ขึ้นปีที่ 4 คสช. กับ 10 ข้อ "คนไทยทุกคนพึง" ปฏิบัติเพื่อ “ปรองดอง”

ทหาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เปิดร่าง "สัญญาประชาคมปรองดอง" 10 ข้อ ประชาชน "พึง" ปฏิบัติ อีก 1 คัมภีร์จาก คสช. เพื่อ "ความสามัคคี" และ "การปฏิรูป" ประเทศไทย หลังออก "ค่านิยม 12 ประการ" เมื่อ 3 ปีก่อน

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 คณะทำงานปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำเสนอ "ร่างสัญญาประชาคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง" ต่อผู้แทนส่วนราชการ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชนใน 26 จังหวัดภาคกลาง รวม 300 ชีวิต

สาระสำคัญของร่างสัญญาประชาคมปรองดองมี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. บทนำ 2. ความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองรวม 10 ข้อ (อ่านล้อมกรอบ) และ 3. บทสรุป

ร่างสัญญาประชาคมปรองดองถือเป็นผลิตผลที่ได้จากการทำงาน 5 เดือน นับจากรัฐบาล คสช. โดยคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยึดฤกษ์วันแห่งความรัก 14 ก.พ. 2560 ชวนนักการเมืองและกลุ่มการเมืองตบเท้าเข้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อร่วมทบทวนปัญหาความขัดแย้งในอดีต-เสนอสูตรปรองดองในอนาคต และยังผุดเวทีในส่วนภูมิภาคเพื่อรับฟังความเห็นนักการเมืองท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาชน

ก่อนประมวลเป็น "ร่างเอกสารความเห็นร่วมเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง" จำนวน 300 หน้า ครอบคลุมเนื้อหา 10 ด้าน รวม 278 ประเด็น โดยในจำนวนนี้เป็นประเด็นการเมืองเพียง 21 ประเด็นเท่านั้น

"นี่ไม่ใช่เรื่องที่ทหารทำเอง ชงเอง มีธงอยู่แล้ว ขอยืนยันกับทุกคนแบบผู้ชายแต่งเครื่องแบบว่าไม่เคยมีผู้บังคับบัญชาคนไหนมาสั่ง ท่านเปิดกว้าง" พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ อนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (อนุกรรมการชุดที่ 2) ยืนยันกลางเวทีรับฟังความคิดเห็น

จาก "ร่างเอกสารความเห็นร่วมฯ เวอร์ชั่นยาว" ถูกส่งต่อให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (อนุกรรมการชุดที่ 3) ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน สกัดเนื้อหาเพิ่มเติม

หลังประชุมคณะกรรมการทั้งชุดใหญ่-ชุดย่อยกว่า 100 ครั้ง สามารถตัดลดเอกสาร 300 หน้า ให้เหลือเป็น "ร่างความเห็นร่วมฯ เวอร์ชั่นสั้น" เพียง 41 ข้อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ "ร่างสัญญาประชาคมปรองดอง" ร่วมกับข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น เอกสารผลศึกษาและวิจัยที่เคยมีผู้จัดทำไว้แล้ว รวมถึงกรอบแนวทางของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดอง

ประชุม

ที่มาของภาพ, HATAIKARN TREESUWAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, มีผู้ร่วมกิจกรรม 300 คน ในเวทีสาธารณะ "ร่างสัญญาประชาคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง" ซึ่งจัดขึ้นภายในสโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1

พล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างฉบับนี้ไปตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. แต่เกรงว่าข้อความที่สั้นกระชับ อาจทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ จึงมอบหมายให้จัดทำคำอธิบายเพิ่มเติมในลักษณะภาคผนวกรวม 15 ข้อ พร้อมย้ำว่านี่จะเป็น "สัญญาประชาคมระหว่างประชาชนกับประชาชน"

"ตอนแรกเราตั้งโจทย์ว่าสัญญาประชาคมนี้เป็นของ 'ประชาชนทุกคน' แต่นักวิชาการที่ร่วมเป็นอนุกรรมการชุดที่ 3 ติงว่าถ้าใช้คำว่า 'ประชาชน' จะไม่รวมถึงข้าราชการ สุดท้ายเราจึงใช้คำว่าสัญญาประชาคมของ 'คนไทยทุกคน' และเมื่อเป็นคนไทย เราจึงทำได้แค่ขอให้เขา 'พึงปฏิบัติ' แปลว่าจะปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้" พล.ต.ชนาวุธกล่าว

BBC Thai

ที่มาของภาพ, HATAIKARN TREESUWAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ อนุกรรมการปรองดองชุดที่ 2 (ซ้ายสุด) พล.ท. ชูชาติ บัวขาว เจ้ากรมยุทธการทหารบก และพล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี อนุกรรมการปรองดองชุดที่ 4

ส่วนเสียงจากประชาชนสารพัดกลุ่มที่เข้าร่วมเวทีแถลงเปิดร่างสัญญาประชาคมครั้งแรก มีทั้งเสียงหนุน-ต้าน แสดงออกให้เห็นถึงความคาดหวัง-หมดหวังกับโรดแมปปรองดองฉบับรัฐบาล คสช.

อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การสร้างความปรองดองรอบนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เนื่องจากนายกฯ ได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มาถึง 2 ครั้ง ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาก็ทำอย่างสุขุมและเหมาะสม หากเชื่อว่าร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อนี้จะสร้างความปรองดองได้ ก็สนับสนุนโดยไม่ขัดข้อง

"การปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาชนแล้ว หลังจากนี้ความรับผิดชอบอยู่ที่นายกฯ และคณะที่อัญเชิญพระกระแสรับสั่งมาเชิญชวนประชาชน เพราะเราต่างให้ความร่วมมืออย่างไม่มีอุปสรรค" ประธานนปช. กล่าว

จตุพร

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนเสียงสะท้อนอื่นๆ มีทั้งที่เกี่ยวข้อง-ไม่เกี่ยวข้องกับวาระปรองดอง อาทิ รัฐบาลคสช. จะคืนประชาธิปไตยให้สมบูรณ์หลังการเลือกตั้งอย่างไร, รัฐบาลจะนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ต่อสู้ในเหตุขัดแย้งทางการเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ครอบครัวของคนเหล่านั้นกำลังเดือดร้อน, ทำอย่างไรให้นักการเมืองรู้จักประชาธิปไตยที่แท้จริง หากทำไม่ได้ก็เสนอว่ายังไม่ให้มีเลือกตั้ง ฯลฯ

หลังจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องจะนำร่างสัญญาประชาคมไป "ขอความเห็นเพิ่มเติม" จากเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จัดในค่ายทหารในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ก่อนปรับปรุงเป็น "ร่างสัญญาประชาสังคมฉบับสมบูรณ์" เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 23 ก.ค. ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ในวันที่ 26 ก.ค. เพื่อประกาศต่อสาธารณะต่อไป

ถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าร่างสัญญาประชาคมนี้ จะเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร คู่ขัดแย้งต้องร่วมลงนามสงบศึกทางการเมืองภายใต้หลักคิด "ปรองดองก่อนเลือกตั้ง" หรือไม่ หลังนักการเมืองแถวหน้าออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไปร่วมเซ็นเอ็มโอยูปรองดอง

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าบรรดา "นักการเมืองระดับแนวหน้า" ไม่ได้มาร่วมเวทีอวดโฉมร่างแรกสัญญาประชาคม ต่างจากบรรยากาศการเสนอความเห็นในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ "บิ๊กเนม" ของทุกพรรคต่างตบเท้าเข้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างคึกคัก

ขณะที่นายพลผู้ร่วมจัดวงปรองดองอย่าง พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ (อนุกรรมการชุดที่ 4) ยอมรับว่าร่างสัญญาประขาคมปรองดอง "เป็นแค่กระดาษ-ไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมาย" แต่เป็นข้อพึงปฏิบัติ

ส่วน พล.ต.ชนาวุธกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในเมื่อร่างสัญญาประชาคมนี้เป็นของ "ประชาชน" จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจับคู่ขัดแย้งมาลงนาม ดังนั้นอาจออกมาในรูปแบบของ "หน้าที่พลเมือง" หรือ "ข้อบัญญัติแนบท้ายรัฐธรรมนูญ" แบบที่ประเทศฝรั่งเศสมี ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีในระหว่างการประกาศสัญญาประชาคม

"แต่นี่จะเป็นสัญญาประชาคมฉบับแรกของโลก ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างครอบคลุมที่สุด" พล.ต.ชนาวุธกล่าวทิ้งท้าย