ลำดับเหตุฉาวของรบ.ทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่เชียงใหม่

แถลงการณ์

ที่มาของภาพ, DARIKA BAMRUNGCHOK

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ขอคืนพื้นที่ความรู้ฯ ก่อนกลายเป็น 1 ใน 3 บุคคลที่มีชื่อเตรียมถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ตามเอกสารในราชการกรมการปกครองของ จ.เชียงใหม่

ครั้งแรกของโลก การประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาที่มีอายุเกือบ 40 ปี กลายเป็นเวทีสะท้อนการปิดกั้นทางวิชาการ การปราบปราม และจับกุมผู้เห็นต่าง ลำดับเหตุฉาวของรัฐบาลทหารไทยในเวทีวิชาการนานาชาติ ที่ ม.เชียงใหม่ หลังผู้จัดไปรับทราบข้อหาจากตำรวจในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.

15-18 ก.ค.2560 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาหรือ International Conference on Thai Studies ครั้งที่ 13 มีหัวข้อหลักคือ "โลกาภิวัฒน์ไทย การเชื่อมโยง ความขัดแย้ง และปริศนาของไทยศึกษา" นำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองไทย การเมืองวัฒนธรรม ตลอดจนประเด็นทางสังคมต่างๆ อาทิ สันติภาพชายแดนใต้

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานฯ แถลงว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง มีผู้เข้าร่วม ราว 1,200 คน "มากที่สุดในประวัติศาสตร์" ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

เวทีประชุมไทยศึกษา

ที่มาของภาพ, 13th International Conference on Thai Studies

จัดมาแล้วหลายประเทศ

เจ้าภาพจัดประชุมสลับระหว่างมหาวิทยาลัยไทย และต่างประเทศที่มีสาขาการเรียนการสอนและการวิจัยด้านไทยศึกษา ทุก 3 ปี เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย รูปแบบของการประชุม เป็นการนำเสนอบทความประกอบการเสวนา การเสวนาโต๊ะกลม ปาฐกถา และนิทรรศการ

ผู้จัดกล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวนอกเครื่องแบบจำนวนมาก เข้าฟังโดยไม่ขออนุญาต นำอุปกรณ์ช่วยแปลไปใช้จนหมด ไม่พอให้ผู้ลงทะเบียนที่เสียค่าใช้จ่ายแล้วได้ใช้ นำมาซึ่งความอับอาย ตลอดงาน

17 ก.ค. ผู้จัดและนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุม ทั้งไทยและต่างชาติรวม 176 คน ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอคืน พื้นที่"เสรีภาพทางวิชาการ" และ "สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง" คืนอิสรภาพให้นักโทษทางการเมืองในคดี ม.112 และคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 อีก 1 วันต่อมา ผู้ร่วมประชุม 3 คน คือ น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายชัยพงษ์ สำเนียง นศ.ปริญญาเอก ม.เชียงใหม่ และ นายนลธวัช มะชัย นศ.คณะสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ ได้ชูป้ายข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ภายในสถานที่จัดประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ

ป้าย

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ปรับทัศนคติ

การแสดงจุดยืนดังกล่าว นำมาสู่การเรียก"ปรับทัศนคติ" ผิดคน ดังปรากฏในเอกสารในราชการกรมการปกครองของ จ.เชียงใหม่ ในฐานะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.จว.) ระบุถึงการเตรียมเชิญ น.ส.ภัควดี นายชัยพงษ์ และ ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ มาชี้แจงและขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยในเอกสารอ้างว่า ทั้ง 3 ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" และกล่าวหาว่า "คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวในนามกลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เพื่อต่อต้านทหารและการรัฐประหาร" แต่ในข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏ ดร.ประจักษ์ เป็นผู้ถือป้าย แต่เป็นผู้ที่อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของ 176 นักวิชาการ

ฉาวไปทั่วโลกวิชาการ

ต่อมาเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 28 องค์กร อาทิ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (คสจ.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ดร.ชยันต์ และผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 4 คน

ด้านนักวิชาการจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุม 291 คน องค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติ 9 องค์กร อาทิ International Institute for Asian Studies (IIAS), Leiden, The Netherlands Association for Asian Studies (AAS) The Board of the European Association for Southeast Asian Studies (EuroSEAS) และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย เรียกร้องให้ถอนข้อกล่าวหา และให้ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

"การดำเนินคดีต่อผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วม แสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูถูกอย่างยิ่ง ต่อเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพด้านอื่นๆ" 16 ส.ค. นายแบรด อดัมส์ ผอ. ฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย แถลง เมื่อ 16 ส.ค. และเรียกร้องให้ทางการไทยถอนฟ้องคดีโดยทันที

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานฯ

ที่มาของภาพ, 13th International Conference on Thai Studies

คำบรรยายภาพ, ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานฯ

รายงานตัว แต่ปฏิเสธข้อหา

21 ส.ค. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้จัดงาน-ผู้ร่วมงานประชุมอีก 4 คน ได้แก่ น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายชัยพงษ์ สำเนียง นศ.ปริญญาเอก ม.เชียงใหม่ และ นายนลธวัช มะชัย นศ.คณะสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ นายธีรมล บัวงาม นศ.ปริญญาโท คณะสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม เดินทางไปที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมือง จากป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง

ในการแจ้งข้อหาของ สภ.ช้างเผือก ระบุว่า การชูป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" เป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ