นายกฯ ประกาศจัดเลือกตั้ง พ.ย. 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคสช. รับทราบว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 8 ต.ค. โดย คสช. จะพิจารณาเวลาจัดทำกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสม เพื่อผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองต่อไป

"ผมไม่ต้องการถ่วงเวลาทั้งสิ้น แต่ขอให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อยไปก่อน เพราะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค." พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ในเดือน มิ.ย. 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือน พ.ย. 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ขอให้นักการเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย เพราะจะมีผลต่อการผ่อนปรนมาตรการ

ทรัมป์ ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561

ยืดจนสุดโรดแมป

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า การประกาศจัดการเลือกตั้งในช่วง พ.ย. 2561 เป็นไปตาม "ระยะเวลาขั้นสูงสุด" ตามโรดแมปของ คสช. ที่เคยระบุไว้หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วสุดในเดือน ส.ค. หรือช้าสุดเดือน พ.ย.

  • 6 เม.ย. 2560 : พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  • ภายใน 240 วัน (6 เม.ย.-1 ธ.ค. 2560) : กรธ. จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) รวม 10 ฉบับ
  • ภายใน ม.ค. 2561 : สนช. ผ่านร่าง พ.ร.ป. ครบ 10 ฉบับ
  • ภายใน ก.พ. 2561 : รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ป.
  • ภายใน 150 วันหลังประกาศใช้ พ.ร.ป. 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ (ส.ค.-พ.ย. 2561) มีการเลือกตั้งทั่วไป

ทุกพรรคพร้อมลงสนาม หนุนปลดล็อคทำกิจกรรม

แกนนำพรรคการเมืองหลักต่างออกมาแสดงความยินดีกับคำประกาศจัดการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรี

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "ยินดีที่ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์รักษาคำพูดที่บอกไว้กับสหรัฐฯ ใน joint statement (แถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ) ความเชื่อมั่นของประเทศจะได้เริ่มกลับมาได้บ้าง"

เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ถือเป็นการทำตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาคมโลก แม้เป็นเวลาที่นานที่สุดตามโรดแมป แต่ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2561 ถือว่ารับได้

"ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทั้งผู้นำรัฐบาล คสช. ทุกอย่างอยู่ในมือเบ็ดเสร็จ การออกมาแสดงท่าทีชัดเจนเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี อย่างน้อยก็สร้างความเชื่อมั่นกับสังคมไทยและสังคมตะวันตกที่นิยมประชาธิปไตย ซึ่งน่าจะมองประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว

อภิสิทธิ์ หาเสียง ช่วงการเลือกตั้งปี 2554

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกกับบีบีซีไทยว่า คำประกาศของนายกฯ ทำให้การเมืองไทยชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้รู้สึกเซอร์ไพร์ส เพราะนี่คือ "ห้วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่ คสช.จะยืดเอาไว้ได้ภายใต้เงื่อนเวลาตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถยืดไปได้นานกว่านี้อีกแล้ว เว้นแต่มีอุบัติเหตุ เช่น ร่างกฎหมายลูกถูกคว่ำ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะแม่น้ำเหล่านี้ก็มาจากจุดกำเนิดเดียวกัน" พร้อมยืนยันความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการลงสู่สนามเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามบรรดาแกนนำพรรคการเมืองต่างเรียกร้องให้ คสช.เร่งปลดล็อคเงื่อนไขทางการเมือง ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 เรื่องห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดเงื่อนเวลาให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ เช่น การยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค (รีเซ็ท) และการเตรียมการทำไพร์มมารีโหวต

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ทราบความต้องการของพรรคการเมือง แต่ขอรอดูสถานการณ์เวลาที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ผ่านพ้นช่วงเดือน ต.ค. ไปก่อน

"ถึงอย่างไรก็มีการปลดล็อคให้เขามีเวลาในการทำงาน แต่ต่อให้มีการปลดล็อคก็ไม่สามารถชุมนุมทางการเมืองได้อยู่แล้ว" รองนายกฯ กล่าว

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม