ทำไมคนเราถึงปักใจเชื่อทฤษฎีสมคบคิด ?

NASA

ที่มาของภาพ, NASA

คำบรรยายภาพ, นักบินอวกาศจอห์น ยัง กระโดดลอยตัวพร้อมทำวันทยหัตถ์ไปด้วย ขณะเดินสำรวจดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจอะพอลโล 16

กระแสความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ที่กำลังมาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาตัดสินข่าวสารที่ได้รับฟังหลายเรื่องว่าเป็น "ข่าวปลอม" กันมากขึ้น ดังเช่นที่หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า แท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯ คือผู้จัดฉากก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) ขึ้นเสียเอง หรือการที่นาซาส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ ก็เป็นเพียงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำขึ้นหลอกลวงชาวโลกเท่านั้น

แม้ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้จะมีหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อมูลอยู่น้อยมาก แต่คนจำนวนไม่น้อยก็พร้อมจะปักใจเชื่อโดยไม่สงสัยหรือตั้งคำถามแม้สักนิด ซึ่งในหลายกรณีก็สร้างความเสียหายขึ้นในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง เช่นการที่นักการเมืองผู้วางนโยบายระดับประเทศไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง หรือการที่เกิดโรคหัดระบาดหนักในหมู่เด็กชาวยุโรป เพราะพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกรับการฉีดวัคซีนที่ตนเชื่อว่าเป็นแผนการทดลองควบคุมประชากรของรัฐบาล

นักจิตวิทยาหลายคนพยายามหาคำตอบว่า เหตุใดผู้คนจำนวนมากจึงเชื่อถือในทฤษฎีสมคบคิด ไม่เว้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาหรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มที่น่าจะมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลด้วยซ้ำ

Scene of attack

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บางคนเชื่อว่าสหรัฐฯ คือผู้จัดฉากก่อเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) ขึ้นเสียเอง

เรื่องราวฝังใจจากจินตนาการวัยเด็ก

หากลองตั้งคำถามกับเด็กอายุ 3 ขวบว่าทำไมฝนจึงตก หนูน้อยก็อาจตอบว่า "เพราะดอกไม้กระหายน้ำ" เด็กในวัยเดียวกันอีกคนก็อาจจะบอกคุณด้วยว่า ต้นไม้ผลิใบเพื่อจะได้ให้ร่มเงากับคนและสัตว์ที่ผ่านไปมา

คำพูดเช่นนี้คือตัวอย่างของความคิดแบบ "อันตนิยม" (Teleological thinking ) ซึ่งหมายถึงความคิดแบบที่เชื่อว่าสรรพสิ่งมีจุดมุ่งหมายในตัวเอง และทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นความคิดที่ตรงข้ามกับหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ โดยไม่ต้องรับใช้วัตถุประสงค์ใด ๆ เลยก็ได้

ความคิดแบบอันตนิยมเป็นพื้นฐานสำคัญในการเริ่มเรียนรู้โลกและสิ่งรอบตัวของเด็กเล็ก แต่วิทยาศาสตร์มองว่าความคิดแนวนี้ทำให้คนเราเชื่อมโยงเหตุและผลผิดพลาด เช่นหนูน้อยอาจคิดว่าฝนตกเพื่อให้ดอกไม้ได้ดื่มน้ำ แต่อันที่จริงฝนตกได้ทุกเมื่อหากมีปัจจัยทางธรรมชาติพร้อมมูล โดยไม่จำเป็นว่าจะมีดอกไม้อยู่หรือไม่

ความคิดที่มาจากนิทานสอนเด็ก หรือการที่ผู้ใหญ่ตอบคำถามเรื่องปรากฏการณ์ต่าง ๆ แบบให้เด็กได้เข้าใจง่าย อาจฝังลึกอยู่ในฐานความคิดและจินตนาการของคนเราจนโตเป็นผู้ใหญ่ นำไปสู่ความเชื่อถือในทฤษฎีสมคบคิดที่สามารถให้คำอธิบายได้ว่า เหตุการณ์สะเทือนโลกต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะใครคือผู้บงการ และเขาผู้นั้นมีจุดประสงค์อะไรกันแน่

ไม่ต่างจากความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก

การที่ความคิดแบบอันตนิยมมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากนั้น อาจเป็นเพราะมันมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับแนวความคิดที่แพร่หลายกว้างขวางในหมู่คนเรามาแต่โบราณกาล ซึ่งก็คือความเชื่อว่ามี "ผู้สร้าง" สรรพสิ่ง (Creationism) หรือความเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก จักรวาล และสรรพชีวิตนั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสและชาวฝรั่งเศสได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลวิจัยล่าสุดลงในวารสาร Current Biology โดยระบุว่าผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนั้น มีพื้นฐานความคิดคล้ายคลึงกับคนที่เชื่อว่ามีผู้สร้างสรรพสิ่งอย่างมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้เองก็มองว่า เรื่องกำเนิดมนุษย์และสัตว์ในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นเรื่องโกหกหลอกลวงเช่นกัน

ดร. เซบาสเตียน ดีเกซ หนึ่งในทีมนักวิจัยดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยฟริบัวร์ (Fribourg) ของสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่าพบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างสองแนวคิดนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนในฝรั่งเศส ทั้งยังพบความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างแนวคิดอันตนิยมกับความเชื่อถือทฤษฎีสมคบคิด ในกลุ่มนักศึกษา 150 คนในสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

ดร. ดีเกซหวังว่างานวิจัยของเขาจะช่วยให้ผู้คนมีความกระจ่างทางความคิดมากขึ้น และได้เข้าใจว่าความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความคิดแบบโบราณที่ว่ามีผู้สร้างสรรพสิ่งเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการข้อมูลในโลกยุคหลังความจริง (Post-truth) ที่ผู้คนต่างสับสนและไม่แน่ใจว่าอะไรจริงอะไรเท็จกันแน่

เหตุใดบางคนจึงปฏิเสธวิทยาศาสตร์ ?

ศ. สเตฟาน เลวานโดวสกี ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสทอลของสหราชอาณาจักรชี้ว่า แต่เดิมนั้นนักจิตวิทยาให้คำอธิบายเรื่องความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อพยายามหลีกหนี "ความจริงที่รับฟังได้ยาก" ของคนกลุ่มดังกล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่ง คือกรณีที่คนสูบบุหรี่ไม่สู้จะเชื่อถือข่าวสารเรื่องพิษภัยต่อสุขภาพจากบุหรี่เท่าใดนัก โดยมักจะกล่าวหาว่าเป็นข่าวลวงที่รัฐบาลสร้างขึ้น เพื่อหวังผลบางอย่างในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองไป

ปธน.ทรัมป์

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะเชื่อในผลการวิจัยเรื่องภาวะโลกร้อน

ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธที่จะเชื่อในผลการวิจัยเรื่องภาวะโลกร้อนเช่นกัน ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ได้สั่งสมข้อมูลอย่างเป็นระบบมานานถึง 150 ปี แต่นายทรัมป์กลับยืนกรานว่าเรื่องนี้เป็นเพียงข่าวปลอมที่จีนปล่อยแพร่ออกมา เพื่อให้สหรัฐฯเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้น

"งานวิจัยล่าสุดที่ระบุว่าทฤษฎีสมคบคิดนั้นไม่ต่างกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ช่วยทำให้เราเข้าใจความคิดของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเป็นระบบและลึกซึ้งมากขึ้น และจะช่วยให้เราแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องในระบบการศึกษาที่สร้างความเชื่อเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย" ศ. เลวานโดวสกี กล่าว