ฟังความจากฝ่ายคนถูก ’ล็อกคอ’: “...อำนาจนิยม ไม่ได้มองนิสิตเป็นมนุษย์อย่างตัวเอง”

Netiwit Chotiphatphaisal/Student Council of Chulalongkorn University

ที่มาของภาพ, Netiwit Chotiphatphaisal/Student Council of Chulal

คำบรรยายภาพ, นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ

นิสิตจุฬาฯ ที่ถูกอาจารย์ล็อกคอในพิธีถวายสัตย์ฯ ยัน ไม่มีการจัดฉาก ระบุ อยากให้เหตุการณ์เป็นบรรทัดฐานของสิ่งที่เกิดจาก "ระบบอาวุโส" ในสังคมไทย

นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า การเดินไปโค้งคำนับพระบรมรูป 2 รัชกาล ของเขา นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตฯ และเพื่อน ๆ เกิดขึ้นหลังจากพิธีการจบแล้ว ไม่ใช่การจงใจ "ป่วน" ซึ่งตรงกันข้ามกับแถลงการณ์ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเมื่อวานนี้ว่า "...มีข้อตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะมาแสดงความเคารพเมื่อกระบวนการถวายบังคมเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่กลุ่มของสภานิสิตฯ ไม่ได้เคารพข้อตกลงนั้นและพยายามจะจัดฉากให้ปรากฏภาพที่ขัดแย้งตรงข้ามกันระหว่างการถวายบังคมและการคำนับ"

Netiwit Chotiphatphaisal

ที่มาของภาพ, Netiwit Chotiphatphaisal

คำบรรยายภาพ, นิสิตที่โดนล็อกคอดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภานิสิตจุฬาฯ

นายศุภลักษณ์ระบุว่า: "คิดว่าน่าจะเป็นการบันดาลโทสะ ...เสียใจ ผิดหวัง ก็ทราบอยู่แล้วว่าทุกที่มีอาจารย์ที่อำนาจนิยม ไม่ได้มองนิสิตเป็นมนุษย์อย่างตัวเอง แต่ว่าไม่คิดว่าจะถึงขั้นใช้กำลัง"

เขากล่าวต่ออีกว่า ในสังคมไทยนั้น ผู้ใหญ่ส่วนมากก็อาจจะเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว "เป็นวัฒนธรรมไทย ระบบอาวุโส ฉันเป็นผู้ใหญ่ ฉันถูก อะไรเงี้ย"

รศ.ดร. บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้รับผิดชอบการจัดงาน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ว่า ผศ. เรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ กระทำการดังกล่าวด้วยความ 'ประสงค์ดี' ต่อสวัสดิภาพของนิสิต ในเวลาต่อมา รศ.ดร.บัญชา ระบุในแถลงการณ์ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยว่า ขอโทษแทนอาจารย์คนดังกล่าวที่ "อาจจะทำอะไรเกินไป" แต่ก็ย้ำว่า "ต้องให้ความยุติธรรมและให้การเคารพข้อตกลงซึ่งมีต่อกันและกัน สำคัญที่สุดคือต้องจริงใจต่อกันด้วย"

คำบรรยายวิดีโอ, เหตุการณ์อาจารย์จุฬาฯ พยายามเข้าหานิสิตจุฬาฯ

เหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างแพร่หลายในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการพฤติกรรมของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ ไปจนถึงการให้การที่แตกต่างกันของหลายฝ่ายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ "ราโชมอน" (สถานการณ์ที่มีการตีความและเล่าเรื่องถึงเหตุการณ์เดียวกันอย่างขัดแย้งกันซึ่งมีที่มาจากชื่อจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นโดยผู้กำกับ อาคิระ คุโรซาวา เมื่อปี 1950)

รศ.ดร. บัญชากล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้จัดพื้นที่ได้จัดพื้นที่ไว้ให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะถวายบังคมแล้ว และทางผู้จัดงานก็ไม่ได้ว่าอะไรหากนิสิตคนใดจะไม่มาร่วมงาน แต่นายศุภลักษณ์ระบุว่า มีการประชาสัมพันธ์ในเพจเฟซบุ๊ก "CU for Freshman" ถึงพื้นที่ดังกล่าวว่าจัดให้สำหรับนิสิตที่มีข้อห้ามทางศาสนา แต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์ทำการถวายบังคมแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงการถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงเอง นายศุภลักษณ์ชี้ว่า รศ.ดร. บัญชา ต่างหากที่เป็นผู้ผิดสัญญา เขากล่าวว่าก่อนหน้านี้นานแล้ว ได้ตกลงกับท่านรองอธิการบดีฯ ว่าจะไม่มีการตรวจเรื่องสีผม เล็บ และเครื่องประดับ ของนิสิตที่จะเข้าร่วมพิธีการ

"เขาบอกเองว่าเรื่องเล็กน้อย ตรวจด้วยเหรอ เดี๋ยวอาจารย์จัดให้" นายศุภลักษณ์ระบุ และเล่าว่าทางผู้จัดงานมาเปลี่ยนคำสั่งใหม่เพียงไม่นานก่อนวันพิธีการ

"นี่ขนาดกลางที่สาธารณะขนาดนี้ยังทำแบบนี้ เคสอื่นถ้าจับภาพไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น ผมอยากให้เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป แต่ก็นั่นแหละ อาจารย์ท่านนั้นถูกสังคมลงโทษแล้ว และผมค่อนข้างเสียใจอีกอย่างคือ จนป่านนี้ไม่มีใครจากทางคณะเศรษฐศาสตร์หรือทางจุฬาฯ ติดต่อมาเลย ทั้งๆ ที่ถูกล็อกคอ นี่สินะเป็นห่วงสวัสดิภาพเหมือนที่แถลงข่าว" นายศุภลักษณ์ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

Netiwit Chotiphatphaisal

ที่มาของภาพ, Netiwit Chotiphatphaisal

คำบรรยายภาพ, อาจารย์คนดังกล่าวคือ ผศ. เรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์

เมื่อถามว่าการแสดงออกดังกล่าวเป็นการ "เรียกร้องความสนใจ" หรือเปล่า นายศุภลักษณ์ไม่ได้ปฏิเสธซะทีเดียว และย้ำว่านี่เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์

"พิธีนี้เป็นพิธีที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ เริ่มขึ้นในปี 2540 ไม่ใช่ทำกันมานานตั้งแต่สมัยนู้นแล้วแบบที่อ้างกัน หากพิจารณาตามพระราชกิจจานุเบกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ระบุชัดเจนว่าให้ยกเลิกการถวายบังคมและหมอบกราบ" นายศุภลักษณ์ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่านี่เป็น "ราโชมอน" ตอน "เนเน่ผิด จุฬาฯ พลาด"

รศ.ดร. เจษฎา ระบุว่า เห็นได้ชัดว่าการจัดงานในปีนี้มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่เนติวิทย์เรียกร้องแล้ว คือ "ไม่ได้มีการหมอบกราบลงไปกับพื้นแล้ว แต่เป็นการถวายบังคมเท่านั้น คือ นั่งคุกเข่าบนส้นเท้า พนมมือ และยกมือขึ้นจรดหน้าผาก"

สาเหตุหลักที่เนติวิทย์และเพื่อน ๆ ตัดสินใจเดินออกไปโค้งคำนับพระบรมรูป 2 รัชกาล มาจากการทนไม่ได้ที่ผู้จัดงานให้นิสิตหมอบกราบถวายบังคมขณะฝนตก แต่ รศ.ดร. เจษฎา ได้ให้อภิปรายเรื่องลำดับเหตุการณ์ไว้ว่า "...เนื่องจากบรรยากาศฝนตั้งเค้ามาแต่วัน ทำให้พิธีถูกกระชับเข้ามา และดำเนินพิธีจริงอย่างรวดเร็ว "ก่อนฝนจะตกหนัก"..."

Netiwit Chotiphatphaisal

ที่มาของภาพ, Netiwit Chotiphatphaisal

รศ.ดร. เจษฎา กล่าวว่าอาจารย์คนดังกล่าวผิดจริง ๆ ที่มีกริยาและพูดไม่สุภาพเช่นนั้น แต่เนติวิทย์ก็ผิดเช่นกัน

"เมื่อเนเน่ (เนติวิทย์) และพวกลุกออก แทนที่จะเดินออกด้านข้าง ไปยังเต็นท์ด้านข้างริมขอบสนามเพื่อกลับบ้านหรือกลับตึกจุลฯ แต่กลับเดินตัดเข้ามาด้านหน้าของพิธี ไปยังพระรูปสองรัชกาล ซึ่งรวมถึงคณาจารย์ผู้บริหารและสื่อมวลชนยืนอยู่ด้านนั้น"

"ชัดเจนว่า ต้องการประท้วง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ป่วนการจัดงาน และต้องการให้เป็นข่าว"

รศ.ดร. เจษฎา ระบุว่า แม้เขาเองจะสนับสนุนแนวทางของเนติวิทย์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขา

"เรามีตำแหน่งอันทรงเกียรติคือประธานสภานิสิตฯ อยู่ด้วย จะทำอะไร ควรคิดถึงชื่อเสียงระยะยาวขององค์กรด้วย"

"สิ่งที่ผมสงสัยคือ สิ่งที่ทำไปทั้งหมดนั้นเป็นมติของสภาฯ มาก่อนหรือเปล่า ...ถ้าไม่เคยมีมติ และถ้าผมเป็นสมาชิกสภาฯ อยู่ ผมจะขอใช้สิทธิตั้งกระทู้ถาม ไปจนถึงขอตั้งอนุกรรมการสอบเรื่องนี้ และถ้าพบว่าทำให้สภาฯ เสียหาย ผมจะใช้สิทธิขอถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วย" รศ.ดร. เจษฎา ระบุทิ้งท้าย