ไทยเดินหน้าจัดการคดีหมิ่นฯ ไม่สนเสียงเรียกร้องนานาชาติ

รูปในหลวง ร9

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐบาลทหารของไทย เดินหน้าจัดการขั้นรุนแรงกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ไม่สนเสียงเรียกร้องนานาชาติ นับแต่หลังรัฐประหาร 2557 มีผู้ถูกตั้งข้อหา ม. 112 ไปแล้วกว่าร้อยราย ล่าสุด วันนี้ (9 ส.ค.) ศาลทหารสั่งจำคุกพ่อค้ายาสมุนไพร ชาวนครปฐม รวม 20 ปี

ในวันนี้ ศาลทหารกรุงเทพ ได้นัดฟังคำพิพากษาคดี ม. 112 ของนายธารา (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องว่า เอาลิงก์ของคลิปเสียงเครือข่าย "บรรพต" ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์เรื่องสุขภาพของตนเองจำนวน 6 ครั้ง โดยเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558

ไอลอว์ ระบุว่า ศาลพิเคราะห์การกระทำของจำเลย แล้วว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม. 14 (1) (3) (5) ให้ลงโทษบทหนัก คือ ม. 112

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือกรรมละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยกระทำความผิดคิดเป็น 6 กรรม รวมโทษจำคุกเป็น 18 ปี 24 เดือน โดยเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558

ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อมวลชน (ซีพีเจ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหานายประวิตรในทันที

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อมวลชน (ซีพีเจ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหานายประวิตรในทันที

คำพิพากษามีขึ้น 1 วัน หลังจากเมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวของข่าวสดอิงลิช ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาความผิดในข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 116 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว

ขณะที่ในวันนี้ (9 ส.ค.) องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรคุ้มครองสื่อระดับโลกเดินหน้าเรียกร้องทางการไทยยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และดำเนินคดีกับกลุ่มผู้เห็นต่าง

ข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพี และเว็บไซต์ไอลอว์ ซึ่งให้ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ระบุว่า นับแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ถูกตั้งข้อหาในความผิดตาม ม. 112 และ 116 แล้วกว่า 100 ราย

ขณะเดียวกันในวันนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด มีความผิดฐานขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. โดยสั่งจำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี

บก.ลายจุด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด มีความผิดฐานขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช.

ส่วนเมื่อวานนี้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช พร้อมด้วยทนายความเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาความผิดใน ม. 116 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ

เว็บไซต์ประชาไท รายงานอ้างนายประวิตรที่กล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ตนได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. อย่างสุดใจ เป็นไปตามสิทธิของสื่อมวลชนและพลเมืองที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเป็นการรักษาพื้นที่การแสดงออกของสื่อและพลเมืองที่มีอยู่น้อยนิด เสรีภาพนั้นจะไม่สามารถปกป้องได้ หากไม่พร้อมที่จ่ายมันด้วยราคาที่มาก ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองและสื่อ ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกอันน้อยนิดในสังคมไทยกรณีที่เกิดขึ้นทำให้ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อมวลชน (ซีพีเจ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยถอนข้อหานายประวิตรในทันที และปล่อยให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างเสรี โดยไม่มีการคุกคามสื่อไปมากกว่านี้

คำบรรยายวิดีโอ, ย้อนคดีหมิ่นฯโทษหนัก ผลักยูเอ็นเรียกร้องไทยแก้ กม.

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช. ยุติการคุกคามและละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยชี้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา คสช. ได้ใช้อำนาจในการออกประกาศ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการ และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็มิได้ผ่อนคลายลงแต่อย่างใดกลับมีกระบวนการที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และฝ่ายต่าง ๆ เพื่อปิดปากประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลไปตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด