รู้จัก "ไกลโฟเซต" สารกำจัดวัชพืชที่แพ้คดีสารก่อมะเร็งในสหรัฐฯ

Roundup is a popular brand of weedkiller in the UK

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

สารไกลโฟเซตเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช "ราวด์อัพ" (RoundUp)

ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรในหลายประเทศนิยมใช้ กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากคณะลูกขุนในสหรัฐฯ มีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 9,500 ล้านบาท) ให้แก่ชายคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะใช้ผลิตภัณฑ์ปราบศัตรูพืชที่มีสารไกลโฟเซตของบริษัทเป็นประจำในการทำงาน

คดีประวัติศาสตร์

คณะลูกขุนแห่งศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) ว่าบริษัทมอนซานโต้ ผู้ประกอบธุรกิจด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรรายใหญ่ของโลก มีความผิด เนื่องจากไม่แสดงคำเตือนอย่างเพียงพอ ว่าสารไกลโฟเซตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช "ราวด์อัพ" (RoundUp) และ "แรงเจอร์โปร" (RangerPro) อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้

คณะลูกขุนมีคำวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของมอนซานโต้ "มีส่วนสำคัญ" ที่ทำให้โจทก์ คือ นายดีเวย์น จอห์นสัน ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์แรงเจอร์โปร เป็นประจำในการทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) เมื่อปี 2014

คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สารไกลโฟเซตถูกเชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีลักษณะเดียวกันต่อไป โดยนอกจากนายจอห์นสันแล้ว ปัจจุบันมีผู้ยื่นฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันกว่า 5,000 รายทั่วสหรัฐฯ

ด้านบริษัทมอนซานโต้ ประกาศว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคดีครั้งนี้ต่อไป ขณะที่บริษัทไบเออร์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทมอนซานโต้ หลังเข้าซื้อกิจการเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันว่า ยากำจัดวัชพืชที่มีสารไกลโฟเซตเป็นส่วนผสมนั้นมีความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ก่อให้เกิดมะเร็งหากใช้งานถูกต้องตามที่ระบุไว้ที่ฉลากสินค้า

ไกลโฟเซต คืออะไร และมีอันตรายไหม?

ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่บริษัทมอนซานโต้เริ่มใช้ใน "ราวด์อัพ" ซึ่งออกจำหน่าย มาตั้งแต่ปี 1974 โดยโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชโดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

หลังจากสิทธิบัตรสารไกลโฟเซตของบริษัทมอนซานหมดอายุลงเมื่อปี 2000 ก็ทำให้ปัจจุบันสารดังกล่าวถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ราวด์อัพ

ที่มาของภาพ, PHILIPPE HUGUEN/AFP/Getty Images

แม้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ (EPA) จะไม่ออกข้อจำกัดเรื่องการใช้สารไกลโฟเซต โดยชี้ว่ามีอันตรายต่ำ พร้อมออกคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดนี้เป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังการฉีดพ่น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นจากนานาชาติบ่งชี้ว่าไกลโฟเซตเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ได้

โดยเมื่อปี 2015 สำนักวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติขององค์การอนามัยโลก สรุปผลการศึกษาว่า สารไกลโฟเซต "อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์" แต่รายงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในปี 2016 สรุปว่า สารไกลโฟเซต "ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร"

ปัจจุบันบางประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ได้ออกกฎห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ขณะที่ทางการศรีลังกาห้ามใช้ไกลโฟเซตเมื่อปี 2015 แม้จะถูกต่อต้านจากผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมชา เช่นเดียวกับโคลอมเบียที่ห้ามการฉีดพ่นสารไกลโฟเซตทางอากาศในปี 2015 แม้จะมีการใช้วิธีดังกล่าวอย่างแพร่หลายในการทำลายไร่โคคาผิดกฎหมายก็ตาม

ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้สารไกลโฟเซตในพื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ

การใช้ไกลโฟเซตในประเทศไทย

ส่วนในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ระบุว่า ไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2014

ในการเสวนาบนเวทีวิชาการเรื่อง "ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)" เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น รศ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 ที่พบหลักฐานว่า ไกลโฟเซต มีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 5- 13 เท่า และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาวด้วย

เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องที่คณะกรรมการวัถตุมีพิษอันตราย มีมติไม่แบนการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา