะไร

สหรัฐฯ ไม่มี ฉีก รธน.

"ยังมองไม่เห็นเลยว่ามีอะไรที่มาจาก 2 ประเทศนี้ เพราะถ้าให้คุณค่ากับประชาธิปไตยแบบอเมริกาจริง ย่อมต้องรู้ว่าผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง และเขาให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ แล้วจะฉีกทำไม" ผศ.ดร.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทย

ขณะที่สิ่งสำคัญของออสเตรเลีย คือการให้ความสำคัญกับแรงงานและสวัสดิการของคนข้างล่าง มีพรรคแรงงานซึ่งได้เป็นรัฐบาลในบางช่วง "แต่ไม่แน่ใจว่าการจัดการปัญหาแรงงานวันนี้ รัฐบาล คสช.ให้ค่าแค่ไหน" เขาโยนคำถามถึงรัฐบาลอีกข้อ

สิ่งที่นักรัฐศาสตร์รายนี้อยากกระตุกให้สังคมฉุกคิดจากโอวาทที่นายกฯ มอบให้เด็กๆ คือ "วิธีคิดของรัฐบาล" ที่มักอ้างถึงมิติความมั่นคงว่าต้องมาก่อนประชาธิปไตย

ที่มา : ข้อสังเกตจาก ผศ.ดร.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คืออีกหนึ่งจุดต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่ความมั่นคง-ประชาธิปไตยต้องเดินไปด้วยกัน

"ถ้าฟังสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดหลายครั้ง คือการพยายามบอกว่าต้องมีความมั่นคง ที่อยู่ทุกวันนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยในอนาคต แต่เป็นการสร้างประชาธิปไตยที่คนอื่นไม่มีส่วนร่วมกำหนดเลย" ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ผู้หญิงชูรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "ยังมองไม่เห็นเลยว่ามีอะไรที่มาจาก 2 ประเทศนี้ เพราะถ้าให้คุณค่ากับประชาธิปไตยแบบอเมริกาจริง ย่อมต้องรู้ว่าผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง และเขาให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ แล้วจะฉีกทำไม" ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ก่อนขยายรายละเอียดว่า รัฐบาล คสช.ได้วางโครงสร้างการเมืองหลายอย่างเพื่อลดทอนความสำคัญของนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน ทำให้สถาบันการเมืองไม่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติที่คลุมเครือว่าในอนาคตพรรคการเมืองจะมีบทบาทอย่างไร

ร่าง รธน. "ด้วยอคติ" ทำ "ประชาธิปไตยกลายพันธุ์"

ทั้งหมดคือสิ่งที่ถูกบัญญัติลงรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งนายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ผู้ศึกษาเรื่องการออกแบบสถาบันทางการเมืองของไทย ให้ความเห็นว่าในประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง ถ้าต้องออกแบบการเมือง ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ก็มักไปดูระบบของประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของตน

เขาชี้ว่า หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ คือหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ทำให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ซึ่งไทยเคยนำมาปรับใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้ผู้ตำแหน่งรัฐมนตรีต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. แต่ถูกยกเลิกไปด้วยรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังเกิดปัญหา "ครม. ทาส" เนื่องจากไปเพิ่มอำนาจให้หัวหน้าพรรคใหญ่ผูกขาดอำนาจได้ทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ภาพรัฐสภาของออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพรัฐสภาของออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา

ขณะที่จุดเด่นของออสเตรเลียอยู่ที่ระบบเลือกตั้ง ซึ่งผู้แทนฯ ของออสเตรเลียต้องชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเกินร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ และให้ประชาชนเป็นผู้จัดอันดับคะแนนของผู้สมัคร ทำให้ทุกเสียงถูกนำมาคำนวณ ทั้งนี้ในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็มีการศึกษา-มีข้อเสนอให้นำ "ออสเตรเลียโมเดล" มาปรับใช้ แต่ข้อเสนอตกไป เพราะเกรงว่าคนไทยอาจยังไม่พร้อมกับระบบที่ซับซ้อน

แม้ "ลอกเลียน-ดัดแปลง" ประชาธิปไตยมาจากสากล แต่หลายครั้ง ชนชั้นนำ-ผู้มีอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญจงใจ "ตัดตอน" บางส่วนด้วยฐานคิดแบบมีอคติ จนประชาธิปไตยเกิดการ "กลายพันธุ์"

นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า หากเปิดใจกว้าง มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ก็มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับประชาชน ทำให้แต่ละเสียงถูกให้คุณค่า-มีความหมาย ไม่ใช่ทำเป็นพิธีกรรม หรือเป็นตราประทับ

มีชัย ฤชุพันธ์ โชว์ร่าง รัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Getty Images

"แต่ถ้าอยู่บนฐานอคติ คิดว่าประชาชนยังไม่พร้อม ก็ต้องมีพี่เลี้ยงคอยกำกับ คอยชี้แนะ ก็จะไปลดจุดแข็งที่ประเทศอื่นใช้แล้วประสบความสำเร็จ หรือถ้ามองนักการเมืองอย่างมีอคติ เขาก็จะวางกลไกจัดการควบคุมนักการเมือง นั่นเท่ากับบิดเบือนเจตนารมณ์ เอามาใช้อย่าง 'กลายพันธุ์' เพราะระบบส่วนใหญ่ที่ใช้ในโลกนี้ถูกคิดจากประชาธิปไตยที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง" นายสติธรกล่าว

กรธ.แจงลอก รธน.สากลทั้งหมดไม่ได้

ในยุคสร้าง "ประชาธิปไตยแบบมีธรรมาภิบาล" ที่ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำหนักหนาว่าต้องไปให้ถึง ทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ผู้ยกร่างเรียกว่า "ฉบับปราบโกง" วางกลไกสกัด "เผด็จการรัฐสภา" ทว่ากลับไม่มีปราการป้องกันการสืบทอดอำนาจของ "เผด็จการทหาร"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยอธิบายไว้ในโอกาสแรกๆ หลังรับหน้าที่ว่า "เผด็จการทหารมาชั่วคราว มาแล้วก็ไป สั้นมาก แต่ในทางสภาจะอยู่กับเรายาว และถ้าเผด็จการรัฐสภาเกิดขึ้น มันจะยิ่งกว่าเผด็จการทหาร เพราะมีสภาเป็นเครื่องมือ"

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยไทย "กลายพันธุ์"?

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่ในความเห็นของนายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการ กรธ. ที่บอกกับบีบีซีไทย คือประชาธิปไตยของทุกประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หลักใหญ่ใจความของประชาธิปไตยอยู่ภายใต้ 3 หลักคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก็ตอบโจทย์ทุกข้อ

"ตอนทำรัฐธรรมนูญ เราศึกษาดูทุกประเทศทั่วโลก แต่เราลอกมาทั้งหมดไม่ได้ เพราะเราเคยลอกมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่มันไปไม่ได้ เพราะคนไทยกัยคนชาติอื่นๆ มีบริบทต่างกัน สิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยสหรัฐฯ และออสเตรเลียมีเสถียรภาพ เพราะพลเมืองมีวินัย เคารพกติกา และไม่ใช้วิธีนอกระบบ" นายปกรณ์กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนายสติธรที่ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต้นแบบประชาธิปไตย เกิดจาก "ความอดทนต่อการบังคับใช้กติกา"

หญิงสาวเศร้ากับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีที่แล้ว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ตามความเห็นของนายสติธร เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต้นแบบประชาธิปไตย เกิดจาก "ความอดทนต่อการบังคับใช้กติกา"

"เขาอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมี 'ประชาธิปไตยในสภาวะฉุกเฉิน' คือเอากติกาไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ แล้วค่อยบอกว่าเรากำลังจะสร้างประชาธิปไตย" นายสติธรกล่าว

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร ก็อาจไม่มีผลต่ออายุประชาธิปไตยของไทย เพราะหลายครั้งเมื่อรัฐธรรมนูญถึง "ทางตัน" มันก็ถูกฉีก ตราบที่คนไทยยังไม่อดทน-ไม่ยอมรับกติกา