สุเทพ: “สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความเป็นไปได้คือ พล.อ.ประยุทธ์”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ท่ามกลางเสียงเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น "นายกฯ คนนอก" เสียงที่มีน้ำหนักที่สุดหนีไม่พ้นเสียงของ "พันธมิตรใกล้ชิด" อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำมวลชนที่เคยสร้างชื่อจากการเป็น "ผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์" วันนี้เขานั่งคำนวณสูตรการเมือง ก่อนประกาศตัวเป็น "ผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์"

สถานะนักการเมืองอาชีพของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จบลงในปีที่ 35 หลังทำหน้าที่ในสภามา 12 สมัย ในฐานะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี-บัญชีรายชื่อ เป็นรัฐมนตรีมา 4 สมัย

เขาเลือกเกษียณการเมืองบนถนน ด้วยการเป็นผู้นำการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นาน 204 วัน ก่อนได้สถานะใหม่ เป็น "ลุงกำนัน" และกลายเป็นจุดพลิกชีวิตของเขาไปตลอดกาล

ถึงวันนี้เขาเป็นหลายอย่าง ทั้งประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปแห่งประเทศไทย ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และยังเป็นจำเลยกว่า 2 พันคดี ส่วนใหญ่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 และผู้นำมวลชนขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556-2557

แต่บทบาทสำคัญที่เขาเลือกจะเป็นในวันนี้-ในวัย 68 ปีเต็มคือ "ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

"สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความเป็นไปได้คือ พล.อ.ประยุทธ์" คือคำพูดของนายสุเทพ ที่ถูกบอกเล่าผ่าน "คนร่วมบ้าน" อย่างนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ บุตรชายของนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ กับนางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภริยาคนปัจจุบันของนายสุเทพ ซึ่งอยู่ในสถานะบุตรบุญธรรม ที่เดินตามรอยเท้าของนายสุเทพเข้าสู่สนามการเมือง เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษก กปปส.

ประโยคที่อ้างถึงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นข้อสรุปที่ได้จากการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ โดยกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบใช้ตัดสินทั้ง ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งนายสุเทพเชื่อว่าไม่น่าจะมีพรรคไหนใหญ่พอจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เมื่อบวกกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ ซึ่งให้สิทธิ ส.ว. ลงมติเลือกนายกฯ และเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มี "นายกฯ คนนอก" ได้

สูตรการเมืองหลังการเลือกตั้งจึงลงตัวในระดับหนึ่ง

"โอกาสที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกันตั้งรัฐบาล เป็นไปได้ยาก เมื่อไม่มีขั้วไหนได้เสียงเกินครึ่ง ก็ต้องไปพึ่งเสียง ส.ว. 250 คน ซึ่งถือเป็นพรรคใหญ่สุดก็ว่าได้ เพราะมีเสียงมากที่สุด ที่สุดแล้วก็อาจจะต้องเป็นนายกฯ คนนอกที่มีความเด็ดขาด และคนนั้น ท่านก็คิดว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์" นายเอกนัฏกล่าวกับบีบีซีไทย

ยิ่งลักษณ์ในสภา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2554 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย

แม้หัวหน้า คสช. ยังออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเต็มคำหลังถูกสื่อมวลชนถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีก โดยตอบเพียงว่า "ผมไม่นั่งยัน ยืนยัน นอนยันอะไรทั้งนั้นแหล่ะ" (5 ก.ค. 2560)

และแม้ออกตัวอยู่บ่อย ๆ ว่า "ไม่ใช่นักการเมือง" กระทั่งนายเอกนัฏ อดีตเลขานุการรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ) ซึ่งเคยไปกิน-อยู่-หลับ-นอนใน ศอฉ. ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ (ขณะนั้นเป็นรอง ผบ.ทบ.) นานกว่า 70 วัน ยังบอกว่า "ไม่เห็นความเป็นนักการเมืองในตัว พล.อ.ประยุทธ์"

แต่แกนนำ กปปส. ก็สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ "ไปต่อ" พร้อมชี้ว่าคะแนนนิยมในตัวผู้นำรายนี้เกิดจาก "ความต่าง" จากนักการเมืองคนอื่น

"สิ่งที่ทำให้ประชาชนชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์เพราะคุณสมบัติที่ไม่เหมือนนักการเมืองคนอื่น ๆ ท่านมีความเป็นบ้าน ๆ จริงใจ เด็ดขาด พูดคำไหนคำนั้น และตรงไปตรงมา"

มิตรไมตรีที่แกนนำ กปปส.หยิบยื่นให้ผู้นำ คสช. ก็เกิดจากความรู้สึกไม่ต่างจากแฟนคลับ พล.อ.ประยุทธ์รายอื่น ๆ

"ไม่ใช่ไปเอาใจนะ เดี๋ยวคนจะไปด่าว่าเป็น 'ขี้ข้า' แต่ลุง (นายสุเทพ) ชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์จริง ๆ เพราะถ้ารู้เงื่อนไข รู้ข้อจำกัดที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องเข้ามา รู้ความพยายามของประยุทธ์ ก็จะรู้สึกเหมือนกัน" บุตรชายบุญธรรมของนายสุเทพกล่าว

กปปส. ชุมนุมใหญ่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปฏิบัติการสำคัญของ กปปส.ที่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการ "ปิดกรุงเทพฯ" และ "ปิดคูหาเลือกตั้ง"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมบนถนน คือสารตั้งต้นของรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นั่นอาจทำให้ "มวลชนนกหวีด" บางส่วนรู้สึกเป็น "เจ้าของอำนาจ" ร่วมกับรัฏฐาธิปัตย์ จึงคอยประคับประคอง-โอบอุ้ม-ค้ำยันสถานภาพทางการเมืองให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่นายสุเทพประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะถ้าย้อนดูบทบาทในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเขาคอยเป็น "ผู้ช่วย คสช." ทั้งทางหน้าฉาก-หลังฉาก

ผลงานชิ้นสำคัญ หนีไม่พ้น การสวมบท "โฆษกรัฐธรรมนูญ" ออกเฟซบุ๊กไลฟ์วันละ 5 นาทีในช่วงนับถอยหลังประชามติ 7 ส.ค. 2559 เพื่อประชาสัมพันธ์-โน้มน้าวให้ประชาชนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ แบบสวนกระแส-สวนทางพรรคต้นสังกัดเก่า

ขณะเดียวกัน ยังเชิญทูตมาเคลียร์ใจ-เคลียร์วาทกรรมของฝ่ายประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ บทบาทที่สังคมอาจไม่เคยรู้มาก่อน

"หลายคนติดคำที่ว่า 'ต้นไม้พิษย่อมให้ลูกที่เป็นผลไม้พิษ' เราก็ต้องย้ำไปว่าแม้ไม่ถูกใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีเรื่องปราบโกง เรื่องปฏิรูป ขณะที่ทหารถูกมองว่าเป็น 'ต้นไม้พิษ' ย่อมไม่สามารถเคลียร์ตัวเองได้ ก็ต้องให้คนที่อยู่นอกวงช่วยพูด" นายเอกนัฏระบุ

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

การแสดงจุดยืนสนับสนุน "นายกฯ คนนอก" ถูกตีความว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของการเลือกตั้งให้เป็นเพียง "พิธีกรรม" เท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกหากนายสุเทพไม่ส่ง "คนร่วมบ้าน" อย่างนายเอกนัฏกลับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อลงสนามเลือกตั้ง

นายเอกนัฏแย้งว่า "คนชอบมองว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอยู่นอกกรอบนอกระบบ เพราะคิดแต่บริบทเดิมว่าประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรมหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย หลายครั้งคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ฉ้อฉล ละเมิดประชาธิปไตย แต่สิ่งที่กอบกู้ให้ประเทศกลับเข้าลู่ประชาธิปไตยก็คือการแสดงออกของประชาชน"

"ไม่มีใครบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาโดยไม่มีเลือกตั้ง สิ่งที่ลุง (นายสุเทพ) แสดงออก คือการประเมินภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาลงประชามติของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และตัวรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้เตะพรรคออกจากการเป็นผู้เล่น พรรคก็เป็นผู้เล่นหนึ่ง ประชาชนเป็นอีกผู้เล่นหนึ่ง"

แล้วผู้เล่นที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส. 8 คนที่หวนคืนพรรคประชาธิปัตย์ จะให้น้ำหนักกับเสียงไหนมากกว่ากันระหว่าง "เสียงของผู้นำ กปปส." กับ "เสียงของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์"?

คำตอบของเขาคือ หน้าที่ของคนที่กลับเข้าไปคือสู้ในสนามเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.มากที่สุด "เราไม่มีปัญหาอะไรกับการสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ แต่.. ก็ต้องยอมรับว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในกรณีไม่สำเร็จก็มีช่องทางอื่นไปได้"

นายสุเทพ กับนายอภิสิทธิ์

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นอกจากเป็น "ผู้จัดการรัฐบาล" นายสุเทพ (ตรงกลาง) ยังเป็น "คู่คิดทางการเมือง" ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ (ขวา) โดยทั้งคู่ได้หารือกันระหว่างฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือน มิ.ย. 2553

ลูกพรรคประชาธิปัตย์รายนี้เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค "แมนพอ" ที่จะเข้าใจการประเมินสถานการณ์แบบนี้

ในวันวาน นายสุเทพเคยเล่นบท "ผู้จัดการรัฐบาล" เดินเกมพลิกขั้วการเมือง-ส่งนายอภิสิทธ์ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้นายกฯ คนที่ 27 แต่ในวันนี้ แกนนำ กปปส. อาจมีความใฝ่ฝันใหม่แล้ว

ท้ายที่สุดคนที่ "เป็น" อะไรมาหลายอย่างตลอดเวลา 68 ปี กลับชอบช่วงที่ "ไม่เป็นอะไรเลย" เมื่อได้หยุดพัก-ได้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์นาน 378 วัน

"ตอนท่านบวชเป็นพระ คงมีความสุขดี" นายเอกนัฏพูดพลางหัวเราะเล็ก ๆ เมื่อถูกถามถึงบทบาทที่นายสุเทพชอบมากที่สุด

"ความที่ลุง (นายสุเทพ) คิดว่าเป็นประชาชนเสียงดัง ก็คิดว่าตัวเองมีภาระรับผิดชอบมากตามความดังของเสียงที่แกมี นี่คล้ายเป็นเวรกรรมของคนที่เกิดมาแล้วชอบการเมือง ที่ออกจากวงจรนี้ไม่ได้ แม้ลึก ๆ ในใจจะอยากพักบ้าง เหนื่อยแล้ว หลังชุมนุมไม่ได้อะไรเลยนะ มีแต่ภาระ เสียค่าใช้จ่ายจ้างทนาย ตั้งมูลนิธิก็ต้องควักเนื้อ เป็นหนี้เป็นสิน จึงต้องไปบวชเพื่อชำระล้างจิตใจ แต่ที่สุดแล้วบ้านเมืองจะไปได้ ต้องเกิดจากความเสียสละของตัวบุคคล"

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan

คำบรรยายภาพ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งเป็นทั้งคนร่วมบ้าน ร่วมพรรค ร่วมถนนของนายสุเทพ ระบุยังไม่ทราบถึงแผนการที่แน่ชัดของพ่อบุญธรรม หลังประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย

บุตรชายต่างสายเลือดยอมรับ ยังมองไม่ออกว่านายสุเทพจะนอนพักอยู่บ้านได้อย่างไร

"ท่านรักษาคำพูด คือไม่ลงเลือกตั้งแล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดคืออยู่ในฐานะประชาชนที่พร้อมแสดงออก" นายเอกนัฏบอก

นั่นคือสัญญาณว่าบทบาท "ผู้พิทักษ์ประยุทธ์" เพิ่งเริ่มต้น เมื่อฝ่ายต่อต้าน "นายกฯ คนนอก" มา เสียงนกหวีดอาจดังขึ้น!!!