“กฎหมายนี้ออกมาเพื่อฆ่านายจ้าง”ฟังเสียงเอสเอ็มอีไทยหลังแรงงานแห่กลับ

แรงงานพม่าทยอยเดินทางกลับประเทศ

ที่มาของภาพ, EPA

พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกต่อแรงงานข้ามชาติ จนเกิดปรากฏการณ์แห่กลับบ้านตามแนวพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตัดสินใจใช้มาตรา 44 ยืดเวลาบังคับใช้ออกไป 180 วัน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่าง ๆ

ผู้ประกอบการร้านข้าวผัดชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ต้องใช้เวลาหลังเลิกงานตีสอง คุยกับลูกจ้างแรงงานพม่าในร้าน เพื่อลดความวิตกกังวล ต่อกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ที่มีบทลงโทษหนักหน่วงรุนแรงทั้งต่อนายจ้างและลูกจ้าง

พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ถูกต้องอาจถูกปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ทำให้นายจ้างบางส่วนเลิกจ้างแรงงานที่ไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตก็มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

เจ้าของร้านผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อรายนี้ มีแรงงานข้ามชาติเป็นลูกจ้างราว 200 คน ในร้านอาหาร 3 สาขา เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ภายใน 1 สัปดาห์หลังประกาศใช้ พ.ร.ก. มีลูกจ้างชาวพม่าในร้านอาหารเก็บของกลับประเทศไปแล้ว 15 คน เพราะกลัวถูกตำรวจจับตามข่าวที่แพร่สะพัดในหมู่แรงงานชาวพม่า สิ่งที่นายจ้างอย่างเขาต้องทำคือจ่ายค่ารถให้ลูกจ้างเหล่านี้คนละ 3,500-4,000 บาท

ช่วงที่กระแสแรงงานตื่นตระหนก ลูกน้องถึงกับยื่นโทรศัพท์มือถือ-เปิดข้อความในไลน์ให้ดูทุกวัน "เฮีย ๆ นี่ มีจับอีกแล้ว" นี่เป็นความหวั่นใจของแรงงานพลัดถิ่น

เขาบอกว่า ยังมีลูกจ้างในร้านอยากกลับบ้านอีกหลายชีวิต ขณะที่บางคนถูกครอบครัวที่ประเทศเมียนมาโทรตามให้กลับบ้าน

"ตอนนี้แค่เบรกยังไงก่อนไม่ให้แรงงานพวกนี้ไหลกลับ ช่วยบอกให้พ่อแม่ทางบ้าน (ของแรงงาน) รู้หน่อยว่า ไม่ต้องเรียกกลับ ทางนี้จะทำให้ถูกต้อง" เจ้าของร้านอาหารบอกถึงภาวะอ่อนไหวของแรงงาน ที่ต้องเร่งสร้างความมั่นใจหยุดความกลัวของลูกจ้างให้ยังอยู่ทำงานต่อ

แรงงานพม่าที่มหาชัย

ที่มาของภาพ, Reuters

แรงงานย้ายที่ตลอดเวลา แต่ต้นทุนทำให้ถูกกฎหมาย "แพง"

คำถามว่าทำไมไม่ทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมด เขาอธิบายว่า ธรรมชาติของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเคลื่อนย้ายเปลี่ยนสถานที่ทำงานตลอดเวลา บางคนมาเจอกัน แต่งงานอยู่กินกันได้ 1 เดือนก็กลับประเทศ ขณะที่การนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนเอ็มโอยูมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคนละ 16,000-20,000 บาท นายจ้างจึงต้องแน่ใจว่าจะทำงานที่ร้านนานหรือไม่ เพราะทุกอย่างเป็นต้นทุนที่คนทำร้านต้องแบกรับ

"ต้องมั่นใจว่าเด็กจะทำงานได้ แสดงฝีมือให้เห็น ขยัน พูดจารู้เรื่อง ดูกันไป 6-7 เดือน ถ้ารับมาเดือนนึง ไปทำให้ก่อน ก็ไม่รู้จะอยู่นานแค่ไหน และถ้าจะใช้พวกที่มี (ใบอนุญาตแบบ) เอ็มโอยูมาแล้ว มาถึง ก็ไม่ชัวร์ว่าทำงานได้หรือเปล่า ทำร้านอาหารต้องฝึกกันเป็นปี ๆ"

ผู้ประกอบการรายนี้ ร่ายยาวขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งแรงงานกลับไปขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายว่า ต้องว่าจ้างผ่านบริษัทหางานให้ส่งตัวแรงงานกลับไปที่เมียนมา เพื่อไปทำเอกสารที่ย่างกุ้ง บางคนไม่มีแม้กระทั่งบัตรประชาชน ก็ต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น ค่าใช้จ่ายก็แล้วแต่ว่า ต้องทำเอกสารเยอะแค่ไหน เบ็ดเสร็จใช้เวลา 3-4 วัน บางช่วงต้องส่งไปทำล่วงหน้าก่อนพาสปอร์ตและวีซ่าทำงานหมดอายุ เพื่อไม่ให้คนงานที่ร้านขาดช่วงจนกระทบการเปิดร้าน

แรงงานพม่าทยอยเดินทางกลับประเทศ

ที่มาของภาพ, Reuters

"ค่าใช้จ่ายแต่ละคนมีตั้งแต่ 15,000, 18,000 ถึง 20,000 บาท เพราะบางคนไม่เคยขอมีบัตรมาก่อน ที่ผ่านมา ต้องสลับกันส่งกลับไปทำให้เสร็จ ต้องดูไม่ให้คนขาดด้วย ล็อตนึงจะไปทำก็นั่งรถออกจากกรุงเทพฯ 3 ทุ่ม ไปถึงแม่สอด ตี 4 ตี 5 ข้ามไปฝั่งพม่า ขึ้นรถทัวร์ไปย่างกุ้ง ออก 9 โมงเช้า แล้วถึงย่างกุ้งเช้ามืดอีกวัน" เจ้าของร้านอาหาร เล่าขั้นตอนการส่งแรงงานกลับไปขึ้นทะเบียน

เขาบอกว่า นอกจากเสียค่าใช้จ่ายคนละเกือบ 20,000 บาท ยังจ่ายอีก 10,000 เป็นเงินเดือนเผื่อไปด้วยอีก 2 เดือน ในช่วงที่รอเอกสารที่บ้านเกิด เพื่อจูงใจและรับประกันว่าจะยังกลับมาทำงานที่ร้านอีก

"ต้องให้ไว้เพื่อความมั่นใจว่าเราจะไม่เสียเงินฟรี"

กฎหมายนี้ออกมาเพื่อ "ฆ่านายจ้าง"

แม้จะมีต้นทุนค่าหัวและต้องใช้ขั้นตอนเยอะ เขายอมรับว่า ในฐานะคนทำมาค้าขาย ทุกคนอยากทำให้ถูกกฎหมาย ไม่มีใครอยากติดคุก แม้ค่าใช้จ่ายสูง แต่กับกฎหมายใหม่นี้ก็ต้องยอม เมื่อคิดว่าหากถูกจับและโดนโทษปรับสูงสุดถึง 800,000 บาท แต่สำหรับร้านอาหารขนาดเล็กตามตึกแถวที่ทุนไม่หนาเท่า เขาชี้ว่า "ยังไงก็ไม่ไหว" ในมุมของเจ้าของธุรกิจ เขาบอกว่า "กฎหมายนี้ออกมาเพื่อฆ่านายจ้าง"

"ปรับคนเดียว ยอมจ่ายตรงนี้ดีกว่า เราอยากทำงาน อยากค้าขาย ไม่อยากปิดร้าน ไม่อยากติดคุก ผมมีอีกกว่า 20 คน ที่ยังต้องพาไปทำ ถ้าโดนจับปรับหมดนี่ ต้องเสีย 16 ล้าน " เขากล่าวและว่า ต้องเร่งจดทะเบียนให้ทันกำหนด ก่อนกฎหมายที่ คสช.ยืดเวลาไว้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2561

แนะรัฐปรับวิธีใหม่ ลดค่าใช้จ่ายนายจ้าง

หากสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งแรงงานกลับไปขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนเดิม นายจ้างพร้อมทำ เจ้าของร้านอาหารรายนี้ เสนอตั้งศูนย์รับออกวีซ่าพาสปอร์ตเอ็มโอยู คล้ายกับศูนย์ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว (บัตรสีชมพู) โดยนำเจ้าหน้าที่สถานทูตของประเทศแรงงานมาดำเนินการในกรุงเทพฯ อำนวยความสะดวกให้นายจ้างลูกจ้าง ทั้งนี้ หากรัฐมีปัญหาค่าใช้จ่าย เชื่อว่าเก็บเอากับนายจ้างและลูกจ้างก็สามารถรับได้ เพราะอย่างน้อยก็ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งแรงงานไปทำให้ถูกกฎหมายที่ประเทศต้นทางได้แล้ว 5,000-6,000 บาท ทั้งร่นระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนด้วย