นักวิชาการไทย-เทศ วิเคราะห์ ผลตัดสินคดี ยิ่งลักษณ์

คำบรรยายวิดีโอ, ชะตากรรมยิ่งลักษณ์จะเป็นอย่างไร?

ก่อนตัดสินคดีประวัติศาสตร์ ฟังมุมมองนักวิชาการไทย และต่างประเทศ วิเคราะห์ผลที่ตามมา จากคำตัดสิน คดีอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของไทย

ยิ่งใกล้วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยมากเท่าใด ประมาณการจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมและการวางกำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือมวลชน ยิ่งขยับสูงขึ้น

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า ล่าสุดที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าจะมีประชาชนมาร่วมรับฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 ส.ค.ประมาณ 3,000 - 3,500 คน ขณะที่ พล.ต.ต.ภานุรัตน์ หลักบุญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ขยับตัวเลขระดมกำลังกองร้อยปราบจลาจลขึ้นเป็น 4,000 นาย จากเดิม 2,500 นาย

ก่อนวันตัดสิน อ่านมุมมองของนักวิชาการ-นักวิเคราะห์ ที่คุยกับ บีบีซีไทย ต่อการตัดสินคดีนี้

ไทย

ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็คงทำให้พรรคเพื่อไทยเสียขวัญ แต่ในเวลาเดียวกันอาจสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้พรรค เพราะชาวนาในชนบทจะมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คือผู้สูญเสียที่ทำทุกอย่างเพื่อชาวนา และเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย

ชาวนาในนา

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายบุญเกียรติไม่เชื่อว่าการชุมนุมประท้วงจะเกิดขึ้นหลังการตัดสินของศาล เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อเด่นในการป้องกันสิ่งนี้ แต่ผลสืบเนื่องของคดีในระยะยาวก็คือความขัดแย้งที่จะดำรงอยู่อย่างเข้มข้น และสร้างรอยร้าวต่อกระบวนการปรองดองมากขึ้น

"ที่น่าสนใจคือหากศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ก็จะเกิดให้ข้อถกเถียงมากขึ้น เพราะเหตุผลของ คสช.ในการทำรัฐประหารก็เพื่อปราบปรามการคอร์รัปชัน แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีความผิด คสช.ก็จะถูกตั้งคำถามทันที"

ออสเตรเลีย

ดร.แพทริค โจรี (Patrick Jory) อาจารย์อาวุโส ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด และบทลงโทษอย่างน้อยที่สุดก็จะถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมือง แต่โอกาสถูกจำคุกนั้นคงเป็นไปได้น้อย เพราะจะสร้างความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายสนับสนุนมอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็นผู้เสียสละ ทั้งยังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณ ชินวัตร ว่าระบบยุติธรรมของไทยนั้นไม่มีความเป็นธรรมต่อพวกเขา

กลุ่มผู้สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทว่า ดร. โจรี เห็นว่า การลุกฮือขึ้นของฝ่าย "คนเสื้อแดง" เพื่อ คัดค้านคำตัดสินของคดีนี้ เป็นไปได้ยาก ในห้วงเวลาปัจจุบันที่ คสช. คุมเข้มทางการเมือง

ฝรั่งเศส

ดร. เออร์จินี่ แมริเยอ (Eugenie Merieau) แห่งสถาบันรัฐศาสตร์แห่งปารีส หรือ Sciences Po กล่าวว่า กระบวนการดำเนินคดีนี้สะท้อนว่าประเทศไทยยึดถือหลักกฎหมาย 2 แบบ คือหลักนิติธรรม (rule of law) และ หลักนิติวิธี (the rule by law) แต่ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะยังแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทย ยังขาดความเป็นอิสระและถูกดึงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

"ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ศาลถูกใช้เป็นกลไกจัดการกับนักการเมือง และนโยบายการบริหารประเทศ ภายใต้แนวคิด 'ตุลาการภิวัฒน์' บทบาทของฝ่ายตุลาการในการเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อสร้าง 'รัฐซ้อนรัฐ' ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในอ้อมกอดของผู้สนับสนุน

ที่มาของภาพ, Reuters

สำหรับคำจำกัดความของคำว่าหลักนิติวิธีนั้น ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน เคยอธิบายไว้ในบทความใน นสพ. ผู้จัดการ เมื่อ 9 สิงหาคม 2549 ว่า ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หลักนิติวิธี มักถูกนำมาใช้ โดยใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือ เพื่อความชอบธรรมและ เป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่กฎหมายที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม

ญี่ปุ่น

อ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ (Yasuhito ASAMI) แห่งมหาวิทยาลัย โฮเซ (Hosei University) กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากมองโครงการจำนำข้าวในแง่ลบ แต่พวกเขาก็มองว่าวิธีการดำเนินการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทางกฎหมายก็เป็นเรื่องสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของไทยเช่นกัน นักธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้ดีว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลในอดีตจำนวนมากรวมทั้งของฝ่ายต่อต้านนายทักษิณ ล้วนเต็มไปด้วยความผิดปกติมากมาย แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี

ชาวนาพร้อมรวงข้าว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นักธุรกิจญี่ปุ่นยังกังวลว่า คำตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิด จะยิ่งทำให้ความโกรธแค้นของฝ่ายสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์มีมากขึ้น และทำให้ความพยายามปรองดองทางการเมืองเป็นไปได้ยากขึ้น เว้นแต่ ฝ่ายตุลการใช้ใช้มาตรฐานเดียวกับอีกฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองนี้

สหราชอาณาจักร

บีเอ็มไอรีเสิร์จ บริษัทวิจัยในเครือของ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ ฟิทช์กรุ๊ป ชี้ว่า หากศาลพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดจริง ก็อาจทำให้บรรดาผู้สนับสนุนออกมาประท้วง แต่การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ จะทำให้รัฐบาลทหารไทยสามารถคุมสถานการณ์ได้

บีเอ็มไอรีเสิร์จ ระบุในรายงานต่อลูกค้าฉบับเดือนกันยายน ว่า หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหาร สามารถบริหารบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของรัฐธรรมนูญ หรือการเปลี่ยนผ่านรัชกาล นอกจากนี้การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผสานกับความหลักแหลมทางการเมือง ทำให้รัฐบาลคุมฝ่ายต่อต้านไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอยู่หมัด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางผู้สนับสนุน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, บีเอ็มไอรีเสิร์จ ชี้ด้วยว่า ความที่คนชนบทซึ่งสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าการดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองและคำพิพากษาที่จะออกมาก็คงไม่เป็นผลดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์

บีเอ็มไอรีเสิร์จ ชี้ด้วยว่า ความที่คนชนบทซึ่งสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าการดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองและคำพิพากษาที่จะออกมาก็คงไม่เป็นผลดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่คำตัดสินจำคุกจะเป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาได้บ้าง ทว่า ดัชนีความเสี่ยงทางการเมืองระยะสั้นของไทยในปัจจุบันยังดีกว่าความเฉลี่ยของภูมิภาค และดีกว่าก่อนการรัฐประหาร 2557 มาก