เปิด “กฎเหล็ก” กกต. ในการเลือก ส.ว. ที่ “เงียบที่สุดในโลก”

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
รองเลขา กกต

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบกลุ่มอาชีพกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์หน้า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมเปิดรับสมัคร ส.ว. ตั้งแต่ 26-30 พ.ย. นี้ ภายใต้งบประมาณในการดำเนินการ 1,303 ล้านบาท

ด้วย "ระบบใหม่" ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก่อนถูกดัดแปลงบางรายละเอียดโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครใน 10 กลุ่มวิชาชีพ "เลือกกันเอง" และ "เลือกแบบไต่ระดับ" ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ จนเหลือ 200 รายชื่อให้ กกต. ส่งต่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเคาะเหลือ 50 รายชื่อสุดท้ายที่ได้เป็น ส.ว.

คนกลุ่มนี้จะมีส่วนร่วมกับเพื่อน "ส.ว. เฉพาะกาล" ที่มาจากการสรรหาของ คสช. 194 คน และเป็นโดยตำแหน่ง 6 คน รวมเป็น 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน ในการเลือก "นายกฯ คนที่ 30"

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้ว่านี่คือความสำคัญของ ส.ว. ชุดนี้ "ส.ว. ชุดนี้มีวาระ 5 ปี นั่นหมายความว่าจะได้ร่วมเลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 ครั้ง" และ "ส.ว. กลุ่มอาชีพ 50 คน จากสมาชิกรัฐสภา 750 คน ถือว่ามีความสำคัญ เพราะแพ้ชนะกัน 1 คะแนน นายกฯ ก็เปลี่ยนได้เหมือนกัน"

เลือกตั้ง สว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

เขาย้ำด้วยว่า งบประมาณ 1,303 ล้านบาทที่ใช้ไปถือว่า "คุ้มค่า" กับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ลงไปในระดับอำเภอ ขออย่าไปเทียบว่า กกต. ใช้งบพันล้านเพื่อหาคนเพียง 50 คน

"กติกาใหม่" และ "ภารกิจสำคัญ" ที่รออยู่เบื้องหน้า "ส.ว. เฉพาะกาล" ทำให้ กกต. ออก "กฎเหล็ก" กำกับว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ในระหว่างกระบวนการเฟ้นหาสมาชิกสภาสูงจากกลุ่มอาชีพแบบข้ามปี

บีบีซีไทยรวบรวมคำถาม-คำตอบจากนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. และ ศ. อุดม รัฐอมฤต อดีต กรธ. ซึ่งอ้างอิงจากตัวบทกฎหมาย ประกาศ และระเบียบต่าง ๆ ของ กกต.

5 วันที่ผู้สมัครถูก "ปิดชื่อ"

ห้ามคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน

"ถ้ารู้จำนวนว่ามีคนสมัครในแต่ละกลุ่มเท่าไร ผู้สมัครอาจหนีจากกลุ่มที่มีคนเยอะไปสมัครกลุ่มที่มีคนน้อยกว่า เราไม่ต้องการให้ผู้สมัครใช้จำนวนเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ เพราะอยากให้เป็นธรรมชาติ" รองเลขาธิการ กกต. กล่าว

กระบวนการรับสมัคร ส.ว.​ จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 พ.ย. โดยรองเลขาธิการ กกต. ​คาดว่า ภายในเที่ยงของวันที่ 1 ธ.ค. จะส่งบัญชีรายชื่อของผู้สมัครทุกอำเภอซึ่งคาดว่ามีเกือบ 1 แสนคนให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อได้

กลุ่มอาชีพ สรรหา ส ว

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

เกียรติประวัติที่จำกัดไว้ในกระดาษเอสี่

ห้ามผู้สมัครโฆษณาหาเสียง ทำได้เพียงออกข้อความแนะนำตัว ทว่าถูก กกต. กำหนดความยาวไว้ที่ 1 หน้ากระดาษเอสี่ โดยผู้สมัครต้องกรอกประวัติ คุณงามความดี และผลงานยื่นไปพร้อมเอกสารต่าง ๆ ในวันสมัคร ทั้งนี้เอกสารแนะนำตัวนี้จะถูกส่งให้ผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ซึ่งจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือก ส.ว. ในกลุ่มของตน ส่วนประชาชนทั่วไปไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในการเผยแแพร่ข้อความแนะนำตัวของบรรดาผู้สมัคร ส.ว.

อดีตโฆษก กรธ. ให้เหตุผลเรื่องการห้ามหาเสียงว่า "เพื่อไม่ให้คนมีปัจจัยทางการเงินมากกว่าได้เปรียบคู่แข่งขัน" และ "ไม่ต้องการให้อิทธิพลจากรอบนอกมากำหนดการตัดสินใจในระหว่างผู้สมัคร" แต่ก็ยอมรับว่าการให้แสดงเกียรติประวัติในกระดาษเอสี่ แล้วมาเจอกันในห้องวันเลือก ส.ว. เลย อาจเป็นการจำกัดข้อมูลการรับรู้มากเกินไป

การเลือก ส.ว. ที่เงียบที่สุดในโลก

แม้มีคำยืนยันว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวเลือก ส.ว. และสามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ แต่รองเลขาธิการ กกต. ขอให้สื่อพึงระวังไม่ให้ "ตกเป็นเครื่องมือของผู้สมัคร" หรือกลายเป็นการ "โฆษณาแฝง" เพราะอาจทำให้ผู้แพ้หมั่นไส้แล้วเล่นงานเอาด้วยการไปร้องเรียน แม้เปิดกฎหมายดูจนมั่นใจว่าสื่อไม่มีความผิด แต่ก็อาจมีหมายศาลไปถึงสถานีโทรทัศน์เรียกไปให้การในฐานะพยาน ทำให้สื่อต้องเสียเวลา

"หากผู้สมัครอยากออกทีวี สื่อก็ต้องถามเขาก่อนว่าพร้อมจะติดคุกแล้วใช่ไหม เพราะกฎหมายห้ามหาเสียง ถ้าเราเอาเขาไปเผยแพร่ ถ้าเขาเผลอตอบเป็นตุเป็นตะ สื่อจะเป็นบาป เพราะทำให้เขาติดคุก" รองเลขาธิการ กกต. กล่าวและว่า นั่นคือเหตุผลที่เคยแนะนำสื่อบางสำนักไปว่าให้ถ่ายภาพบรรยากาศทั่ว ๆ ไปในวันสมัคร และหลีกเลี่ยงการถ่ายเจาะภาพใบหน้า หรือถ้าจะให้ดีก็เบลอหน้าผู้สมัครไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่าผู้สมัครที่แข่งขันกันจะมองว่าเป็นการหาเสียง และหยิบไปร้องเรียนเมื่อไร

เลือกตั้ง สว

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้รองเลขาธิการ กกต.​ประเมินว่าการเลือก ส.ว. ครั้งนี้จะ "เงียบที่สุดในโลก"

"ก็เขาไม่ได้ต้องการให้เป็นข่าว แต่ต้องการให้คนกลุ่มเล็ก ๆ เลือกกันเองแบบกุ๊ก ๆ กิ๊ก ๆ แล้ว คสช. ก็ไปหยิบมา 50 คนแบบเงียบ ๆ" รองเลขาธิการ กกต. กล่าว

จากกระบวนการเลือก ส.ว. ระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และสิ้นสุดที่ระดับประเทศ ได้ 200 รายชื่อที่ กกต. ​เตรียมส่งมอบ คสช. มีคำถามว่าสื่อสามารถทำนาย-ตัดตัวว่าใครเป็น "ตัวเต็ง" ได้เข้าวินเป็น ส.ว. กลุ่มอาชีพทั้ง 50 คนได้หรือไม่ นายณัฏฐ์บอกว่า "ผมอยากให้ทำ แต่จะถูกนำตัวไปปรับทัศนคติหรือไม่ อันนี้ไม่รู้นะครับ ส่วนตัวคิดว่าทำได้ แต่ความเป็นอิสระของสื่อที่จะมาพยากรณ์อะไรต่าง ๆ นี้ อาจเป็นการกดดันเขาได้ หากไม่เลือกชายในดวงใจที่เราบอกว่าเป็นตัวเต็ง"

แต่สำหรับการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน กฎหมายห้ามเปิดเผยโพลก่อนวันเลือก 7 วัน

ห้ามกองเชียร์ชื่นชมในออนไลน์

ห้ามบรรดาญาติมิตร เพื่อนฝูง กองเชียร์ เชียร์และอวยผู้สมัคร ส.ว. ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แม้เป็นความปรารถนาดีที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องก็ตาม เพราะอาจทำให้การเลือก ส.ว. ไม่สุจริตเที่ยงธรรมตาม พ.ร.ป. กกต.

เลือก ส.ว.

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

"กกต.​ จะยื่นมือไปสัมผัสคนโพสต์เชียร์ลูกพี่ หากพบว่าทำให้การเลือกไม่สุจริตเที่ยงธรรม ถ้าเขาตอบได้ก็อธิบายความมา ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องลบโพสต์ แต่ถ้าพบว่าเจตนาโฆษณาหาเสียง ก็ต้องเอาตัวมาลงโทษ" รองเลขาธิการ กกต.​ระบุ

ทั้งหมดนี้ทำให้รองเลขาธิการ กกต. และอดีตโฆษก กรธ. สรุปตรงกันว่าผู้จะได้รับเลือกป็น ส.ว. กลุ่มอาชีพต้องเป็นผู้มีต้นทุนทางสังคมสูง

"เขาต้องมีต้นทุนทางสังคมจริง ๆ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ตื่นขึ้นมาแล้วอยากสมัครเป็น ส.ว. ก็เดินมาสมัคร" นายณัฏฐ์กล่าว

ชวนสมัคร ส.ว.​จะได้เป็น "มนุษย์ประวัติศาสตร์"

รองเลขาธิการ กกต.​ อธิบายขั้นตอนในวันเลือก ส.ว. ว่าผู้สมัครแต่ละคนได้บัตรลงคะแนน 1 ใบ โดยแต่ละคนสามารถเลือกผู้ที่ประสงค์จะให้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพของตนได้ 2 คน ซึ่งเจตนาของกฎหมายก็คือ ให้เลือกตัวเอง 1 คะแนน และเลือกเพื่อนอีก 1 คะแนน ทั้งนี้ในการเลือกให้เขียนเลขอารบิกลงไปในช่องว่าง แต่ถ้าลงคะแนนให้ผู้สมัครเบอร์เดียวซ้ำกัน 2 คะแนนก็จะกลายเป็นบัตรเสียทันที

เขาบอกด้วยว่า กระบวนการเลือก ส.ว. ระดับอำเภอในวันที่ 16 ธ.ค. เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกแล้วไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว "ผมอยากให้สื่อมวลชนไปเก็บภาพประวัติศาสตร์ไว้ หรือถ้าใครอายุถึง 40 ปี ก็อยากให้ไปสมัครเป็น ส.ว. เพราะจะได้เป็นมนุษย์ประวัติศาสตร์"

ที่มา : บีบีซีไทยดัดแปลงจาก "แผนการจัดการเลือก ส.ว." ของสำนักงาน กกต. และ "ปฏิทินการทำงาน" ของ ครม.