ทิลเลอร์สันเยือนไทย: เรา กับ เขา หวัง อะไรกัน

ทิลเลอร์สัน-ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหรัฐอเมริกา และ ไทย คาดหวังอะไรจากการเยือนกรุงเทพฯ ในวันอังคารนี้ (8 ส.ค.) ของ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว. ตปท. สหรัฐฯ เขาคือ เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีว่าการคนแรกของรัฐบาลอเมริกันที่มาเยือนไทยหลังรัฐประหาร 2557

ความคาดหวังฝั่งอเมริกัน

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ แถลงในเอกสารว่าการเยือนประเทศไทยของนาย ทิลเลอร์สันในวันที่ 8 ส.ค. นี้ เพื่อ ถวายบังคมพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่นักการทูตรายหนึ่งกล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อยากจะให้ความสัมพันธ์กับประเทศไทยมี "ความหมายในเชิงยุทธศาสตร์" มากกว่าที่ผ่านมา ให้สอดรับกับสถานการณ์ของภูมิศาสตร์ทางการเมืองในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนไป

นายทิลเลอร์สัน (กลาง) พบกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย (ขวา) รมว.ตปท. ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, นายทิลเลอร์สัน (กลาง) พบกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย (ขวา) รมว.ตปท. ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์

สิ่งที่นักการทูตใหญ่จากวอชิงตันจะบอกกับผู้นำรัฐบาลทหารของไทย คือ สหรัฐฯ อยากให้ความเป็นพันธมิตรแบบมีพันธสัญญาหรือ treaty ally (ซึ่ง ไทย เป็น 1 ใน 5 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีกับสหรัฐอเมริกา) มีความหมายต่อสถานการณ์ที่สหรัฐฯ กำลังจะแข่งขันทางอำนาจกับจีนและจัดการกับปัญหาสำคัญในภูมิภาคที่สำคัญ 2 เรื่องคือ คาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ซึ่งมีจีนเป็นผู้เล่นสำคัญทั้งคู่

"เข้าใจว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะฝากคำพูดบางประการมาหาผู้นำไทยด้วยเพื่อจะยืนยันว่า คำเชิญทางโทรศัพท์เมื่อเดือนเมษายนตอนที่ทรัมป์รับตำแหน่งครบ 100 วันนั้นเป็นเรื่องจริงจังมากว่าเชิญเพื่อนไปกินข้าวกลางวัน" นักการทูตผู้นี้กล่าว

พันมิตรที่เก่าแก่

เว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศของไทย ระบุว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยในปีดังกล่าว ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ของสหรัฐฯ (ดำรงตำแหน่งปี 2372-2380) ได้ส่งนายเอ็ดมันด์ โรเบิตส์ เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้น โดยภารกิจสำคัญของนายโรเบิตส์ คือการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทย

ไทย-สหรัฐฯ มีสายสัมพันธ์มายาวนาน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ไทย-สหรัฐฯ มีสายสัมพันธ์มายาวนาน

ทั้งโอบ ทั้งตี

หลังการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในไทยเมื่อ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สั่งระงับความช่วยเหลือด้านการทหารแบบให้เปล่าแก่ไทย ระงับการเยือนในระดับรัฐมนตรีว่าการฯ ขึ้นไป แต่ยังคงระดับความร่วมมือทางการทหาร ด้านการซ้อมรบ และขายอาวุธ และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี จัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วเพื่อคืนอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือน

ประยุทธ์ - โอบามา

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐบาลทหารของไทย กลับไม่ให้ความสนใจมากนัก หันมาให้ความสำคัญกับรัฐบาลจีนมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และการทหาร ในขณะที่โลกเผชิญกับภัยคุกคามของการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ จนทำให้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันกลับมาให้ความสนใจไทยมากขึ้น

สายตรงจากวอชิงตัน

สามเดือนเศษ หลังรับตำแหน่งเป็นทางการ ทรัมป์โทรหา พล.อ.ประยุทธ์ และ นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ เชิญให้มาเยือนวอชิงตัน เพื่อกระชับสัมพันธ์และขอการสนับสนุนในศึกพิพาทกับเกาหลีเหนือ

คำเชิญดังกล่าว ทำให้ฝ่ายไทยพยามขอไปเยือนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่วอชิงตันเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นอาการ "ใจเร็วด่วนได้" หรือ "jump the gun" เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้เตรียมการอะไรเลย

"เราอยากให้ผู้นำทั้งสองประกาศอะไรสักอย่างที่มีความหมายทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคตอนพลเอกประยุทธ์ไปเยือน...ไม่ใช่แค่ไปกินข้าวกันสักมื้อแล้วก็กลับ"

"สองคน ยลตามช่อง" เกาหลีเหนือ

การตอบสนองของไทยเรื่องเกาหลีเหนือแบบ "เสียไม่ได้" และการซื้ออาวุธจากจีนอย่างขนานใหญ่ ทำให้วอชิงตันตีความว่า ไทยมุ่งหน้า "เล่นไพ่จีน" แม้ว่าฝ่ายไทยโต้แย้งเสมอว่า การคว่ำบาตรของไทยต่อเกาหลีเหนือคงไม่ช่วยอะไรได้มากนัก เพราะมีแต่ "ล็อกซ์เล่ย์" เท่านั้นที่ไปลงทุนในเกาหลีเหนือ ทั้งมูลค่าการค้าสองฝ่ายก็เพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่สหรัฐฯ มองเห็นคือ ไทยผูกพันและค้าขายกับจีนมากและการค้าของเกาหลีเหนือ 90 เปอร์เซ็นต์นั้นผูกพันอยู่กับจีน

"ถ้าประเทศที่ค้าขายกับจีนแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไม่ทำธุรกิจกับบริษัทของจีนที่ทำธุรกิจกับเกาหลีเหนือด้วย มาตรการแบบนั้นจะส่งผลต่อเกาหลีเหนือได้อย่างแน่นอน" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือรายหนึ่งกล่าว และว่า นั่นคือสิ่งที่วอชิงตันคาดหวังว่าพันธมิตรอย่างไทยจะทำ

เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอร์ค

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับการรัฐประหารในปี 2549 การค้าขายอาวุธระหว่างไทย-สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อ เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอร์ค จากสหรัฐฯ

นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 การค้าขายอาวุธระหว่างไทยและสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 960 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย เฮลิคอปเตอร์ UH60 แบล็กฮอร์ค, ฮ.UH 72 ลาโกตา, ขีปนาวุธ ESSM, ปรับปรุงเครื่องบิน F-16, เรือเอนกประสงค์และตอปิโดว์ แม้แต่ตอนเกิดรัฐประหารแล้วมีการตัดความช่วยทางทหารส่วนหนึ่งและสมัยโอบามาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างหนัก สถานทูตสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า หลังปี 2557 สหรัฐฯ ขายยุทโธปกรณ์ให้ทหารไทยผ่าน Foreign Military Sale (FMS) มีมูลค่ามากถึง 380 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉพาะปีนี้ ไทยและสหรัฐฯ ทำความตกลงซื้อขายอาวุธกันไปแล้วมูลค่าถึง 133 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ รวมทั้ง ขีปนาวุธ Harpoon Block II และเฮลิคอปเตอร์แบลกฮอร์คที่อยากจะได้มาเพิ่มเติมเป็นมานาน นี่ยังไม่พูดถึงแผนใหม่ล่าสุดที่จะปรับปรุงเครื่องบินรบเอฟ 5 อีกด้วย

ความคาดหวังฝั่งไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวันนี้ว่า นอกจากเรื่องความมั่นคงแล้ว นายทิลเลอร์สันจะหารือเรื่องการค้าและการลงทุนกับฝั่งไทยด้วย ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ของไทยหวังว่า แนวโน้มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกสหรัฐฯ ออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าได้

ไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯในครึ่งแรกของปี 2560 ลดลงมาที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากยอด 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการขาดดุลการค้ากับ ไทย และอีก 15 ประเทศ โดยในปี 2559 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐราว 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ

ทรัมป์ - ทิลเลอร์สัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่อมาในเดือน พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ยื่นเอกสารข้อมูลและคำชี้แจง ต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ ถึงสาเหตุที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทย โดยระบุว่า สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลการค้ากับไทยเพียง 1.5% ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ

ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 7.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 7% ส่งผลให้ยอดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลงมาที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่เกินดุล 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ รอยเตอร์ว่า แนวโน้มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของไทย ในการถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ ว่าเป็นประเทศที่มีการปกป้องค่าเงิน เพื่อประโยชน์ทางการค้าของตัวเองด้วย

สำหรับปีนี้การนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่พิ่มขึ้นมาจากสินค้าเครื่องบิน และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่ง 40% ของสินค้าส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทอเมริกันในไทย