ประวิตร วงษ์สุวรรณ: อนาคต “พี่ใหญ่” วัย 72

  • อักษรา อานุภาพ
  • ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย
ดอกไม้พระราชทาน

ที่มาของภาพ, สำนักงานเลขานุการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

คำบรรยายภาพ,

ดอกไม้พระราชทาน

อำนาจ วาสนา ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวัย 72 ปี พุ่งสูง เปล่งประกายมากในรอบสี่ปีที่ผ่านมา แต่เขาต้องพยายามบริหารระดับความแรงของบารมี ไม่ให้เกินหน้า จนอาจนำพาความหมั่นไส้ พร้อมกับส่งน้องๆ "ให้ถึงฝั่ง"

"จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ไม่มีใครชอบเห็น เราเด่นเกิน" คือ สุภาษิตโบราณที่เป็นจริงยิ่ง สำหรับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, รมว.กลาโหม และ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันคล้ายวันเกิด 11 ส.ค. 2560 ปีที่ 72

ราวกลาง เดือน พ.ค. "พี่ใหญ่" ของ"น้องๆ" หายจากการทำงานไป 2 สัปดาห์ ท่ามกลางข่าวลือเรื่องสุขภาพ เขา กลับมาที่ทำงานที่กระทรวงกลาโหมในเช้าวันจันทร์ที่ 29 ด้วยสีหน้า อิดโรย ซูบผอม และ พูดจาช้าลง แต่ใช้เวลาไม่นานก็ "คืนฟอร์ม" ทำงานและประชุมตามกำหนดการ ด้วยอาการที่เกือบเต็มร้อย ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการหลุดจากเวทีอำนาจ

การกลับมาครั้งนี้ มาในจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่มากล้นเหมือนที่เคยถูกมองว่าเป็น "ผู้มีบารมีเหนือ คสช." เขาบอกกับสื่อก่อนการจัดงานอวยพรวันเกิดครบ 6 รอบ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ว่า "ขอแค่เปิดให้อวยพรภายใน" เพื่อไม่อยากให้เป็นภาพข่าว "ตบเท้า - ตั้งแถว- เปิดบ้าน" แสดงพลังในช่วงนี้

ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่แน่นอนว่า ภายหลังประตูที่ทำการมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ( ร.1 รอ.) ในวันจริง บรรยากาศเต็มไปด้วย "ขุนทหาร" และ"เด็กป้อม" ที่ต่างเติบโต และ หวังจะเติบโตด้วยบารมีประธานมูลนิธิฯ เต็มพื้นที่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายของการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี หรือ "โผใหญ่" ที่มีผลเดือนตุลาคม นี้

"ผมอวยพร พล.อ.ประวิตร มาตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งยืนยันว่า ท่านแข็งแรงดี แม้จะพึ่งเข้ารับการรักษาตัวมาไม่นาน ส่วนได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ในการทำงานเพื่อประเทศชาติในอนาคตหรือไม่นั้น ท่านอยู่กับผมทั้งชาติแหละ ทั้งนี้ไม่ได้มีการหารือกับ พล.อ.ประวิตร เรื่องโผทหาร" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ หลังมาถึงในเวลา 07.45 น.และเข้าอวยพร พล.อ.ประวิตร ภายในห้องกระจก ของมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก่อนเดินทางกลับ

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐมนตรีอื่นๆที่เข้าร่วมอวยพร ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช. กลาโหม นายออมสิน ชีวพฤกษ์ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ พล.ร.อ.นริส ปทุมสุวรรณ รอง ผบ.ทร. ตลอดจนถึง นายทหารมาจากบูรพาพยัคฆ์ ทั้งจาก กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่21 รักษาพระองค์ และหน่วยขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม

"รุ่นฝนแรก"

นั่นไม่ใช่แค่ ประวัติศาสตร์บรรทัดเดียวที่จะสร้างอำนาจและบารมีให้ "ทหารแก่ผู้ไม่มีวันตาย" รายนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะหลายฉายาต่างตกผลึกกลายเป็น "บิ๊กป้อม" ในวัย 72 ปีที่มากล้นด้วยคนรายล้อม จาก "รุ่นฝนแรก"ประธานรุ่น จปร.17 (เตรียมทหารรุ่น 6 ) ลูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ดูแลพรรคพวกเพื่อนฝูงอย่างอบอุ่นด้วยความพร้อมด้านกำลังทรัพย์และกำลังใจ สู่ หัวขบวน"บูรพาพยัคฆ์" ทหารในกลุ่มที่ทรงอิทธิพล และ มีบทบาทมากที่สุดในห้วงเวลานี้ ที่บุกเบิกจากหน่วยทหารด้านตะวันออก กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) กำลังหลักหลังการรัฐประหาร 2549 จนทำให้ทหารสายนี้สยายปีกอยู่ในแผงอำนาจในกองทัพขณะนี้

ปัจจุบัน เขาคือ "พี่ใหญ่" หรือ Big Brother ที่ส่งเสริม "น้องๆ" เข้าไปนั่งอยู่ในเกือบทุกองค์กรแห่งอำนาจ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า "ไปไหนก็เจอแต่เด็กป้อม"

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

การยึดกุม "หัวใจแห่งอำนาจ" ด้วยการนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม คุมกองทัพที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังให้รัฐบาล และ คสช. ด้วยการเลือกคนนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. มาถึง 4 คน ไล่ตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ. ประยุทธ์ พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ล้วนแต่ช่วยเสริมบารมี

ไม่นับรวม "เด็กพี่ป้อม" ที่ไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บังคับหน่วยคุมกำลัง ซึ่งถูกจัดวางเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ เพื่อจ่อขึ้นดำรงตำแหน่งระดับ "ท็อปไฟว์" ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

"ท่านเป็นคนซับซ้อน... มีความสนใจที่หลากหลาย รู้จักคนเยอะจนน่าแปลกใจ... เป็นคนละเอียดเรื่องใช้คน" รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าวกับ บีบีซีไทย ถึง พล.อ.ประวิตร ที่เขารู้จักมาตั้งแต่สมัยเป็นพันเอก

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

บอร์ดปรับย้ายทหารยุค "ทุบโต๊ะ"

ย้อนกลับไปสู่ยุคการบริหารราชการแผ่นดินของ นายทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี 2544-2549 เขาถูกโจมตีว่า แทรกแซงธรรมเนียมปฏิบัติของทหาร จัดคนใกล้ชิด เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 และ เครือญาติ เข้ามาในกองทัพ และเบียดอำนาจทหารกลุ่มอื่นตกขอบไปเกือบหมด จนก่อให้เกิดการรัฐประหาร ปี 2549

รัฐบาลทหารหลังการยึดอำนาจจึงแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมใหม่ สร้างกลไก คณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล (บอร์ด) ขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลอำนาจ รัฐมนตรีว่าการ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม) แต่หากนับรวมกับ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ขณะนี้กลายเป็นโควตาของ รมว.กลาโหม ในการเลือกคนมาดำรงตำแหน่ง ก็จะมีเสียงแค่ 3 เสียง เมื่อต้องตัดสินด้วยการโหวต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ ที่ประสานเสียงกัน 4 เสียง ภายใต้สถานการณ์กองทัพที่มีความเป็นเอกภาพ ก็จะคุมสภาพได้เหนือการเมืองที่คิดจะล้วงลูก เป็นไปตามหลักการของการพิจารณาโยกย้ายทหารแบบไทยๆที่ว่า "ทหารด้วยกัน ย่อมรู้ว่าใครเป็นอย่างไร"

แต่ยุคที่ รมว.กลาโหม คือ พล.อ. ประวิตร บอร์ดปรับย้ายอยู่ในสภาพที่คนในกองทัพมองว่าไม่ต่างจาก "ตรายาง" เพราะการตัดสินใจอยู่ที่ พล.อ. ประวิตรเป็นหลัก

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

อีกทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ก็เกรงใจ "พี่ใหญ่" ให้สิทธิขาด รมว.กลาโหม ในการตัดสินใจ ยกเว้น การปรับย้ายนายทหารเมื่อปลายปี 2559 ที่เกิดแรงกระเพื่อมหนัก จนชื่อผู้บัญชาการทหารบกกลายเป็น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท นายทหารรบพิเศษ และมี พล.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ลดดีกรี "คลื่นใต้น้ำ"ให้เบาบางลง

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 20 ธ.ค.51 ถึง 9 ส.ค.54 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากนั้นมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งช่วงเดือน ส.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. ถือเป็น รมว.กลาโหม คนที่ 59 และ 61

"บทบาทด้าน รมว. กลาโหมของท่านในครั้งนี้ เปลี่ยนไป ดูเข้มข้นขึ้น เพราะ ท่านเป็นทั้ง รองหัวหน้า คสช. และ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคง" รศ. ดร.ปณิธาน ให้ข้อสังเกต

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ใครจะมา ใครจะไป ในโผใหญ่ล่าสุด

การปรับย้ายนายทหารครั้งนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะการทำ "โผทหาร"ก่อนที่จะส่ง นายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต้องละเอียดรอบคอบ แต่สำหรับ "บิ๊กป้อม" นายเก่าที่ "รู้ตื้นลึกหนาบาง" ของลูกน้องอย่างดี ต้องจัดทัพผู้นำใหม่ของสามเหล่าทัพให้เหมาะสมที่สุด ก่อน คสช. จะ "ลงจากหลังเสือ"

ในโผนี้ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็น "น้องรัก" ของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารบก เพราะ พล.อ.เฉลิมชัย เกษียณปี 2561 แต่สำหรับ "น้องรักข้างกาย" ทั้ง พล.ท. วีรชัย อินทุโศภน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาเบียดแทรกใน 5 ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก หรือ "5เสือทบ." และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ หัวหน้านายฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ติดโผทั้ง รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ เสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

เช่นเดียวกับ ระดับแม่ทัพภาคที่มีชื่อของ พล.ท. กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 ได้ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ได้แรงดันร่วมจากเตรียมทหารรุ่น 20 ซึ่งถือเป็นรุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการจัดโผของ ทบ. โดยมี พล.ท. อภิรัชต์ และ พล.ท. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองเสนาธิการทหารบก เป็นแกนนำหลักที่น่าจับตามองนับจากนี้

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Getty Images

อนาคต "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์"

สภาพแวดล้อมทางการเมือง และ โครงสร้างอำนาจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทใหม่ ทำให้อำนาจของ พล.อ.ประวิตร ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ต้องลดลง การจัดทำ "โผทหาร" เป็นเรื่องที่เขาต้องระมัดระวัง รวมไปถึงการแสดงบทบาทในการบริหารกองทัพที่ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม

แม้เกจิอาจารย์หลายสำนักได้ทำนายทายทักว่า"บิ๊กป้อม" เป็นคนดวงแข็ง เป็นทหารคู่บ้านคู่เมือง ไม่ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่สภาพการณ์ที่หลายฝ่ายมุ่งหวังหลอมละลายทหารที่เคยแบ่งเป็นสาย"บูรพาพยัคฆ์" หรือ "วงศ์เทวัญ" ที่เป็นทหารภายใต้การบังคับบัญชาเดียว ทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ ประชาชน ไม่เป็นหน่วยขึ้นตรงอิสระกับ "บิ๊กทหาร" รายใดรายหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ พล.อ. ประวิตร ก็คงตระหนักดี

เพียงแต่วันเวลาที่เหลือก่อนจะลงจากหลังพยัคฆ์ที่ย่างสามขุมหลังฉากพระอาทิตย์นั้น เป็นห้วงที่จะส่งน้อง ๆ ขึ้นฝั่งได้สำเร็จหรือไม่