มวยเด็ก : ปัญหาสิทธิเด็กใต้เงาวัฒนธรรม บนประโยชน์ธุรกิจแสนล้าน

วิจัย Child Watch Project โดยสถาบันรามจิตติ ระบุว่า สาเหตุหลักที่เด็กตัดสินใจชกมวย เนื่องจากต้องการหาเงินส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, วิจัย Child Watch Project โดยสถาบันรามจิตติ ระบุว่า สาเหตุหลักที่เด็กตัดสินใจชกมวย เนื่องจากต้องการหาเงินส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา
  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

การเสียชีวิตของนักมวยเด็กวัย 13 ปี เมื่อวันที่ 11 พ.ย. จากสาเหตุเลือดคั่งในสมอง หลังขึ้นชกบนสังเวียนใน จ.สมุทรปราการ คือ บทสะท้อนปัญหาสิทธิเด็กที่สังคมยอมหลับตาข้างหนึ่ง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ขณะที่กลไกธุรกิจมวยไทยมูลค่ากว่าแสนล้านต่อปียังไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้กับนักมวยเด็กได้

เพชรมงคล ป. พีณภัทร หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก อายุ 13 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พ.ย. จากสาเหตุเลือดคั่งในสมอง หลังขึ้นชกบนสังเวียนใน จ.สมุทรปราการ อาจจะเป็นแค่เรื่องไฟไหม้ฟางเท่านั้น หากว่าธุรกิจมวยไทย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่าแสนล้านบาทและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางกฎหมายไม่ลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก

แม้ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา คนในวงการมวยและผู้ยกร่างพระราชบัญญัติมวยฉบับใหม่เห็นต่างกันในเรื่องการกำหนดอายุขั้นต่ำของนักมวยเด็ก แต่ดูเหมือนว่าการเสียชีวิตของนักมวยเด็กคนนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่า ระบบมวยไทยในปัจจุบัน ยังมีช่องโหว่ ที่จะกลายเป็นสิ่งบั่นทอนทั้งวงการในอนาคต รวมทั้งความปลอดภัยของเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญในวงการมวยยอมรับว่า ทัศนคติของผู้ปกครองของนักมวยเด็ก บวกกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งสภาพแวดล้อมธุรกิจมวยในต่างจังหวัดมีส่วนที่ทำให้ ค่ายมวยและผู้จัดการแข่งขันอาจจะละเลยความปลอดภัยของนักมวยเด็ก โดยพุ่งเป้าไปยังชัยชนะและเงินรางวัล โดยขาดองค์ความรู้

การเสียชีวิตของ ด.ช.อนุชา จึงจุดประกายคำถามขึ้นอีกครั้งว่า เหมาะสมหรือไม่ที่ให้เด็กเข้าชกมวยซึ่งเป็นกีฬาที่ต้องปะทะกัน มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด รวมทั้งได้รับการประเมินสถานการณ์ทันท่วงทีหรือไม่

ผลประโยชน์มาก่อนความปลอดภัย-สิทธิเด็กหรือไม่?

อีกหนึ่งคำถามของผู้คร่ำหวอดในวงการมวยบอกกับบีบีซีไทยคือ ในการแข่งขันชกมวยดังกล่าว มาตรฐานของเวทีและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน ณ สถานการณ์นั้นเพียงพอหรือไม่

"ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ที่มีความเป็นแม่ ที่อยู่ในวงการมวยมากว่า 30 ปี รู้สึกเสียใจสิ่งที่เกิดขึ้นหากมีลูกอยู่ในวัยกำลังเติบโตแบบนั้น แต่ก็พอเข้าใจได้สังคมแบบนี้ ว่าการฝึกมวยเป็นสิ่งที่ดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การรักกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่อยู่บนการขาดองค์ความรู้" ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์หญิง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วันทรงชัย จำกัด กล่าว

โปรโมเตอร์หญิงรายนี้บอกว่า การฝึกมวยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 6 ขวบ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้เร็ว แต่หากไม่มีใครช่วยให้แนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง

"...การฝึกมวยเป็นสิ่งที่ดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การรักกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่อยู่บนการขาดองค์ความรู้" ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์หญิง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วันทรงชัย จำกัด กล่าว

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, "...การฝึกมวยเป็นสิ่งที่ดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การรักกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่อยู่บนการขาดองค์ความรู้" ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์หญิง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วันทรงชัย จำกัด กล่าว

"หากมองในภาพรวมระบบของมวยไทย ยังมีช่องโหว่ตรงที่ว่า ให้เด็กขึ้นชก โดยไม่ได้มีการเข้มงวดมากนัก ทั้งในเรื่อง กฎกติกา การกำหนดระยะพักฟื้น การขออนุญาตในการแข่งขัน เป็นการขึ้นทะเบียนขึ้นนักมวย" เธอกล่าว

"ขาวผ่อง สิทธิชูชัย" หรือ ทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยในทำนองเดียวกันว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่วงการมวยต้องตื่นตัว โดยเฉพาะเรื่องของการตัดสิน การใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาตร์การกีฬาและอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการทำหน้าที่ของแพทย์สนาม และผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินว่ามีความสามารถในการประเมินสถานการณ์และเข้าช่วยเหลือป้องกันมวยเด็กที่เสียชีวิตเพียงพอหรือไม่

สมศักดิ์ ดีรุจิเจริญ ผู้ฝึกสอนมวยไทย ชมคลิปวิดีโอการชกครั้งสุดท้ายของน้องอนุชา ทาสะโก นักมวยเด็กวัย 13 ปี ระหว่างร่วมงานศพของน้องอนุชาที่วัดใน จ.สมุทรปราการ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมศักดิ์ ดีรุจิเจริญ ผู้ฝึกสอนมวยไทย ชมคลิปวิดีโอการชกครั้งสุดท้ายของน้องอนุชา ทาสะโก นักมวยเด็กวัย 13 ปี ระหว่างร่วมงานศพของน้องอนุชาที่วัดใน จ.สมุทรปราการ

อดีตนักชกเหรียญเงินโอลิมปิก พ.ศ. 2527 ยังตั้งคำถามว่า ความไม่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของเด็กอาจจะมาจากความต้องการเอาผลประโยชน์จากการแข่งขันมากเกินไปหรือไม่

หากถามว่าเหตุเศร้าสลดนี้เป็นความผิดพลาดของผู้ปกครองและความผิดพลาดของการบังคับใช้กฏหมายหรือไม่ เว็บไซต์ข่าวสด อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ค่ายเพชรยินดี ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เรามีกฎหมายก็จริง แต่คนบังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจเพียงพอจะดูแลควบคุมได้ทั่วทั้งประเทศ ควบคุมได้แค่กรุงเทพฯ ในเวทีมาตรฐานอย่าง ลุมพินี หรือ ราชดำเนินเท่านั้น และพอไปเวทีต่างจังหวัด แต่ละจังหวัดก็จะมี เจ้าหน้า กกท. เพียงจังหวัดละ 1 คน ของสำนักงานกีฬามวย ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้วที่คน 1 คนจะดูแล 1 จังหวัด เขาก็ไม่ไปขออนุญาตอะไร เขาก็จัดชกกันไป นั่นคือปัญหา"

"มวยเด็ก" ทางเลือกแก้จน?

เหตุผลหนึ่งที่คนในวงการมวยที่ออกมาคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.มวย ฉบับใหม่ โดยเฉพาะในหัวข้อการกำหนดให้ 15 ปีให้เป็นอายุขั้นต่ำของนักมวยอายชีพนั้น ก็คือพวกเขาเชื่อว่า นี่เป็นการตัดโอกาสการหารายได้และการพัฒนาความสามารถนักมวย เพราะยิ่งฝึกเร็วยิ่งมีโอกาสในการประสบความสำเร็จ

เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ชกมวยอาชีพ เนื่องจากว่า จากประสบการณ์เขาคือ 99% ของนักมวยไทยและนักมวยโอลิมปิกเริ่มชกตั้งแต่อายุยังน้อย

นอกจากนี้เขายังบอกว่า มวยไทยเป็นกีฬาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้มีฐานะยากจน เพียงมีกางเกงตัวเดียวก็สามารถเข้าฝึกมวย ในขณะที่กีฬาประเภทอื่นๆ เช่น กอล์ฟ เทควันโด หรือฟุตบอล มีต้นทุนสูง

มวยไทยเป็นกีฬาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้มีฐานะยากจน เพียงมีกางเกงตัวเดียวก็สามารถเข้าฝึกมวย ในขณะที่กีฬาประเภทอื่นๆ เช่น กอล์ฟ เทควันโด หรือฟุตบอล มีต้นทุนสูง

ที่มาของภาพ, ทวี อัมพรมหา

คำบรรยายภาพ, เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม กล่าวว่า มวยไทยเป็นกีฬาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้มีฐานะยากจน เพียงมีกางเกงตัวเดียวก็สามารถเข้าฝึกมวย ในขณะที่กีฬาประเภทอื่นๆ เช่น กอล์ฟ เทควันโด หรือฟุตบอล มีต้นทุนสูง

เขาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตรงก่อนที่จะมาประสบความสำเร็จเป็นแชมป์โลก และคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกใน พ.ศ. 2527 ว่า "ณ ตอนนั้น ผมไม่มีทางเลือก พ่อผมตายตั้งแต่ ป.4 และต้องกัดฟันเรียนและต่อยมวยไปด้วยจนสำเร็จการศึกษาระดับ ป.7 แม่ผมก็ลำบาก มวยเท่านั้น เป็นวิถีทางเดียว แต่ก็ได้ผลเกินคาด ต่อยครั้งแรก ๆ ได้ 90 บาทต่อครั้ง จนหาเงินได้เป็นแสนบาท ซึ่งมากกว่าแม่ทำงานทั้งปี"

ส่วนสมัยนี้เขาอธิบายว่า อาจจะดีกว่าสมัยนั้นไม่มาก นักมวยก็ยังลำบากไม่ต่างจากผม แต่ก็ต้องส่งตัวเองเรียนหนังสือ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมว่า "เป็นผลของการกระจายเรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน"

TCIJ อ้างผลการวิจัย Child Watch Project โดยสถาบันรามจิตติ พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวยไทยบนเวทีอาชีพตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานศึกษาและสถานที่ราชการจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณเกือบ 8,000 คน ซึ่งการขึ้นชกแต่ละครั้งเด็กจะได้รับเงิน 50-600 บาท และต้องหักให้ค่ายมวยครึ่งหนึ่ง โดยสาเหตุหลักที่เด็กตัดสินใจชกมวย เนื่องจากต้องการหาเงินส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา

วัฒนธรรมแปลงร่างสู่ผลประโยชน์ธุรกิจแสนล้าน

มวยเด็กเป็นส่วนหนึ่งของมวยไทย วัฒนธรรมและศิลปะของการต่อสู้ของไทยมีที่อายุหลายร้อยปี แต่ในปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตาและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เป็น "คลัสเตอร์มวย" ในการขับเคลื่อนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทย

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า มูลค่าของมวยไทยที่เกิดขึ้นทั้งในด้านกีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อสุขภาพ สินค้าสนับสนุน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจมวยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ปีละ 1 แสนล้านบาท

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจมวยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ปีละ 1 แสนล้านบาท

จากความต้องการในการตอบสนองทางธุรกิจมวยไทย ผู้เชี่ยวชาญในวงการมวยรายหนึ่งบอกว่า การสร้างนักกีฬามวยด้วยการเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังเด็กตามกรอบเดิม ๆ ด้วยวิธีการฝึกฝนแบบลูกทุ่ง ๆ หรือการหาประสบการณ์ตามค่ายมวยภูธรและการชกตามงานวัดก็ยังคงจะเป็นโรงงานผลิตนักมวยรุ่นใหม่ เพื่อป้อนระบบ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน

"ในระยะยาว หากไม่มีการวางยุทธศาสตร์ให้ดี นำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาสายอาชีพอย่างจริงจัง หากพึงพิงระบบกรอบเดิม นักมวยรุ่นใหม่ก็จะสู้กับต่างชาติไม่ได้เพราะเขานำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการที่ถูกต้องมาในการพัฒนาสมรรถนะของนักมวย" แหล่งข่าวคนดังกล่าวบอก

เร่งขับเคลื่อนเปลี่ยน พ.ร.บ.มวยเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็ก

หลังพบว่า "มวยเด็ก" คือสิ่งที่สังคมจะต้องแก้ไข หลายฝ่ายทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายวิชาการ การแพทย์ รวมทั้งองค์การนานาชาติเริ่มข้ามามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ล่าสุด กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิเซฟเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายให้ออกกฎหมายที่จะช่วยปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็ก หลังการเสียชีวิตของนักมวยเด็ก

"เราต้องมองว่าพวกเขาเป็นเด็ก มากกว่าจะเป็นนักมวย" องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีขององค์กร แถลงทางทวิตเตอร์ในวันที่ 14 พ.ย.

"องค์การยูนิเซฟขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวของน้องอนุชา และขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายให้ออกกฎหมายที่จะช่วยปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็ก"

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

ในขณะนี้อยู่ระหว่างที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. มวยฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับเดิมที่ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ ปี 2542

โดยในวันนี้ ( 15 พ.ย.) นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา ของ สนช. พร้อมด้วย พล.อ. อดุลยเดช อินทะพงษ์ กรรมาธิการ ได้ชี้แจงผลหารือการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กีฬามวยว่า ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ หากคณะรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติกีฬามวย มายัง สนช. ได้ทันตามกำหนด

สนช. จะสามารถเร่งพิจารณาออกเป็นกฎหมายได้ในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ควบคุมการชกมวยเด็ก โดยห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกมวยเด็ดขาด ป้องกันเกิดปัญหาเสียชีวิตจากการชกมวยและมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม แต่จะอนุญาตเฉพาะเด็กที่มีความพร้อมอายุ 12-15 ปี

เขายังกล่าวด้วยว่า สนช. มีความเป็นห่วงเพราะจากการศึกษาพบตัวเลขมวยเด็กมีมากถึง 1 แสนคน ที่ไม่ได้รับการควบคุมเนื่องจากพระราชบัญญัติกีฬามวยฉบับเดิมหละหลวม แม้จะมีการห้ามเด็กต่ำกว่า 15 ปีขึ้นชกแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้เยาวชนที่ชกมวยไม่ได้รับการฝึกอย่างถูกต้องตามช่วงวัยที่เหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กในระยะยาว

เพชรมงคล ป. พีณภัทร หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก เสียชีวิตหลังจากขึ้นชกบนเวทีมวยชั่วคราวโรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นการแข่งขันชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, เพชรมงคล ป. พีณภัทร หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก เสียชีวิตหลังจากขึ้นชกบนเวทีมวยชั่วคราวโรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นการแข่งขันชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ชิงถ้วยรางวัลของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. ที่ผ่านมา

กรรมาธิการเห็นว่าควรใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแลเรื่องนี้ให้มวยเด็กมีมาตรฐานมากขึ้นและเป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น เพราะปัญหามวยเด็กยังส่งผลถึงการใช้แรงงานเด็กจนถึงขั้นเคยทำให้ไทยเคยถูกจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ขั้นต่ำในระดับเทียร์3 มาแล้ว

นายตวงยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการกีดกันมวยเด็ก ซึ่งในชั้นการพิจารณาเปิดโอกาสให้ตัวแทนค่ายมวยมาร่วมเป็นกรรมาธิการด้วยเพื่อจะได้ให้ความเห็นและทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการควบคุม ที่ผ่านมาค่ายมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของนักมวยรุ่นพี่ทำให้กีฬามวยไม่ได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกัน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. มวย ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ขณะนี้มียอดรายชื่อผู้ร่วมทั้งหมดราว 2,300 กว่ารายชื่อจากเป้าหมาย 2,500 รายชื่อ โดยตอนหนึ่งในการเสนอเรื่องนี้ ระบุว่า ปัจจุบันมีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคน ซึ่งต้องเดินสายขึ้นชกอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งชกเดิมพัน ชกชิงเงินรางวัลตามเวทีงานวัด งานเทศกาลต่าง ๆ โดยอายุน้อยสุดที่พบคือ 4 ขวบ นักมวยเด็กเหล่านี้จะได้รับความกระทบกระเทือนจากการโดนชกที่ศีรษะอย่างน้อย 20 หมัดต่อไฟต์ ซึ่งสูงสุดที่เคยนับได้คือ 40 ครั้ง ต่อ 1 ยก หรือ ประมาณ 2 นาที (มวยเด็กชก 3 ยก ยกละประมาณ 2 นาที ) โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน

รศ.นพ.อดิศักดิ์

ที่มาของภาพ, Www.csip.org

คำบรรยายภาพ, รศ.นพ.อดิศักดิ์ระบุว่า นอกจากจะพบว่า ระดับสติปัญญายังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาในการชก แล้ว ยังผลจากการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กยังส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคตอีกด้วย

รศ.นพ.อดิศักดิ์เป็นหนึ่งในคณะวิจัยสมองของนักมวยเด็กจากโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก ที่ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็กหรือไม่ โดยใช้เวลา 2 ปีในการติดตามผล มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างเป็นนักมวยเด็กจำนวน 200-250 คน เปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุและฐานะทางบ้านเท่ากัน

โดยผลการวิจัยพบว่ากลุ่มนักมวยเด็กมีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสม ซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาดและถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ การทำงานของสมองด้านความจำลดลง อาจนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้ ระดับสติปัญญา หรือ IQ ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไป

นอกจากจะพบว่า ระดับสติปัญญายังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาในการชก แล้ว ยังผลจากการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กยังส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคตอีกด้วย