ลงทะเบียนเยียวยา : วิเคราะห์สารพันปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ & ภานุมาศ สงวนวงษ์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ทางการเปิดให้กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยื่นทบทวนสิทธิ์ "เราไม่ทิ้งกัน" วันนี้เป็นวันแรก

ที่มาของภาพ, ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ทางการเปิดให้กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยื่นทบทวนสิทธิ์ "เราไม่ทิ้งกัน" วันนี้เป็นวันแรก

นักวิชาการวิเคราะห์ว่าความไม่เข้าใจสภาพสังคมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค

หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือ ผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" สำหรับกลุ่มแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เหตุการณ์ที่กระทรวงการคลังที่มีผู้ถูกตัดสิทธิการรับความช่วยเหลือทางการเงิน 5,000 บาทตามมาตรการ "เราไม่ทิ้งกัน" ไปร้องเรียน บางรายถึงกับร้องไห้ด้วยความคับข้องใจ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านการบริการจัดการของรัฐบาลชุดนี้อย่างชัดเจน

นางฐิติกาญจน์ เรณู หญิงขายลอตเตอรีจากปทุมธานี ที่เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 เม.ย. บอกกับบีบีซีไทยว่าเธอเครียด เพราะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลไปถึง 2 งวด คืองวดวันที่ 1 และ 16 เม.ย. ตอนนี้มีเพียงสามีคนเดียวที่ยังมีงานทำ ซึ่งรายได้ก็แทบจะไม่เพียงพอสำหรับดูแลลูก ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำค่าไฟ

นางฐิติกาญจน์หวังว่าจะได้เงินเยียวยา 5,000 บาทมาแบ่งเบาภาระ แต่เธอกลับถูกปฏิเสธสิทธิ์

เมื่อประชาชนถูกปฏิเสธสิทธิ์

"เราขายสลากกินแบ่งรัฐบาลนะ ซึ่งน่าจะได้กลุ่มแรกเลย พอระบบตีกลับมาบอกว่าเราไม่มีสิทธิ เพราะว่าเราอยู่ในมาตรา 33 เกิน 6 เดือน เราจะอยู่ในมาตรา 33 ได้อย่างไร เราส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 จะสิบปีแล้ว หลักฐานมี เมื่อวานก็ไปประกันสังคมมาแล้วเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่ายังอยู่ในมาตรา 39"

นางฐิติกาญจน์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นางฐิติกาญจน์หวังว่าจะได้เงินเยียวยา 5,000 บาทมาแบ่งเบาภาระ แต่เธอกลับถูกปฏิเสธสิทธิ์ จึงเดินทางไปยังกระทรวงการคลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตามกฎหมายประกันสังคม ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการหรือพนักงานเอกชน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจซึ่งเคยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อน และไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้างอีกต่อไป แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้โดยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน

เธอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมแจ้งว่าเธอมีสิทธิ์รับเงินเยียวยาว 5,000 บาท

นางฐิติกาญจน์เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะทุกคนเดือดร้อนหมด ทุกคนต้องได้

"เข้าใจเลยว่า ทำไมคน (ที่ถูกปฏิเสธสิทธิ์) ถึงอารมณ์ขึ้น เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีจริง ส่วนตัวฉันนอนไม่หลับ 3 วัน" เธอกล่าว

"ผมเป็นมัคคุเทศก์ด้วย ขับแท็กซี่ด้วย แต่ผมกลายเป็นเกษตรกรโดยที่ AI เป็นผู้กำหนดให้" นายศุภชัยกล่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "ผมเป็นมัคคุเทศก์ด้วย ขับแท็กซี่ด้วย แต่ผมกลายเป็นเกษตรกรโดยที่ AI เป็นผู้กำหนดให้" นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัย แก้วกนก ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งขับรถแท็กซี่และเป็นมัคคุเทศก์ เป็นอีกคนหนึ่งที่นำเอกสารมายืนยันที่กระทรวงการคลังหลังจากถูกปฏิเสธสิทธิ์

"ผมเป็นมัคคุเทศก์ด้วย ขับแท็กซี่ด้วย แต่ผมกลายเป็นเกษตรกรโดยที่ AI เป็นผู้กำหนดให้" เขากล่าว

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกรายคือ นายลิขิต ทับทาบ อาชีพขายข้าวเหนียวไก่ย่างถูกตัดสิทธิโดยระบบให้เหตุผลว่าเขายังประกอบอาชีพได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เขาขายของไม่ได้เลยเพราะโรงเรียนที่เขาขายประจำปิดยาว

"คุณไม่ได้ดูอะไรเลย แล้วคุณตัดสิทธิ์เราไป" เขากล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยราชการเข้าไปตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์จริงของผู้ยื่นคำร้องและสถานประกอบการ

อะไรคืออุปสรรค

เสียงสะท้อนหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่ง ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงอุปสรรคที่รัฐบาลกำลังเผชิญพร้อมเสนอแนะทางออกในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้

ผู้ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการรับการเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาลแสดงข้อความแจ้งจาก "เราไม่ทิ้งกัน"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการรับการเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาลแสดงข้อความแจ้งจาก "เราไม่ทิ้งกัน.com"

นักวิชาการรายนี้บอกว่า อุปสรรคสำคัญของการบริหารจัดการกับวิกฤตในครั้งนี้คือ ภาครัฐประเมินผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการน้อยเกินไป ล่าช้าเกินไปและไม่ได้ประเมินผลกระทบล่วงหน้า รวมทั้งจำกัดการช่วยเหลือเพียงแค่ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก ๆ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ประเด็นต่อมาก็คือ รัฐบาลคิดมาตรการช่วยเหลือแบบ "สงเคราะห์" โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหนัก ๆ บางกลุ่มเท่านั้น โดยไม่ตระหนักว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อคนเป็นวงกว้าง

 ผลกระทบด้านการทำงานจากวิกฤตโควิด-19. .  .

"คนกำลังจะจมน้ำ รัฐบาลเอากระชอนผุ ๆ ที่ไม่สามารถใช้การได้ ไปช้อนคนที่จะจมน้ำก่อน ควรที่จะใช้ตีอวนคือเอาทุกคนขึ้นมาจากน้ำก่อน เพราะทุกคนเดือดร้อนกันหมด แล้วมาคัดออกเช่น ข้าราชการประจำ พนักงานประจำ กลุ่มประกันสังคม จะง่ายกว่า เพราะภาครัฐมีฐานข้อมูลมาแล้ว" เขาอธิบาย

ขาดฐานข้อมูลที่ดี-ไร้ประสิทธิภาพในการบูรณาการ

ผศ.ดร. บุญเลิศกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของไทยต้องอาศัยแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมาก แต่กลับมีบันทึกในข้อมูลของภาครัฐน้อย ดังนั้น มาตรการเยียวยาคนกลุ่มนี้หากจะพึ่งพาระบบฐานข้อมูลซึ่งไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและไม่ทันสถานการณ์

ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, อนุชิต นิ่มตะลุง

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากข้อมูลของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ระบุว่า แรงงานนอกระบบ มีจำนวนมากกว่า 20.4 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้การประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าจะเยียวยากลุ่มนี้เพียง 3 ล้านคนเท่านั้นตามาตรการเยียวยารอบที่ 2

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในการบริหารวิกฤตเช่นนี้จะมีข้อมูลไม่พร้อม นักวิชาการรายนี้กล่าวว่า หน่วยงานราชการจำเป็นต้องทำงานกันอย่างมีบูรณาการมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ไม่มีข้อมูลชุดเดียวกันเป็นฐานในการทำงาน ขณะที่หน่วยงานด้านข้อมูลหลักของประเทศอย่างสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ไม่ได้มาเป็นตัวกลางในการดำเนินการเรื่องนี้ ทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างไร้เสถียรภาพ ขาดเอกภาพและประสิทธิภาพ

"ประหลาดใจมากที่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ดึงเอาศักยภาพของกลุ่มองค์การบริการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพและอยู่ใกล้กับประชาชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ด้านผู้ออกนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ ก็ขาดความรู้เชิงสังคม ไม่มีข้อมูล และไม่มีความเข้าใจของความซับซ้อนของแรงงานนอกระบบ" เขาอธิบาย

ผศ.ดร. บุญเลิศกล่าววว่าบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้ คือ ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการยกเครื่องการจัดการแรงงานนอกระบบอย่างจริงจัง ต้องสนับสนุนให้มีสมาคมหรือกลุ่มต่าง ๆ ของแรงงานนอกระบบเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในอนาคต

คำนิยามที่สับสนของผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

หลายภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ หรือนักคิดจากทีดีอาร์ไอ นำเสนอเรื่องหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือนร้อนประชาชนในภาวะวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

ผลการสำรวจของนักวิชาการจาก 6 มหาวิทยาลัยในงานสำรวจเรื่อง "คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19" และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ระบุว่าการให้คำจำกัดความหรือ คำนิยามของ "ผู้ที่ได้รับผลกระทบ" ของรัฐบาลสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น

ผู้คนรอขึ้นเรือ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผศ.ดร. บุญเลิศ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่จัดการสำรวจดังกล่าวบอกว่า รัฐควรปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตนี้จาก "การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน" เป็น "การให้สวัสดิการถ้วนหน้า" หรือเปลี่ยนวิธีการจาก "คัดคนเข้า" เป็น "คัดคนออก"

"รัฐควรใช้หลักคิดใหม่คือ คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ไม่ควรจำกัดเพียงบุคคลที่ได้มาจากวิธีการคัดกรองอย่างเข้มงวด แต่จะต้องคัดกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบออกไป เช่น กลุ่มข้าราชการและพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน" เขาอธิบาย

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

วิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้แล้วหลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ สหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอแนะผ่านทางบทความวิชาการว่า

รัฐควรเปิดเผยรายละเอียดของการคัดกรองแรงงานที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และมีการตรวจสอบติดตามในระดับหมู่บ้าน ด้วยกลไกของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้เกิดความเป็นธรรมโดยถ้วนหน้ากัน

ผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้วันที่ 16 เม.ย. คณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องก็คือ ควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาท และมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่าคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือนให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นกลุ่มบุคลากรของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันเดียวกัน (16 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนเพื่อตอบโต้กลับแนวคิดนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในประเด็นดังกล่าวว่า หากแจกเงินทุกคนในประเทศ "ต้องกู้ยันตาย"

การสื่อสารสาธารณะเป็นอย่างไร

ในยามวิกฤต กุญแจแห่งความสำเร็จประการหนึ่งคือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สร้างความสับสน ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเหตุแห่งวิกฤต

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์มักเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลมีคำสั่งหรือประกาศ อย่างเช่น กรณีเมื่อที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้รัฐบาลมีเงินอยู่ราว 5 หมื่นกว่าล้านบาท จากงบกลางปี 2563 และโครงการอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งวงเงินนี้ครอบคลุมไปถึงการใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท แค่เดือนเดียว ส่วนที่เหลือต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้ และ พ.ร.บ.ที่จะออกมา

โคว้ตคำพูดของประยุทธ์

คำพูดของนายกฯ ที่ว่า "เราจ่ายได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น" ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจอย่างมาก ทำให้ทั้งโฆษกรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังรีบออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอตามมาตรการเยียวยาที่กำหนดไว้ว่าจะช่วยเหลือ 3 เดือน

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

ข้าม Facebook โพสต์ , 2

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 2

ผศ.ดร. บุญเลิศ ยกตัวอย่างความไม่ชัดเจนอีกอย่างเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาว่าจะให้เงินเยียวยาเป็นเวลา 6 เดือน แล้วเปลี่ยนกลับมาอยู่ที่ 3 เดือน รวมทั้งความไม่ชัดเจนในเรื่องการสื่อสารเรื่องการลงทะเบียนในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน"

"ในวิกฤต การบริหารความหวังของประชาชน คือสิ่งที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลให้ความหวังไว้ แต่กลับเป็นผู้ทำลายความหวังของประชาชนเสียเอง นั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนขาลงของรัฐบาลทันที" นักวิชาการด้านสังคมวิทยากล่าวทิ้งท้าย