น้ำมันรั่วที่รัสเซีย ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างหายนะทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง

Ambarnaya river where red diesel is being collected by booms

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, น้ำมันดีเซลที่รั่วไหลออกมาทำให้แม่น้ำที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุกลายเป็นสีแดง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วสู่แม่น้ำครั้งใหญ่ในเขตขั้วโลกเหนือส่วนที่เป็นของรัสเซีย กลายเป็นภัยพิบัติที่กำลังสร้างความหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งยังสร้างความสั่นสะเทือนต่อฐานอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียด้วย

ประธานาธิบดีปูติน ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากน้ำมันดีเซลปริมาณ 20,000 ตัน รั่วไหลจากถังเก็บเชื้อเพลิงของโรงงานไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำที่เมืองนอริลสก์ ในเขตวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

หายนะทางสิ่งแวดล้อม

A oil tank at the TPP-3 thermal power station outside Norilsk

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ถังเชื้อเพลิงที่ถล่มลงมาอาจเป็นผลมาจากการที่เสารองรับโครงสร้างถังทรุดตัวลง เนื่องจากโรงงานสร้างอยู่บน "ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว" ที่อาจจะยุบตัวลงจากน้ำแข็งที่ละลายเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น้ำมันที่รั่วไหลออกมา ได้ไหลเข้าปนเปื้อนแม่น้ำหลายสายในท้องถิ่น รวมทั้งไหลซึมสู่พื้นดิน เจ้าหน้าที่รัสเซีย รวมทั้งบรรดาหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศต่างระบุว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมยาวนานหลายสิบปี และเกรงว่าน้ำมันจะรั่วไหลไปถึงมหาสมุทรอาร์กติกในแถบขั้วโลกเหนือด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล (Norilsk Nickel) หนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของโลก ใกล้กับเมืองนอริลสก์ ในเขตไซบีเรีย ได้ถล่มลง

ดูเหมือนว่าถังเชื้อเพลิงที่ถล่มลงมาจะเป็นผลมาจากการที่เสารองรับโครงสร้างถังได้ทรุดตัวลง เนื่องจากโรงงานสร้างอยู่บน "ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว" ที่เรียกว่า เพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) ที่อาจจะยุบตัวลงจากน้ำแข็งที่ละลายอันเป็นผลมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รองประธานบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล ระบุว่า เสารองรับโครงสร้างดังกล่าวใช้งานได้ดีมา 30 ปี และไม่มีสัญญาณว่าจะเสื่อมสภาพ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการบำรุงรักษาอย่างดีที่สุด แต่ชี้ว่า "อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นผิดปกติ" อาจเป็นสาเหตุการถล่มครั้งนี้

แม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดง

Diesel and polluted water collected in a dam

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, กรีนพีซ ชี้ว่า น้ำมันดีเซลมีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ และยังมีส่วนผสมของสารเคมีที่ทุ่นลอยดักจับน้ำมันไม่สามารถดักจับได้

สื่อทางการรัสเซียรายงานว่า น้ำมันดีเซลที่รั่วไหลออกมาลอยไปไกล 12 กม. ส่งผลให้แม่น้ำกลายเป็นสีแดงเข้ม การปนเปื้อนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ราว 350 ตร.กม.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ บริษัทนอริลสก์ นิกเกิล เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ เพราะเมื่อปี 2016 บริษัทยอมรับว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัท ส่งผลให้แม่น้ำที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุสายหนึ่งกลายเป็นสีแดงมาแล้ว

Enhanced European Space Agency photographs show the stretches of rivers where red diesel has seeped

ที่มาของภาพ, European Space Agency

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายจากองค์การอวกาศยุโรป เผยให้เห็นน้ำมันดีเซลสีแดงที่ไหลลงสู่แม่น้ำ

ปัญหาน้ำมันรั่วไหลมักสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะน้ำมันที่รั่วออกมานั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้นานหลายปี อีกทั้งยังทำความสะอาดและขจัดออกไปได้ยากมากด้วย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กระบวนการทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลออกมานั้นอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้มากพอ ๆ กับความเสียหายที่เกิดจากน้ำมันที่รั่วไหลออกมาในตอนแรก

การประกาศภาวะฉุกเฉินของผู้นำรัสเซีย จะทำให้ทางการส่งกองกำลังพิเศษเข้าไปปฏิบัติภารกิจทำความสะอาดในพื้นที่ได้

Booms across a river with water collection tanks in the background

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, มีการใช้ทุ่นดักจับน้ำมันที่ไหลไปตามแม่น้ำ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า การทำความสะอาดอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี และระบบนิเวศอาจเสียหายจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย นายอเล็กเซ คนิซนิคอฟ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนสัตว์ป่าโลก ชี้ว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุน้ำมันรั่วไหลสู่ธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของรัสเซีย ในแง่ของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมา

ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ในรัสเซีย ระบุว่า นี่เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในแถบขั้วโลกเหนือครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี พร้อมชี้ว่า การทำความสะอาดเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี และระบบนิเวศอาจเสียหายจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก

นอกจากนี้ กรีนพีซ ยังแสดงความกังขาถึงประสิทธิภาพในการใช้ทุ่นลอยดักจับน้ำมัน โดยชี้ว่า น้ำมันดีเซลมีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ และยังมีส่วนผสมของสารเคมีที่ทุ่นลอยดักจับน้ำมันไม่สามารถดักจับได้

"น้ำมันดีเซลบางชนิดจะละลายในน้ำ และสารเคมีจะตกค้างอยู่ได้นานอีกหลายปี" กรีนพีซระบุ พร้อมชี้ว่า "สารที่เป็นพิษเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อแม่น้ำและทะเลสาบ เชื้อเพลิงบางส่วนจะระเหยขึ้นสู่อากาศที่คนในท้องถิ่นสูดหายใจเข้าไป"

ขณะที่บางฝ่ายแนะนำให้ใช้วิธีเผาเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมา แต่นายดมิทรี โคบิลกิน รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของรัสเซียชี้ว่าวิธีการดังกล่าวเสี่ยงเกินไป

"มันเป็นสถานการณ์ที่ยากมาก ผมไม่อาจจินตนาการถึงการเผาเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาลในเขตขั้วโลกเหนือ...กองไฟขนาดใหญ่ในบริเวณเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้" เขากล่าว

นอกจากนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังคาดว่า การฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นอาจต้องใช้เวลานานกว่าสิบปี

เหตุใด ปธน.ปูติน จึงไม่พอใจอย่างรุนแรง

Russian President Vladimir Putin faces a TV screen with a number of officials on a video conference

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ปธน.ปูตินแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ที่มีการรายงานเหตุน้ำมันรั่วไหลล่าช้าถึง 2 วัน ในระหว่างการประชุมของรัฐบาล

ประธานาธิบดีปูติน แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังตรวจสอบพบว่า โรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล รายงานเหตุน้ำมันรั่วไหลล่าช้าไปถึง 2 วัน ส่งผลให้ผู้อำนวยการโรงงานไฟฟ้าถูกควบคุมตัว ขณะที่ทางการรัสเซียได้เปิดการสอบสวนคดีอาญาในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ และการละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

คะแนนนิยมของประธานาธิบดีปูตินกำลังดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุด หลังจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำลง รวมทั้งการที่คนรัสเซียจำนวนมากมองว่ามาตรฐานชีวิตของพวกเขากำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ

ก่อนจะถึงการลงประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ซึ่งจะเปิดทางให้นายปูตินลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีกสมัย และจะทำให้เขาอยู่ในอำนาจต่อไปได้จนถึงปี 2036 นายปูติน จึงมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนชาวรัสเซียได้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่ทำงานมีประสิทธิภาพ และยังสามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจึงอาจเป็นบททดสอบที่ยากเย็นที่สุดในการจัดการสำหรับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ซึ่งบางคนชี้ว่าเป็นการใช้อย่างไม่รอบคอบนัก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา