10 เดชะพระบารมี ในปฏิบัติการ “ถ้ำหลวง”

หมูป่ากราบร.10

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักเตะเยาวชน 11 คน และโค้ชเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท

การประกาศความสำเร็จของ "ภารกิจเป็นไปได้" ณ ถ้ำหลวง เป็นการกู้ภัยที่ทั่วโลกต้องจดจำไปอีกนาน บีบีซีไทยรวบรวม 10 เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ด้วย "เดชะพระบารมี" ในปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า

"ภารกิจจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม..." นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ระบุในระหว่างแถลงปิด ศอร. เมื่อ 11 ก.ค.

หลังทุกฝ่ายใช้ความพยายาม 17 คืน 18 วัน ในการเปิดปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจดจำ เพื่อช่วยเหลือชีวิตนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงตั้งแต่ 23 มิ.ย.

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 ก.ค. 2561 และนับเป็นปีที่ 3 แห่งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร บีบีซีไทยรวบรวม 10 เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ด้วย "เดชะพระบารมี" ในปฏิบัติการ "ถ้ำหลวง" มาให้ชม

จิตอาสา หน่วยสนับสนุนภารกิจ

ตัวแทนรัฐบาลคนแรก ๆ ที่รุดลงพื้นที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย ด้วยเครื่องแต่งกาย "จิตอาสา" พระราชทาน คือ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เมื่อ 28 มิ.ย. หรือ 5 วันหลังทีมหมูป่าติดอยู่ภายในถ้ำ ทั้งนี้ มท. 1 สวมเสื้อสีเหลืองลายฝีพระหัตถ์ ร. 10 พร้อมผ้าพันคอจิตอาสา และหมวดสีฟ้า

นายกฯ ใส่ชุดจิตอาสา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ก่อนที่วันรุ่งขึ้น (29 มิ.ย.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางถึงถ้ำหลวงด้วยเครื่องแต่งกายแบบเดียวกัน เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวทีมหมูป่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยว่า ครม. ได้รับพระราชทานชุดจิตอาสามาเมื่อ 26 มิ.ย. และยังอัญเชิญกระแสรับสั่งของในหลวง ร. 10 มาแจ้งให้ครอบครัวรับทราบ "ท่านฝากถึงพวกเราให้กำลังใจ ให้มีความหวัง แล้วทุกอย่างจะปรากฏออกมา ดังนั้นขอให้พวกเราทำใจให้นิ่ง"

ในขณะที่ทีมกู้ภัยทำงานอยู่ภายในถ้ำ ด้านนอก มีประชาชนในโครงการจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างน้อย 400 คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานจิตอาสา ตลอด 2 สัปดาห์ อาทิ เก็บขยะ แจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มให้ผู้ปฏิบัติงาน

ต่อมาเมื่อปฏิบัติการถ้ำหลวงสำเร็จลุล่วง จบภารกิจใน 3 ขั้นตอน "ค้นหา-กู้ภัย-ส่งกลับ" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสาร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือ บิ๊ก คลีนนิง เดย์ บริเวณถ้ำหลวง ระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค. เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของวนอุทยานให้กลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม โดยมีจิตอาสากว่า 4,000 คนช่วยกันเก็บขยะ ใบไม้ รื้อถอนเต๊นท์ อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงรื้อฝายเบี่ยงทางน้ำบนเเนวเขา

ตั้งโรงครัวพระราชทาน

โรงครัว

ที่มาของภาพ, Panupong Changchai/BBC THAI

เมื่อคนทำงานต้องใช้กำลังกายลุยเข้าไปในที่มืด-แคบ-น้ำท่วม-อากาศเบาบาง และใช้กำลังความคิด วางแผนอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ กองทัพ "ถ้ำหลวง" จึงต้องเดินด้วยท้อง

27 มิ.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ ผบ.ศอร. จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อปรุงอาหารสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ปฎิบัติหน้าที่ รวมถึงผู้ปกครองทีมหมูป่า สื่อมวลชน และประชาชนที่มาร่วมเกาะติดปฎิบัติ "ถ้ำหลวง"

พระราชทานสิ่งของจำเป็น

ศอร. ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพา 13 ชีวิตทีมหมูป่ากลับบ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (ซีล) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำและนักดำน้ำจากนานาชาติถูกระดมมาจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อเข้าร่วมภารกิจ พร้อมนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่บันดาลได้ดังใจปรารถนา

ทีมต่างประเทศ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ผบ.ศอร. เปิดเผยว่า ในหลวง ร. 10 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดหาอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดซื้อตามระบบราชการได้ทันเวลา เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการกู้ภัยได้ทันเหตุการณ์

ต่อไปนี้เป็นรายการสิ่งของพระราชทาน เฉพาะที่มีการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการซึ่งต้องทำงานท่ามกลางความมืดมิดภายในถ้ำ และฝนที่ถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง ยังความปลาบปลื้มใจให้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

  • 29 มิ.ย. พระราชทานเสื้อกันฝน 2,000 ตัว ยากันยุง 88 ลัง ไฟฉายพร้อมหมวก 1,500 ชุด กางเกงชั้นใน 1,500 ตัว ชุดหมีพร้อมรองเท้าบูท 300 ชุด ถุงเท้า 1,500 คู่
  • 2 ก.ค. พระราชทานชุดดำน้ำ 30 ชุด ถุงดำ 2 กระสอบ ถุงซิปล็อค 2 กระสอบ กาต้มน้ำ 2 ตัว ปลั๊กไฟ 1 กล่อง เทปกาว 1 กล่อง ผ้าห่มให้ความอบอุ่น 1 โหล หลอดไฟแอลอีดีที่สามารถชาร์ตไฟได้
  • (ไม่ระบุวันแน่ชัด) พระราชทานขวดอากาศ 200 ขวด

ทรงติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

รมว.มหาดไทยเปิดเผยเมื่อ 25 มิ.ย. ว่า ทางราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนและโค้ช 13 คนที่ยังติดอยู่ในภายในถ้ำหลวง ทรงห่วงใยกลุ่มผู้ประสบภัยทุกคน และทรงให้กำลังใจไปยังครอบครัวผู้ประสบภัย ขอให้ทุกคนปลอดภัย รวมถึงทรงให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามค้นหาขอให้ประสบความสำเร็จ

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อ 29 มิ.ย. ว่า "พระองค์ท่านทรงติดตามทุกข่าว ดังนั้นการเสนอข่าวอะไรไป ท่านทอดพระเนตรหมด และพระราชทานแนวทางกลับมา นี่คือสิ่งที่เรียกว่าพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม"

หมูป่า

ที่มาของภาพ, THAI NAVYSEAL/FACEBOOK

คำบรรยายภาพ, หน่วยซีลเผยแพร่คลิปวิดีโอทีมหมูป่าทักทายคนนอกถ้ำ เมื่อช่วงเช้า 4 ก.ค. แสดงให้เห็นรอยยิ้มของหลายคน พร้อมยืนยันว่าพวกเขา "แข็งแรงดี"

พลันที่ชาวไทยและชาวโลกได้รับทราบ "ข่าวดีครั้งแรก" เมื่อนักดำน้ำชาวอังกฤษ 2 คน พบนักเตะเยาวชนและโค้ชปลอดภัยทั้ง 13 คน เมื่อ 2 ก.ค. ก่อนนำคลิปวิดีโอมาเผยแพร่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกเปิดเผยในวันรุ่งขึ้น (3 ก.ค.) ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงว่า การชมเชยเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ขอให้รักษาสติ สมาธิ ปัญญาในการปฏิบัติภารกิจ และภารกิจจะเรียบร้อยเมื่อทุกคนออกมาอย่างปลอดภัย

ส่วนความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากการวางแผนทำงานเป็นระบบ มีความสามัคคีทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งการนำคณะออกจากถ้ำต้องคิดและวางแผนให้ดี คำนึงถึงสุขภาพและสภาวะจิตใจก่อนนำตัวออกมา อย่าให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียทั้งคณะเด็กและผู้ช่วยเหลือ จากนั้นจึงส่งตัวเข้ารับการเช็กสภาพร่างกาย ณ โรงพยาบาล

พระราชทานคำแนะนำให้จัดระเบียบพื้นที่หน้าถ้ำ

หนึ่งในคำแนะนำที่ ร. 10 พระราชทานลงมาคือการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณปากถ้ำ ซึ่ง รมว.มหาดไทยเป็นผู้เปิดเผยเมื่อ 27 มิ.ย. ว่าได้รับข่าวจากราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่ามีกระแสรับสั่งให้จัดระบบในการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการ รอให้กำลังใจอยู่ด้านนอก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น

จัดระเบียบสื่อนับร้อย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สื่อมวลชนกว่า 800 คนได้เดินทางมาติดตามภารกิจ "อันน่าทึ้ง" ในปฏิบัติการถ้ำหลวง

ต่อมา ศอร. ได้บริหารจัดพื้นที่ใหม่ โดยเริ่มจากการกั้นพื้นที่การปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ก่อนประกาศแจ้งให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัยและสื่อมวลชนเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ภายในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 8 ก.ค. แล้วไปอยู่ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งผา แทน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งวันดังกล่าวเป็น "ดีเดย์" เปิดปฏิบัติการลำเลียงทีมหมูป่าชุดแรก 4 คนออกจากถ้ำหลวง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากสื่อมวลชน

ทรงรับสั่งให้ถอดบทเรียน "ถ้ำหลวง" ใช้เป็น "โมเดลกู้ภัย"

รมว.มหาดไทยเปิดเผยเมื่อ 10 ก.ค. ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาในเรื่องการบริหารจัดการให้ถอดบทเรียนและจัดทำบันทึกเขียนแผนไว้ "ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นโมเดล เป็นตัวแบบที่จะต้องนำไปใช้ได้ทั้งในถ้ำและบนบก เตรียมแผนในการฝึก"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภารกิจกู้ภัยในถ้ำไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในทั้งโลกนี้ ทำให้ไทยขาดประสบการณ์ เทคนิค และเครื่องมือ วิกฤตเด็กติดถ้ำจึงกลายเป็นโอกาสให้ไทยเพิ่มพูนทักษะด้านการนี้

พระราชทานยศ "น.ต." ให้ "วีรบุรุษถ้ำหลวง"

แม้ภารกิจถ้ำหลวงสำเร็จลงด้วยดี ได้ 13 ชีวิตทีมหมูป่ากลับคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว ทว่ามี 1 คนที่ยอม "พลีชีพ" ตัวเองคือ สมาน กุนัน หรือที่รู้จักในนาม "จ่าแซม"อดีตหน่วยซีล วัย 38 ปี

งานศพจ่าแซม

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมพวงมาลาหลวงพระราชทาน พวงมาลาพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้กับจ่าแซม เมื่อ 6 ก.ค.

เขาเสียชีวิตเมื่อ 6 ก.ค. หลังเสร็จสิ้นภารกิจวางขวดอากาศภายในถ้ำ ร่วมกับทีมต่างชาติ 4 คน และชาวไทย 1 คน แต่เกิดหมดสติในระหว่างออกจากถ้ำ จนได้รับการยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษถ้ำหลวง"

นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงความเสียพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณารับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์ 7 วัน พร้อมรับสั่งให้ประกอบพิธีศพอย่างสมเกียรติ

นอกจากนี้ยังทรงเชิดชูเกียรติจ่าแซม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นาวาตรี (น.ต.) เป็นกรณีพิเศษให้แก่ จ่าเอก (จ.อ.) สมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี และได้อุทิศความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกระทั่งตนเองเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน องค์กร และนานาประเทศ

มีพระราชหัตถเลขาถึงผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (คนกลาง) และทีม ศอร. แสดงความยินดีที่ภารกิจ "ถ้ำหลวง" ลุล่วงไปด้วยดี ระหว่างแถลงปิดศูนย์ 11 ก.ค.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขา ถึงนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะ ผบ.ศอร. ความว่า "ได้ติดตามการปฏิบัติแล้ว น่าชื่นชมที่ได้เห็นข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน และมุ่งมั่นในภารกิจเฉพาะหน้า ที่ยากและท้าทาย แสดงถึงความมีสติปัญญา และมีการตัดสินใจที่ดี และวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง และเป็นศูนย์กลางแห่งการประสานการปฏิบัติจนภารกิจลุล่วงด้วยดี และได้ทราบว่าเป็นข้าราชการที่มีคุณภาพ กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และในเวลาเดียวกันก็มุ่งมั่นที่สร้างความดีและความถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ขอชมเชยและให้กำลังใจ ขอให้รักษาความดีไว้ และขอให้มีความสุขความเจริญ"

ทรงรับทีมกู้ภัยนานาชาติเป็นพระราชอาคันตุกะ

ความยากลำบากในปฏิบัติการ "ถ้ำหลวง" ซึ่งกลายเป็น "ภารกิจที่เป็นไปได้" หรือมิชชัน พอสสิเบิล ในเมืองไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวต่างชาติ จึงมีรับสั่งให้ตอบแทนน้ำใจบุคคลเหล่านั้น

หมูป่า

ที่มาของภาพ, Getty Images

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชาวต่างประเทศที่มาร่วมปฏิบัติภารกิจให้ดูแลให้ดี เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้พาท่องเที่ยว ต้อนรับอย่างดี ทรงรับเป็นพระราชอาคันตุกะของพระองค์ จนกว่าจะเดินทางกลับ

จัดงานเลี้ยงผู้ร่วมภารกิจถ้ำหลวงหน้าพระลานพระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้รัฐบาลจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ในวันที่ 1 ส.ค. เวลา 08.00-21.00 น. ภายใต้ชื่องาน "รวมใจเป็นหนึ่งเดียว" หรือ "United as One" ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐบาลใช้พระลานพระราชวังดุสิตเป็นสถานที่จัดงาน อีกทั้งยังพระราชทานอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงานร่วมกับรัฐบาลด้วย

ภาพเดอะฮีโร

ที่มาของภาพ, Panupong Changchai/BBC THAI

ในภาพวาดชุด THE HEROES ซึ่งศิลปินชาวเชียงรายได้ร่วมกันสร้างสรรค์ภาพวาดประวัติศาสตร์ เพื่อให้โลกจดจำมิตรภาพและความร่วมมือไร้พรมแดนในปฏิบัติการ "ถ้ำหลวง" โดยวาดภาพไว้บริเวณด้านหน้าสมาคมขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมือง เชียงราย ปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง ร. 10 ด้วย

"ศิลปินทุกคนลงความเห็นว่า ภารกิจนี้ได้รับพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอย่างมากมายจากในหลวง ร. 10 จึงมีการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ ร. 10 ลงไปที่ตึก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ด้วย" นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าว