ราชาภิเษก : หอภาพยนตร์ฉายหนังพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 ที่ไม่เคยเผยแพร่ในไทยมาก่อน

  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล & แพรวรดา บุญชู
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ภาพยนตร์พระบรมราชาภิเษก ร.7

ที่มาของภาพ, หอภาพยนตร์

เนื่องในโอกาสมหามงคล ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในต้นเดือน พ.ค. หอภาพยนตร์ ได้จัดทำและเผยแพร่ภาพยนตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาล ที่ 7 ฉบับที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ในชื่อ "Unseen ภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7"

ภาพยนตร์ความยาวกว่า 30 นาทีนี้ จัดทำจากฟิล์มเก่าแก่ ประเภทฟิล์มไนเตรต ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวงบันทึกไว้ ระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2468 แต่ไม่ได้ตัดต่อรวมในฉบับฉายจริง หรือ "ฉบับทางการ" ความยาว 15 นาทีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์เกียรติคุณ เป็นผู้ค้นพบฟิล์มต้นฉบับจากกองฟิล์มราว 500 ม้วน จาก "ป่าช้ากรมรถไฟ" ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพยนตร์พระบรมราชาภิเษก ร.7

ที่มาของภาพ, หอภาพยนตร์

"เหมือนถูกเก็บลืม" โดม เล่าถึงการค้นพบในวัยหนุ่ม "ฟิล์มสภาพเหมือนศพเน่าเฟะ มีแก๊สออกมาด้วย"

จากนั้นได้ติดต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้รับฟิล์มเหล่านี้ไปเก็บรักษา แต่ไม่เคยได้ดำเนินการใด ๆ ต่อมา หอภาพยนตร์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 และกลายสถานะเป็นองค์การมหาชนในปี 2552 จึงได้รับมอบฟิล์มเหล่านี้มา และจัดทำฉบับ "Unseen" ขึ้น ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เขาบอก

อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ยอมรับว่า ม้วนฟิล์มไนเตรต "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7" ที่เขาค้นพบในวัยเรียน เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นเพียง "เศษฟิล์ม" หรือฟิล์มที่เหลือจากการตัดต่อภาพยนตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร. 7 ฉบับเต็ม ที่เชื่อว่ามี 5 ม้วน ความยาวกว่า 1 ชั่วโมง ที่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการค้นพบ

"แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย" เขากล่าว "เพราะนี่เป็นมรดกที่คนรุ่นโบราณอุตสาหะสร้างไว้ และเหลือให้พวกเรา"

โดม

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์

ฟิล์มไนเตรต คืออะไร?

ภาพยนตร์พระราชพิธีฯ ร. 7 ฉบับที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนนี้ ผลิตขึ้นจากม้วนฟิล์มไนเตรต 11 ม้วน จาก 500 ม้วนที่โดมค้นพบที่กรมรถไฟหลวงเก่า ในสภาพที่เรื่องราวไม่ปะติดปะต่อกัน

"ฟิล์มประเภทนี้เป็น [เทคโนโลยี] ตัวแรกเลย ตอนนี้ไม่ผลิตแล้วเพราะอันตราย ลุกติดไฟง่าย" ธีทัต วิริยกิจจา นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง อธิบายให้บีบีซีไทยฟัง

นอกจากนี้เขายังเล่าว่า หอภาพยนตร์ต้องเก็บรักษาฟิล์มไนเตรต แยกห้องไว้ต่างหากในอุณหภูมิประมาณ 10 องศา และความชื้นร้อยละ 45 - 50 รวมถึงจะนำมาตรวจเช็คสภาพทุกปี

อรพร ลักษณากร นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยสร้างไฟล์ดิจิทัลซึ่งได้จากการสแกนเศษฟิล์มต้นฉบับ และทำให้มีความคมชัดและสวยงาม แต่เธอยอมรับว่า อาจตัดต่อและเรียงลำดับได้ไม่ถูกต้องนัก

คำบรรยายวิดีโอ, เปิดตัวภาพยนตร์พระบรมราชาภิเษก ร.7

"เราก็ไม่เก่งเรื่องข้อมูล แต่จะมีเจ้าหน้าที่แผนกสารสนเทศคอยช่วยเปิดหนังสือดูว่าลำดับเหตุการณ์ไหนมาก่อนหรือหลัง" อรพรกล่าว

โดยหลักฐานที่ใช้อ้างอิงเรื่องราว ได้แก่ จดหมายเหตุและสมุดภาพที่บันทึกพระราชกิจรายวันของรัชกาลที่ 7 รวมถึงวิดีโอพระราชพิธีฉบับสั้น 15 นาที และการสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ

ภาพยนตร์พระบรมราชาภิเษก ร.7

ที่มาของภาพ, หอภาพยนตร์

หลักฐานสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ไทย

ผศ.ดร. ดินาร์ บุญธรรม จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาในงานเปิดตัวภาพยนตร์ฉบับนี้

"หลักฐานในรูปแบบภาพยนตร์ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในไทย มีเพียงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 เท่านั้น" ดินาร์ กล่าว

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านพระราชพิธีคนสำคัญของไทย วิเคราะห์ว่า ภาพยนตร์ "ฉบับทางการ" และ "ฉบับ Unseen" ที่หอภาพยนตร์จัดทำ ล้วนเน้นขั้นตอนของวันที่ 25 ก.พ. 2468 แต่ทั้ง 2 ฉบับถือว่ายังไม่สมบูรณ์ แม้จะนำมารวมกันแล้วก็ตาม

แต่ละพิธีการมีภาพบันทึกไว้ เพียงอย่างละเล็กละน้อย บางขั้นตอนสำคัญก็ไม่ปรากฏอยู่ อาทิ การเสด็จฯ ไปวัดพระแก้ว หรือขั้นตอนการเสด็จเลียบพระนคร ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีขั้นตอนพระราชพิธีภายในวัดและภายในพระบรมมหาราชวัง จึงสันนิษฐานได้ว่า

"พนักงานถ่ายอยู่เฉพาะบริเวณนอก ไม่มีการตั้งกล้องภายใน"

ดินาร์ และโดม ตั้งความหวังว่า ภาพพระราชพิธีฯ ที่ขาดหายไปในภาพยนตร์ 2 ฉบับ จะปรากฏให้รับชม หากค้นพบฟิล์ม 5 ม้วนฉบับเต็ม ที่มีความยาวกว่า 1 ชั่วโมง

วงเสวนา

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร. ดินาร์ บุญธรรม (กลาง) และ โดม สุขวงศ์ (ขวาสุด)

ภาพยนตร์ข่าว สิ่งบันเทิงคนรุ่นก่อน

กองภาพยนตร์ข่าว กรมรถไฟหลวง ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีการส่งเจ้าพนักงานไปศึกษาดูงาน และอุปกรณ์ที่ฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา

ในสมัยนั้น สังคมไทยมีความนิยมถ่ายหนังประเภทสมัครเล่น หรือ "หนังบ้าน" กันมากขึ้น เพราะหนังฟิล์ม เป็นสิ่งที่รับชมได้ในชุมชน ยุคที่ยังไม่มีทีวี และวิทยุกระจายเสียง เพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง

"โรงหนังเหมือนทีวีประจำตำบล คนทานข้าวเสร็จจะไปดูโรงหนัง เพราะฉะนั้น หนังสมัยนั้นจึงมีบทบาทเหมือนสื่อมวลชน" โดม ระบุ และเสริมว่า ในอดีตหนังจะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า ขณะที่หนังสือพิมพ์จะขายอยู่เฉพาะในเมือง และมีคนอ่านไม่มาก

แต่ในเมื่อภาพยนตร์เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เหตุใดจึงไม่มีภาพยนตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร. 6 โดมอธิบายว่า เพราะพระองค์ "ไม่โปรดให้ถ่าย" ถ้าจะมีให้เห็น ก็เป็นเพียง "หนังสมัครเล่น" ที่ประชาชนและเจ้านายยุคนั้น ถ่ายเองจากด้านนอก

"สมัยรัชกาลที่ 7 จึงเป็นครั้งแรกของสยาม ที่ถ่ายพระบรมราชาภิเษกละเอียดทุกขั้นตอน"