วันเลือกตั้ง: รัฐบาล-กกต. ยืนยันกำหนดเดิม 24 ก.พ. 2562

หย่อนบัตร

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

ภายหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายวิษณุ เครืองาม และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างออกมายืนยันว่าวันเลือกตั้งยังเป็นกำหนดเดิม 24 ก.พ.62

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงในวันนี้ ว่า เงื่อนเวลาการเลือกตั้งจะเริ่มนับ 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ดังนั้น กรอบเวลาของวันจัดเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างวันที่ 10 ธ.ค. 2561 ไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2562

เลขาธิการ กกต. ระบุว่า กกต.ยังยึดตุ๊กตาจัดเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำนักงาน กกต.สามารถจัดขั้นตอนต่าง ๆ ได้ เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งถึง 90,000 หน่วยทั่วประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อม

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศวันเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เพิ่งเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้า ฯ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่ายังไม่ตอบรายละเอียดเรื่องการคลายล็อกพรรคการเมือง ต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. นัดประชุมก่อน

ส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร ได้ระบุว่ายืนยันมาหลายครั้งแล้วว่าจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตอบผู้สื่อข่าวว่ากรอบเวลาเลือกตั้งขณะนี้ยังเป็นวันที่ 24 ก.พ.62 "ขณะนี้ยังไม่เคยมีใครพูดเป็นอย่างอื่น" ก่อนระบุถึง กรณีที่ฝ่ายการเมืองเคยออกมาวิจารณ์ว่ากรอบเวลาหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้น้อยเกินไป นายวิษณุ กล่าวว่า "กรอบเวลาหาเสียงครั้งนี้ถือว่านานที่สุดที่เคยมีในประเทศไทย"

นายวิษณุ อธิบายว่า แม้ก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยกำหนดให้เลือกตั้งภายใน 90 วันหลังยุบสภา แต่ต้องรอเงื่อนเวลาการออก พ.ร.ฎ. การเลือกตั้ง และกระบวนการรับสมัครไปจนถึงหาเสียง จึงทำให้แม้ฟังดูเหมือนจะนาน แต่ยังไม่สามารถเลือกได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกรอบเวลา 90 วัน ก่อนที่ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมตามกฎหมายดังกล่าวได้ จะต้องรอให้มีคำสั่ง คสช.ที่จะออกมาเพื่อคลายล็อกให้ทำกิจกรรมบางอย่างก่อน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหน่วยงานสำคัญตามกฎหมายในการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) สองฉบับสุดท้ายลงราชกิจจานุเบกษา คือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. 2561

สำหรับ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้มีผลใช้บังคับใช้ในอีก 90 วันข้างหน้านับแต่วันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หรือตรงกับวันที่ 12 ธ.ค. โดยการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วันนับจากวันดังกล่าว

ร่างปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส.

  • 12 ก.ย. - พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • 23 ก.ย. - ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้
  • 26 ก.ย. - กกต. ออกร่างประกาศเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. (จากนั้นจะให้พรรคเสนอความเห็น)
  • 13 พ.ย. - กกต. ออกประกาศเขตเลือกตั้ง/จำนวนประชากร/พรรคเริ่มเข้าสู่กระบวนการไพร์มารี
  • 11 ธ.ค. - พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้กฎหมาย
  • 19 ธ.ค. - ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้
  • 20 ธ.ค. - ครม. พิจารณาร่าง พ.ร.ฏ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
  • 31 ธ.ค. ประกาศ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
  • 24 ก.พ. 62 วันเลือกตั้ง

ที่มา: เลขาธิการ กกต. / บีบีซีไทยปรับปรุงจากปฏิทินเลือกตั้ง(เบื้องต้น) ของ กกต. ที่เผยแพร่ในที่ประชุมของสำนักงาน กกต.

พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหาทั้งสิ้น 178 มาตรา โดยถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการนำระบบเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" มาใช้ โดยให้ประชาชนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 เขต และนำคะแนนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งประเทศของพรรคนั้น ๆ ไปคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวม 150 คน นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อแล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไป

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.

ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากไม่ยอมไปใช้สิทธิก็จะถูกตัดสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. สมาชิกท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการการเมือง

โดยหีบเลือกตั้งจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ส่วนการนับคะแนนจะเกิดขึ้นที่หน่วยเลือกตั้ง

ส่วน พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 13 ก.ย. นั่นเอง มีเนื้อหารวม 99 มาตรา โดยกำหนดให้ ส.ว. มีทั้งสิ้น 200 คน แต่เฉพาะในวาระเริ่มแรก 5 ปี กำหนดให้มี ส.ว. 250 คนจะมีที่มาจาก 3 ช่องทางคือ 1. มาจากการสรรหาของ คสช. จำนวน 194 คน 2. ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน และ 3. การเลือกตั้งโดยกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ จำนวน 200 คนก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 50 คน

ตามปฏิทินเบื้องต้นของ กกต. คาดการณ์ว่า ครม. จะพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวันที่ 15 พ.ย. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยประเมินว่าจะจัดการเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ว. ระดับอำเภอได้ในวันที่ 30 ธ.ค. ระดับจังหวัดในวันที่ 6 ม.ค. 62 และระดับประเทศในวันที่ 16 ม.ค. 62