กกต. ชุดที่ 5 กับภารกิจจัดเลือกตั้งในปีที่ 5 ของ คสช.

รับพระราชโองการ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, กกต. ทั้ง 5 คนประกอบพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการ กกต. ช่วงเช้าวันนี้

ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่ 5 คือการจัดการเลือกทั่วไปในขวบปีที่ 5 ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำยืนยันจากประธานว่าจะ "ไม่เข้าข้างใคร"

ภายหลังเข้าร่วมพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการ กกต. และเข้าสักการะพระพรหมเจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการ ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงเปิดใจต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ก่อนมีนัดหมายสำคัญ 2 นัดคือพบปะ กกต. ชุดเก่าบ่ายวันนี้ (17 ส.ค.) และพบปะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในวันที่ 20 ส.ค.

บีบีซีไทยสรุป 5 คำถาม-คำตอบสำคัญระหว่างสื่อมวลชนกับประธาน กกต. ไว้ ดังนี้

1. คาดหวังว่าจัดการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีของไทย จะออกมาอย่างไร

- ยังไม่ขอตอบ เพราะหน้าที่ กกต. คือจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน เรื่องอื่นต้องหลังเราดำเนินการจัดเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราคงคำนึงถึงบริบทที่ผ่านมา และครั้งที่จะเกิดขึ้น

กกต. ชุดใหม่

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายอิทธิพร บุญประคอง (กลาง) ประธาน กกต. ชุดใหม่ นำทีมเข้าสักการะสิ่งศักดิ์ประจำศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

2. ประธาน กกต. เป็นประธานคนแรกที่ไม่ได้มาจากสายศาล แต่มาจากนักการทูต คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการชี้แจงเรื่องการเลือกตั้งของไทยให้แก่นานาประเทศเข้าใจได้อย่างไร

- ผมคิดว่าเรื่องการชี้แจงกับต่างประเทศเป็นประเด็นหนึ่งเท่านั้นเอง แต่การทำงานที่ผมมีพื้นฐานด้านการต่างประเทศก็มีส่วน สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม ต่างประเทศยอมรับนับถือ งานนี้ กกต. ทุกคนพร้อมให้ความเชื่อมั่นหรือให้คำชี้แจงกับประชาคมระหว่างประเทศที่สนใจติดตามอยู่แล้ว ไม่เฉพาะผม

3. กระบวนการสรรหา กกต. ชุดที่ 5 ใช้เวลาเกือบปี มีว่าที่ กกต. ถูกโหวตคว่ำกลางสภา คิดว่าคณะกรรมการสรรหา รวมถึง คสช. มีความคาดหวังอย่างไรต่อ กกต. ชุดนี้

- ผมไม่อยู่ในฐานะจะตอบความคาดหวังคนอื่นได้ แต่ผู้รับผิดชอบสรรหาและให้ความเห็นชอบ ก็ต้องตั้งใจมุ่งมั่นว่าจะได้คนที่เชื่อถือได้ว่าเมื่อมาทำงานจะเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ซื่อสัตย์ ยึดกฎหมายเป็นหลัก

กกต. ชุดใหม่

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, (จากซ้าย) นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, นายปกรณ์ มหรรณพ, นายอิทธิพร บุญประครอง (ประธาน), นายฉัตรชัย จันทร์พรายศรี, นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา (เลขาธิการ กกต.)

4. จะให้ความมั่นใจกับประชาชนได้อย่างไรว่า กกต. จะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ

- ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เขียนชัดเจนว่าต้องเป็นกลาง กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใด ๆ เป็นคาถาที่ กกต. ทุกคน รวมถึงผมต้องยึดมั่นจริงจัง นี่จะนำไปสู่การทำงานที่เร่งรีบ ซึ่งไม่ง่ายในทางปฏิบัติ แต่จะไม่เป็นปัญหาถ้าเรายึดหลักอันนี้

5. กดดันหรือไม่ที่ต้องทำงานภายใต้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44

- ผมตั้งใจจะทำงานตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

กกต. ที่มากับ "เลข 5"

  • ชุดที่ 5 : เป็น กกต. ชุดที่ 5 นับจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรอิสระแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2540
  • 5 คน : รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี กกต. 7 คน แต่ สนช. ลงมติ "เห็นชอบ" รายชื่อเพียง 5 คน และตีตกไป 2 คน เมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ กกต. 5 คนนี้ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ก่อน
  • 5 ปี : ระยะเวลาที่ประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้ง นับจาก "เลือกตั้งโมฆะ" ปี 2557
  • ปีที่ 5 : โรดแมปเลือกตั้งที่ คสช. กำหนดไว้ในปี 2562 เป็นขวบปีที่ 5 ของรัฐบาลพอดี
  • 65 ปี : อายุสูงสุดของ กกต. ชุดนี้คือนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดตประธาน กกต. แต่ต้องพลาดตำแหน่งไป เมื่อที่ประชุม กกต. ทั้ง 5 คนโหวตเลือกนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานตามวาระ 7 ปี

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม