เลือกตั้ง 2562 : จำเป็นไหมต้องมีผู้สังเกตการณ์นานาชาติ

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
  • Author, นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

การไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2558 นับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันต่อนานาชาติว่าไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้ง หลังจากที่ยึดอำนาจจากการรัฐประหารเป็นเวลาหนึ่งปี

หลังจากนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อหลาย ๆ ประเทศ ที่ทวงถามถึงการคืนประชาธิปไตยให้แก่คนไทย จนกระทั่งเดือน พ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยืนยันกับต่างประเทศว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสที่สุด

แต่คำมั่นสัญญาดังกล่าวกลับไม่สอดคล้องกับท่าทีปัจจุบันของรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรต่างประเทศส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยตัวแทนรัฐบาลที่แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่มองว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเชิญคณะผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศมาตรวจสอบเรื่องที่เป็นกิจการภายในของไทย

"มันเป็นศักดิ์ศรีของประเทศเรา แทนที่จะทำกันเอง ต้องเอาคนอื่นเข้ามาตลอดเวลาได้อย่างไร นี่มัน พ.ศ. 2561 แล้ว เรื่องอะไรต่างชาติจะเก่งไปกว่าเราทุกเรื่องได้ยังไง" นายดอน กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า "ประเทศไทยเราต้องแก้ปัญหาของเราเองให้ได้"

แม้ว่าการตัดสินใจเรื่องการอนุญาตให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ กกต. ยังไม่ให้คำตอบในเรื่องนี้ และไม่ว่างที่จะให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเผยแพร่

"ครั้งนี้สำคัญเพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบอบรัฐประหาร และเป็นการเลือกตั้งภายใต้สัญญาของฝั่งไทยว่าจะทำการเลือกตั้งที่ดี และจะได้คบค้ากันต่อไป" นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

"คสช. สัญญาเขาไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแบบประชาธิปไตย และทางฝั่งเขาก็เลยเอาสิ่งที่ คสช. สัญญาเป็นเงื่อนไขที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย ว่าจะกลับเป็นปกติก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม"

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Elections หรือ แอนเฟรล) เป็นหนึ่งในองค์กรนานาชาติที่เคยส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งของไทยถึงสี่ครั้ง ในปี 2544, 2548, 2550 และ 2554 โดยทุกครั้งมีการส่งตัวแทนประจำอยู่ในทุกจังหวัด

สมาชิกเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ แอนเฟรล สังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศฟิลิปปินส์ปี 2550

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมาชิกเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ แอนเฟรล สังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศฟิลิปปินส์ปี 2550

น.ส.ชันดานี วาตาวาลี ผู้อำนวยการแอนเฟรล กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แอนเฟรลสนใจที่จะสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย เนื่องจากนี่จะเป็นครั้งแรกที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายใหม่ภายหลังจากที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร

"ฉันหวังว่าจะไม่มีปัญหา[ในการเข้าร่วมสังเกตการณ์] เพราะการสังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง มันคือกิจกรรมภาคประชาสังคม" เธอกล่าว "การให้ต่างชาติร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับ"

ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมาในปี 2540 แอนเฟรลได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจำนวน 60 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการเลือกตั้งซ่อมของประเทศเมียนมาในเดือนที่ผ่านมา

สมาชิกของแอนเฟรล ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในแต่ละประเทศ มีอยู่ใน 16 ประเทศทั่วเอเชีย โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ

หนึ่งในสมาชิกในไทยคือ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ พีเน็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในกว่า 100 องค์กรในไทยที่ได้รับการรับรองจาก กกต. ให้ตรวจสอบการเลือกตั้ง

สิ่งหนึ่งที่พีเน็ตมีความกังวลในวันเลือกตั้ง คือ ความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ

"ภายใต้สถานการณ์ที่เรามีรัฐบาลทหารมาสี่ถึงห้าปี บรรยากาศการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเสรีมากที่สุด" ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขานุการพีเน็ต กล่าวกับบีบีซีไทย "เมื่อถึงตอนปลดล็อคแล้วก็ต้องปลดจริง ๆ ไม่ใช่ยังมีอิทธิพลอยู่ เป็นวาระที่ต้องแสดงความจริงใจและต้องให้ประชาชนตัดสินใจโดยปลอดจากอิทธิพลต่าง ๆ อย่างแท้จริง"

แม้ว่าไทยจะมีองค์กรภายในประเทศที่ตรวจสอบการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่ ดร.ลัดดาวัลย์ยืนยันว่า การให้ต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเลือกตั้งที่ตรวจสอบได้และโปร่งใส เป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่ผู้นำจะได้รับการยอมรับในสังคมโลก

แอนเฟรลเป็นหนึ่งในองค์กรและภาคประชาสังคมที่ตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ขาดพรรคฝ่ายค้านหลัก ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจที่จะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง

ป้ายหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชาเห็นเด่นชัดในทุกที่ ส่วนป้ายหาเสียงพรรคอื่น ๆ อีก 19 พรรคแทบมองไม่เห็นเลย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ป้ายหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชาเห็นเด่นชัดในทุกที่ ส่วนป้ายหาเสียงพรรคอื่น ๆ อีก 19 พรรคแทบมองไม่เห็นเลย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเองก็ได้ตัดสินใจว่าจะไม่ส่งตัวแทนสังเกตการณ์การเลือกตั้งดังกล่าวเช่นกัน

แม้ว่าหน่วยงานที่กำกับการเลือกตั้งของกัมพูชาระบุว่ามีผู้สังเกตการณ์เกือบ 80,000 คนจากในประเทศ แต่ชันดานีกล่าวว่า ในจำนวนนั้น เกินครึ่งหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล

สำหรับ น.ส.วาตาวาลี ไม่มีการเลือกตั้งในประเทศไหนที่สมบูรณ์แบบ 100% ดังนั้น องค์กรนานาชาติมีความสำคัญในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และต่างจากองค์กรท้องถิ่นเนื่องจากไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองในประเทศ

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. แอนเฟรลได้ไปพบกับสมาชิก กกต. ชุดก่อนเพื่อแสดงความประสงค์ที่จะสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เนื่องจากวันเลือกตั้งยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ เธอหวังว่าในต้นเดือนหน้าจะไปพบกับ กกต. ชุดใหม่เพื่อแสดงความประสงค์อีกครั้ง

"เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากกับ กกต. และพวกเขา[เคย]ตอบรับคำขอของเราอย่างดี นั่นแปลว่าเรามีความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายเพราะเขารู้ว่าเราทำอะไร และเราทำตามกติกานานาชาติในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง" เธอกล่าว

คนไทยที่คูหา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การออกเสียงประชามติปี 2559 เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลห้ามให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย

ในที่สุดแล้ว หาก กกต. ไม่อนุญาตให้ต่างชาติสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ก็จะถือเป็นครั้งแรกที่ไทยตัดสินใจดังกล่าว

นายสุณัย ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการแอนเฟรล กล่าวว่า ลำพังเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ท้องถิ่นไม่เพียงพอในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เนื่องจากจะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มีคำสั่ง คสช. ที่ทำให้ไม่มีอิสระเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์

"ปัญหาในไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศเข้ามา มันเกิดขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหารที่ไม่มีใครคบ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เขาคบก็ให้เขามาดูเสียจะได้คบกันได้เสียที" นายสุณัย กล่าว

"รัฐบาลแสดงเจตนาเห็นชัดว่าไม่ต้อนรับต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไปรับปากไว้ แล้วคำถามคือ ถ้าไม่มีชะงักปักหลัง ทำไมถึงไม่กล้าเชิญเขาเข้ามา"

Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562