ชาวบ้านอีสาน ร้องผลกระทบนโยบายทวงคืนป่า

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำกินในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนประกาศตั้งเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ที่มาของภาพ, Cory Wright

คำบรรยายภาพ, ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำกินในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนประกาศตั้งเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ชาวบ้านที่ทำกินในภาคอีสานออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิก "นโยบายทวงคืนผืนป่า" ทั่วประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้

เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ภาคอีสาน ออกแถลงการณ์ยกเลิกมาตรการทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ทำการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้ภาครัฐยุติการดำเนินการที่กระทบสิทธิกับชาวบ้านในทุกพื้นที่ และให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ที่ดินโดยปกติสุข ในกรณีที่มีการแจ้งความ ดำเนินคดี หรือมีการตัดฟันทำลายอาสิน (พืชไร่ ผลิตผลทางการเกษตร) ไปแล้ว ให้มีมาตรการเยียวยา และชะลอการดำเนินการด้วยความเป็นธรรม

นายไพโรจน์ (ใส่เสื้อสีแดง) อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. หยุดทวงคืนผืนป่า

ที่มาของภาพ, Cory Wright

คำบรรยายภาพ, นายไพโรจน์ วงงาน เกษตรกร จ.ชัยภูมิ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ คสช. หยุดทวงคืนผืนป่า

นโยบายดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ว่าด้วยเรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่พูดถึงกรณีคนจน ผู้ยากไร้ ให้ดำเนินการโดยไม่ให้เกิดผลกระทบ ส่วนคนรวย นายทุน ผู้มีอิทธิพล ให้ดำเนินคดีทุกราย

นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปดินภาคอีสาน กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในภาคอีสาน ได้แก่ การติดป้ายขับไล่ออกจากพื้นที่ การตัดฟันทำลายผลผลิต และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่

"ข้อมูลที่เครือข่ายมีอยู่พบว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนจน" นางอรนุชกล่าว

นายไพโรจน์ วงงาน เกษตรกร ต.วังฒะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ในชุมชนมีการข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่อุทยานให้เซ็นยินยอมคืนพื้นที่ให้แก่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งชาวบ้านก็ต้องยอมเซ็นไปก่อน เนื่องจากกลัว เพราะเจ้าหน้าที่มากันเยอะและประกบตัวต่อตัว รวมถึงมีประชาชนหลายรายที่ทำกินก่อนที่จะมีการประกาศตั้งพื้นที่อุทยานเมื่อปี 2535 แต่ก็ถูกไล่ออกจากพื้นที่

นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปดินภาคอีสาน

ที่มาของภาพ, Cory Wright

คำบรรยายภาพ, นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปดินภาคอีสาน

ทั้งนี้ สำนักข่าวไทยรายงานว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เปิดเผยว่า หลังจาก คสช. ประกาศแผนพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จากที่มีอยู่ประมาณ 102 ล้านไร่เป็น 128 ล้านไร่ในระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันสามารถยึดคืนผืนป่าได้แล้วกว่า 500,000 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินคดีอีกจำนวนหนึ่ง

ผศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลต้องยับยั้งหรือชะลอนโยบายทวงคืนผืนป่า เนื่องจากการทวงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนำมาซึ่งผลกระทบหลายอย่าง รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมชาวบ้าน

"ผมสะเทือนใจรุนแรงตั้งแต่มีภาพข่าว เห็นพี่น้องนั่งร้องไห้จากการที่ป่าไม้เข้าไปตามประกาศ คสช. … ตัวทหารเองมีความพยายามที่จะบอกว่าปฏิรูปประเทศ จะคืนความสุข แต่สิ่งที่เราเห็นมันไม่เกิดขึ้น เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เขาอยากได้ตัวเลขมาโชว์โดยไม่สนใจว่าพี่น้องเดือดร้อนขนาดไหน" ผศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าว "การที่ออกมาพูดอย่างภูมิใจว่าทวงคืนผืนป่า เป็นการทวงบนคราบน้ำตาและความทุกข์ยาก"

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เป้าหมายของนโยบายทวงคืนผืนป่าคือนายทุนอย่างเดียว ดังนั้น ผู้ยากไร้จะได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ยกเว้นผู้ยากไร้ที่เป็นนอมินีนายทุน และที่บุกรุกที่ดินหลังปี 2557

"ยืนยันว่าไม่มีการดำเนินคดี [กับคนจน] แน่นอน อาจจะเป็นการเข้าไปพูดคุย เจรจา ตกลง ว่าคุณยังอยู่ได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ๆ ควบคุม ไม่ใช่ขยายต่อ แต่มีบางพื้นที่ๆ มันล่อแหลมที่อยู่บนยอดเขา เราก็จะใช้วิธีการเจรจาขอคืน"