ไทยโหวตหนุนยูเอ็นที่เรียกร้องสหรัฐฯ ถอนการรับรองเยรูซาเลม

ผลการลงคะแนนมติหนุนการถอนการรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, AFP

ไทยเป็นหนึ่งใน 128 ประเทศ ที่ลงคะแนนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนร่างมติเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา เพิกถอนการรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่หนุนร่างมตินี้

ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในร่างมติสหประชาติ ระบุว่า "การตัดสินใจและการกระทำใดก็ตาม ซึ่งมีความหมายเพื่อเปลี่ยนลักษณะ สถานะ หรือองค์ประกอบทางประชากรของเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งเยรูซาเลม ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นโมฆะ และต้องเพิกถอน เพื่อให้เป็นไปตามมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงฯ"

ร่างมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ ในจำนวนนั้นมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ 9 ประเทศออกเสียงคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง

ขณะที่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่จะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนร่างมติสหประชาชาติซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านการที่สหรัฐฯ รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้

ไทยย้ำจุดยืนหนุนให้ 2 ฝ่ายหาทางออกร่วมกัน

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางการไทยยืนยันในแนวทางการสนับสนุนตามหลักการของสหประชาชาติและยังยึดหลักการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในแนวทางผลักดันให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ยึดมั่นในทางแก้ 2 รัฐ (Two-state solution) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่นานาประเทศสนับสนุนให้อิสราเอลและปาเลสไตน์มีสถานะรัฐซึ่งมีอำนาจปกครองตนเอง และมีสิทธิ์ในดินแดนบางส่วนร่วมกัน

อธิบดีกรมสารนิเทศยังบอกว่า ในส่วนความเห็นของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะมีการพิจารณาตัดความช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่โหวตสนับสนุนมติสหประชาชาติในเรื่องดังกล่าวนั้น ขอไปศึกษารายละเอียดก่อนว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

การซ้อมรบ "คอบร้าโกลด์"

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, หลังจากการรัฐประหารปี 2557 สหรัฐฯ ได้ตัดลดงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารลงเหลือ 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปีจากเดิม 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังมีการซ้อมรบ "คอบร้าโกลด์"

สำหรับความช่วยเหลือทางการเงินของสหรัฐฯ ต่อไทย ซึ่งถือเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุด ส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบผ่านความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ความช่วยเหลือทางการทหารและความมั่นคง ที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือไทยด้วยงบประมาณราว 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือราว 343 ล้านบาท/ปี ขณะเดียวกันก็จะมีการฝึกซ้อมทางทหาร "คอบร้าโกลด์" โดยไทยเป็นเจ้าภาพเป็นประจำทุกปี

แต่ภายหลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดลดงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารลงเหลือ 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปีแทน โดยเรียกร้องให้ไทยคืนสู่ประชาธิปไตย

จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า ทุกปีกองทัพไทยและสหรัฐฯ จะมีการร่วมซ้อมรบกันเฉลี่ย 40 ครั้ง

ประเทศใดคัดค้านร่างมติยูเอ็น?

เก้าประเทศที่ลงคะแนนคัดค้านร่างมติยูเอ็น ได้แก่ สหรัฐฯ อิสราเอล กัวเตมาลา ฮอนดูรัส หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู ปาเลา และโตโก

ในกลุ่ม 35 ประเทศที่งดออกเสียง รวมถึงแคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านติดสหรัฐฯ

นางนิกกี เฮลีย์ ทุตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นางนิกกี เฮลีย์ ทุตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ระบุว่า "สหรัฐฯ จะจดจำวันนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ถูกโจมตีเพียงประเทศเดียวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ จากการใช้สิทธิ์ที่รัฐเอกราชพึงมี"

ส่วนประเทศที่สนับสนุนร่างมติ ได้แก่ สี่ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหราชอาณาจักร) ประเทศพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ในการลงมติครั้งนี้ มี 21 ประเทศที่ขาดประชุมจึงไม่ได้ลงคะแนน

หัวใจหลักของข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลม

สถานะของนครเยรูซาเลม คือหัวใจสำคัญของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยทางตะวันออกของเมือง ซึ่งรวมถึงเขตเมืองเก่า ถูกอิสราเอลผนวกดินแดนหลังจากสงครามเมื่อปี 1967 และอิสราเอลอ้างว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นเมืองหลวงที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ทว่า ดินแดนดังกล่าว ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล

คำบรรยายวิดีโอ, เยรูซาเลมสำคัญอย่างไร?

ชาวปาเลสไตน์ อ้างว่านครเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐซึ่งจะก่อตั้งขึ้นในอนาคต และตามข้อตกลงสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปี 1993 จะต้องมีการหารือถึงอนาคตของนครเยรูซาเลม ในการเจรจาสันติภาพขั้นต่อไป

ทั้งนี้ อธิปไตยเหนือดินแดนนครเยรูซาเลมที่อิสราเอลอ้าง ยังไม่เคยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเท่าที่ผ่านมาทุกประเทศเลือกที่จะตั้งสถานทูตในกรุงเทลอาวีฟ รวมทั้งรัฐบาลไทย

ปฏิกิริยาจากอิสราเอลและปาเลสไตน์

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เคยกล่าวว่าจะปฏิเสธผลการลงคะแนน และเรียกยูเอ็นว่าเป็น "องค์กรแห่งการโกหก" และต่อมา เขาได้ออกแถลงการณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า "อิสราเอล ขอบคุณประธานาธิบดีทรัมป์ สำหรับจุดยืนที่ชัดเจนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเยรูซาเลม และขอบคุณทุกประเทศ ที่ลงคะแนนเข้าข้างอิสราเอล เข้าข้างความเป็นจริง"

ด้านโฆษกของนายมาห์มุด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ เรียกการลงคะแนนดังกล่าวว่า "ชัยชนะของปาเลสไตน์"

มุมมองของสหรัฐฯ

นางนิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น แถลงก่อนหน้าการลงมติโดยย้ำว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ไม่ใช่การตัดสินล่วงหน้าเกี่ยวกับสถานะสุดท้ายของนครเยรูซาเลม และไม่ได้ตัดโอกาสของทางออกที่สนับสนุนการมีอยู่ของทั้งสองรัฐ หากทั้งสองฝ่ายเห็นด้วย

นอกจากนี้ นางเฮลีย์ระบุว่า "สหรัฐฯ จะจดจำวันนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ถูกโจมตีเพียงประเทศเดียวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ จากการใช้สิทธิ์ที่รัฐเอกราชพึงมี" และ "อเมริกาจะตั้งสถานทูตที่นครเยรูซาเลม นั่นเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันต้องการให้เราทำ และเป็นสิ่งที่พึงกระทำ การลงคะแนนของสหประชาชาติจะไม่มีผลอะไรกับเรื่องนี้"

ประธานาธิบดีทรัมป์ถือคำประกาศยอมรับเยรูซาเลมเเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลที่เขาลงนามเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เขากล่าวว่า "มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องทำ"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีทรัมป์ถือคำประกาศยอมรับเยรูซาเลมเเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลที่เขาลงนามเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เขากล่าวว่า "มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องทำ"

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ เตือนว่าอาจจะตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่สนับสนุนร่างมติดังกล่าว "พวกเขาเอาเงินไปเป็นร้อยล้านพันล้าน จากนั้นก็ลงคะแนนต่อต้านเรา...ให้เขาลงคะแนนต่อต้านเราไปเลย เราจะประหยัดเงินได้อีกมาก เราไม่ใส่ใจ"

ประธานาธิบดีทรัมป์ จะตอบโต้หรือไม่

บทวิเคราะห์โดย เซบาสเตียน อัชเชอร์

นักวิเคราะห์ด้านกลุ่มประเทศอาหรับ ของบีบีซี

ผลการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะออกเสียงสนับสนุนร่างมติดังกล่าว แต่อาจจะมีจำนวนสมาชิกที่งดออกเสียง และคัดค้านมากกว่าที่คาดเดาเอาไว้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าอุ่นใจสำหรับรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์

ไม่เป็นที่สงสัยว่าประเทศที่คัดค้านร่างมติ รวมถึงไมโคนีเซีย นาอูรู และโตโก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ จะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากการลงคะแนนสวนทางกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่

แคนานา เม็กซิโก และโปแลนด์ อยู่ในกลุ่มสมาชิกที่งดออกเสียง ซึ่งเป็นการลงคะแนนที่จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียในด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

การลงคะแนนจากกลุ่มประเทศพันธมิตรมหาอำนาจของสหรัฐฯ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร อาจถูกมองว่าเป็นการตบหน้าประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ทั้งหมดสามารถโต้แย้งได้ว่าลงคะแนนเพื่อรักษาสถานภาพเดิมในยูเอ็น และไม่มีเหตุผลพอที่ประเทศเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนจุดยืน

สิ่งที่จะเป็นบททดสอบต่อไป อยู่ที่ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำตามคำขู่ ด้วยการพิจารณาตัดความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศที่สนับสนุนร่างมติหรือไม่ และยังมีคำถามว่า ผลการลงมติครั้งนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้การประท้วงการตัดสินใจของสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นหรือไม่