คุ้ม-ไม่คุ้ม: 3.26 พันล้านบาท อัพเกรด 4 ลำ F-5

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ภาพเครื่องบิน F-5E/F

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

(แฟ้มภาพ) ภาพเครื่องบินขับไล่ F-5E/F ของกองทัพไต้หวันขณะที่บินแสดงผาดแผลง

ฟังมุมมองสองผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของไทยและภูมิภาค หนุน-ค้านโครงการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 ระยะที่ 2 มูลค่ากว่า 3.26 พันล้านบาท ของกองทัพอากาศ

ประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นเดียวกันกับความเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงองค์กรต่างประเทศชี้ว่าโครงการการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 ดูสมเหตุผล คุ้มเงิน แต่ฝั่งนักวิชาการด้านความมั่นคงของไทยเห็นแย้งว่า ฝูงบิน F-5 ของไทยค่อนข้างเก่า สมควรปลดระวางมากกว่าอัพเกรด

ด้านกองทัพอากาศชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจทางการในเรื่องนี้ว่า "มีงบประมาณน้อยจึงใช้การอัพเกรดแทน"

การชี้แจงดังกล่าวของกองทัพอากาศมีขึ้นภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงการการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่ F-5 ระยะที่ 2 ด้วยมูลค่า 3,263 ล้านบาท จำนวน 4 ลำ ผูกพัน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2560-2563โดยที่โครงการระยะแรกมีขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2557

"คุ้มค่า" และ "สมเหตุสมผล" อย่างไร

นายจอน เกรแวตต์ (Jon Grevatt) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกลุ่มไอเอชเอส - เจนส์ (IHS Jane's) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข่าวความมั่นคงและการทหาร ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ว่าโครงการอัพเกรดนี้ถือว่า "คุ้มค่า" เพราะปกติแล้วกองทัพอากาศของไทยใช้เครื่องบิน(ชนิดนี้)ในการลาดตะเวนเหนือน่านน้ำอ่าวไทยและรอยตะเข็บชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการสอดแนมและเก็บข้อมูลการข่าว ในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการรักษาความมั่นคง

"กองทัพอากาศของไทยถือว่ามีความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติภารกิจภายในพื้นที่ นี่จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าการอัพเกรดครั้งนี้ น่าจะมีความคุ้มค่า ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของกองทัพอากาศระบุว่า โครงการอัพเกรดถือว่ามีราคาถูกกว่าการซื้อเครื่องบินใหม่ถึง 10 เท่านั้น ก็ดูมีเหตุผล" นายเกรแวตต์กล่าว

"หากเปรียบเทียบกับการซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงเพียง 12 ลำ อาจจะต้องใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.32 หมื่นล้านบาท)" เขาเสริม

พล.อ.ประวิตร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พล.อ.ประวิตรยืนยันว่าโครงการดังกล่าวเป็นการใช้งบประมาณของกองทัพอากาศในการพัฒนา เพื่อให้มีฝูงบินครบ โดยไม่ได้นำงบกลางไปใช้แต่อย่างใด

ในแง่ของเทคโนโลยีภายหลังการอัพเกรด นายเกรแวตต์กล่าวว่าเทคโนโลยีที่ได้รับการอัพเกรดในเครื่องบินขับไล่ F-5 อาจเทียบกันไม่ได้กับรุ่นอื่นๆ เช่น F-35 Joint strike fighter หรือแบบ Eurofighter Typhoon แต่การอัพเกรดก็จะทำให้เครื่องบินขับไล่ของไทยมีระบบและเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งเพียงความต้องการของกองทัพอากาศไทยและเป็น "มาตรการชั่วคราวที่เหมาะสมที่สุด" ในขณะนี้ ก่อนที่มีแผนจะซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ

ฝูงบินเก่าเกินไป ควรปลดระวาง

ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกบีบีซีไทย ว่า ฝูงเครื่องบิน F-5 ของไทย เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2521 ถึงวันนี้ก็ใช้งานมาแล้วเกือบ 40 ปี ดังนั้น จึงสมควรปลดระวางมากกว่าการอัพเกรด ควรใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆ มาประจำการเพื่อให้การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น

ตำรวจดูโมเดลเครื่องบิน

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุรชาติยอมรับว่า กองทัพอากาศไทยยังมีความจำเป็นในการใช้เครื่องบินแบบต่างๆ รวมทั้ง รุ่นนี้ในการปฏิบัติภารกิจทางทหาร โดยเฉพาะภารกิจการฝึกอบรมนักบินเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการขับเครื่องบินขับไล่ ในขณะเดียวกัน การซ่อมบำรุงเครื่องบินก็สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของนักบินโดยตรง

"แม้ว่า นักบินจะสามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินได้ทันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ต้องเสียเครื่องบินลำนั้นไปอยู่ดี ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ หากว่ามีการสูญเสียทั้งเครื่องบินและนักบิน นั้นหมายถึงการสูญเสียครั้งใหญ่เช่นกัน ดังนั้นความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของเครื่องบินจึงถือเป็นหลักประกันของชีวิตนักบิน" ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

กองทัพอากาศแจง "งบจำกัด"

โฆษกกองทัพอากาศปฏิเสธที่จะให้คำชี้แจงเพิ่มเติมแก่ บีบีซีไทย โดยระบุว่ากองทัพอากาศได้ชี้แจงข้อมูลการผ่านเฟซบุ๊กของกองทัพแล้ว ซึ่งอธิบายว่า ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F ของกองทัพอากาศได้เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2521 ถือว่าเป็น เครื่องบินขับไล่ในยุคที่ 3 ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด ไม่สามารถใช้อาวุธไกลเกินระยะสายตา ประกอบกับมีเทคโนโลยีล้าสมัยไม่สามารถเผชิญกับภัยคุกคามในปัจจุบันได้ ขณะที่การจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์มาทดแทน ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่สถานภาพงบประมาณของ กองทัพอากาศที่ได้รับในแต่ละปีมีอย่าง "จำกัด"

ดังนั้นการปรับปรุงขีดความสามารถของเครื่องบินที่มีใช้งานอยู่ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของ กองทัพอากาศในการดำรงขีดความสามารถในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ข้อดีโดยสังเขป

ของเครื่องบินขับไล่ F-5 Upgrade Super Tigris

3.2 พันล้านบาท

วงเงินของโครงการ

4 ลำ

จำนวนเครื่องบิน

  • 1. มีสมรรถนะในการใช้อาวุธเทียบเท่า F-16 และ Gripen

  • 2. คุ้มค่าใช้งบประมาณถูกว่า 10 เท่า

  • 3. ระบบเรดาร์ทันสมัย ตรวจจับเป้าหมายระยะทาง 40 ไมล์ทะเล ติดตั้งระบบ Data Link

  • 4. เพิ่มการใช้งานได้เพิ่มเป็น 9,600 ชม.บิน จากเดิม 7,200 ชม.บิน ใช้งานต่อได้ปี 15 ปี

Getty Images

การอัพเกรดระยะที่ 2 จะทำให้กองทัพอากาศ สามารถใช้งานเครื่องบินขับไล่ F-5 รุ่นนี้ หรือ F-5E/F Super Tigris ทั้ง 14 ลำไปได้อีกราว 15 ปี และเพิ่มชั่วโมงบินจาก 7,200 ชั่วโมงบินเป็น 9,600 ชั่วโมงบิน

นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการอัพเกรดเครื่องบินรุ่นนี้จากอิสราเอล ยังให้ความสำคัญในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินและกองทัพอากาศของไทย

นายเกรแวตต์ จากกลุ่มไอเอชเอส - เจนส์ เสริมว่า ปัจจุบัน เครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ยังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น กองทัพเกาหลีใต้มีเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ประจำการเพื่อปฏิบัติภารกิจจำนวนมากกว่า 100 ลำ ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ให้นักบินทำการฝึกหัด แต่ก็มีบางประเทศเช่น สิงคโปร์ได้ปลดระวางเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ไปแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนการบำรุงรักษาที่สูง