ยูเอ็นเตรียมออกมติต้านสหรัฐฯ รับรองเยรูซาเลม

หญิงมุสลิมรอเข้าร่วมพิธีละหมาดวันศุกร์ที่ด้านหน้าโดมแห่งศิลา (Dome of the Rock) ในนครเยรูซาเลม

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

หญิงมุสลิมรอเข้าร่วมพิธีละหมาดวันศุกร์ที่ด้านหน้าโดมแห่งศิลา (Dome of the Rock) ในนครเยรูซาเลม

บรรดาชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กำลังพิจารณาเตรียมออกข้อมติที่เน้นย้ำว่า การตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับสถานะของนครเยรูซาเลมที่มีขึ้นไปแล้วนั้น ไม่มีผลตามกฎหมายและจะต้องถูกยกเลิก ซึ่งร่างมตินี้จะส่งผลให้การที่สหรัฐฯ รับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเป็นโมฆะ

ร่างมติดังกล่าวซึ่งอียิปต์เป็นผู้เสนอ ถูกส่งให้ชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงฯ 15 ประเทศพิจารณาแล้ว โดยเนื้อหาภายในเอกสารไม่ได้ระบุถึงสหรัฐฯ หรือการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง แต่คาดว่าร่างมตินี้จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ในการลงมติที่อาจมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม บรรดานักการทูตเกรงว่าสหรัฐฯ อาจใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้ เพื่อระงับไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ออกข้อมตินี้ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างมติจะผ่านความเห็นชอบก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 9 เสียง และไม่มีสมาชิกถาวรชาติใดใช้สิทธิวีโต้

เนื้อหาสำคัญของร่างมติยืนยันว่า "การตัดสินใจหรือการกระทำใด ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสถานะ ลักษณะ หรือองค์ประกอบของประชากรแห่งนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม ถือว่าไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นโมฆะ และจะต้องถูกยกเลิก เพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อมติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงฯ"

"ขอเรียกร้องให้ทุกชาติงดเว้นไม่ประจำการคณะทูตในนครเยรูซาเลม ตามมติที่ 478 ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งออกมาเมื่อปี 1980" เนื้อหาในเอกสารร่างมติระบุ

ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ปะทะกับกองกำลังอิสราเอลใกล้เมืองนาบลุสในเขตเวสต์แบงก์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ปะทะกับกองกำลังอิสราเอลใกล้เมืองนาบลุสในเขตเวสต์แบงก์

ก่อนหน้านี้บรรดาชาติอาหรับได้เรียกร้องให้สหประชาชาติออกข้อมติที่ชี้ว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯที่รับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลนั้นเป็นโมฆะ ทั้งย้ำว่าแม้ร่างมตินี้อาจไม่ผ่านความเห็นชอบ เนื่องจากสหรัฐฯใช้สิทธิวีโต้ แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งทำให้สหรัฐฯถูกโดดเดี่ยวในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น

เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงฯ ผ่านข้อมติที่เน้นย้ำว่า จะไม่รับรองการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งเส้นเขตแดนของนครเยรูซาเลมไปจากที่ได้กำหนดไว้แล้วเมื่อปี 1967 เว้นแต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะตกลงกันผ่านการเจรจาเท่านั้น ซึ่งผู้แทนสหรัฐฯในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามาได้งดออกเสียงในการลงมติครั้งนี้