ส.ว. เฉพาะกาล กับฉายา "ทายาท คสช. "

หย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ว.ลงหีบ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

กระบวนการเฟ้นหา ส.ว. กลุ่มอาชีพจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องข้ามปี โดยเริ่มจากการเลือกกันเองในกลุ่ม ตั้งแต่ระดับอำเภอ ไประดับจังหวัด และประเทศ จนเหลือ 200 รายชื่อให้ กกต. นำไปส่งมอบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเคาะเหลือ 50 ชื่อสุดท้าย

ส.ว. ทั้ง 50 คนนี้ จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาสูงร่วมกับ ส.ว. อีก 200 คนที่มาจากการสรรหาของ คสช. 194 คน และเป็นโดยตำแหน่งอีก 6 คน โดยทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี จึงถูกเรียกว่าเป็น ส.ว.เฉพาะกาล

บีบีซีไทยรวบรวม 4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ "ส.ว. ชุดเฉพาะกาล" ที่เกี่ยวพันกับ คสช. ในเกือบทุกขั้นตอน

1. "ตั้งไข่" โดย คสช.

"ส.ว. เฉพาะกาล" เริ่ม "ตั้งไข่" จากหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 13 มี.ค. 2559 เรื่อง "ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ" ที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการ คสช. ส่งถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ที่มาและจำนวน ส.ว. เป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่ คสช. ขอให้ปรับปรุง พร้อมเปิด 4 คุณสมบัติ "ส.ว. ในฝัน" มาเสร็จสรรพว่า ให้มีจำนวนครึ่งหนึ่งของ ส.ส. คือ 250 คน, มาจากการคัดสรรหรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ, มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี, ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมและ ผบ.เหล่าทัพ 6 คน เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

หนังสือของเลขาธิการ คสช. ระบุว่า ส.ว. จะ "ไม่มีอำนาจเลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" และ "อย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ คสช. ยินดีจะพ้นจากตำแหน่ง และยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาในโรดแมปและในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่"

จากร่างแรกรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน จึงเพิ่มเป็น 250 คนตาม "รายการคุณขอมา" แต่ขอ "พบกันครึ่งทาง" ในประเด็นที่มาสมาชิกสภาสูงแบบ "ลูกผสม"

นายมีชัย ฤชุพันธ์ชูร่างรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Getty Images

มีชัยกับพวกเขียน "บทเฉพาะกาล" กำหนดให้มี ส.ว. สรรหา 194 คน, ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน และขอทดลองระบบ "เลือกตรง-เลือกไขว้" ส.ว. กลุ่มอาชีพที่ กรธ. อุตส่าห์คิดค้นเป็นครั้งแรก 50 คน

2. ดัดแปลงพันธุกรรมโดย เครือข่าย คสช.

แม้ได้เกือบทั้งหมดตามที่ขอ ทว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เตรียมนำเข้าสู่กระบวนการออกเสียงประชามติ ยังอาจแทงไม่ทะลุ "วาระในใจ" ของ คสช.

"ผู้มีอำนาจ" จึงหันไปยืมมืออีก 2 องค์กรที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการตั้งคำถามพ่วงที่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

ประชาชนลงเสียงประชามติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อประชาชน 15 ล้านเสียงลงมติ "เห็นชอบ" คำถามพ่วง กรธ. จึงลงมือแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับผลประชามติ 7 ส.ค. 2559

"ส.ว. เฉพาะกาล" ไม่ใช่แค่ได้ร่วม "ลงมติ" เลือกนายกฯ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่มีการตีความไปไกลกันไปไกลถึงขั้นให้มีสิทธิ "เสนอชื่อนายกฯ" ได้ด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ในส่วนของ ส.ว. กลุ่มอาชีพ 50 คนยังถูก "ดัดแปลงพันธุกรรม" เพิ่มเติมในชั้นจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 โดย สนช. ได้ปรับลดกลุ่มอาชีพลงเหลือ 10 กลุ่ม จากเดิม กรธ. ออกแบบไว้ 20 กลุ่ม และกำหนดให้มีทั้งผู้สมัครอิสระและผู้สมัครสังกัดองค์กรวิชาชีพ

3. กกต. ร่วมทำคลอด แต่ คสช. เป็นคนตัดสายสะดือ

ตามโรดแมป กกต. และรัฐบาล คสช. จะเห็นโฉมหน้า ส.ว. จากกลุ่มอาชีพ 50 คน ตามกรอบเวลา 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 24 ก.พ. 2562 ขณะนี้สำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างเตรียมการ "ทำคลอด" ส.ว. ในส่วนนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าองค์กรที่จะส่งผู้สมัคร ส.ว. ต้องจดทะเบียนมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และส่งผู้สมัครได้เพียง 1 คน พร้อมชำระค่าสมัคร 2,500 บาท

ส่วนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว. อาทิ อายุ 40 ปีขึ้นไป, ไม่เคยต้องโทษในคดีทุจริต, ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นมาไม่เกิน 5 ปี, ไม่เป็นเจ้าของ/ผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน

ที่มา : บีบีซีไทยดัดแปลงจาก "แผนการจัดการเลือก ส.ว." ของสำนักงาน กกต.

ผู้สมัครแต่ละอาชีพจะเลือกกันเองจากระดับอำเภอ ไปสู่ระดับจังหวัด และไปสู่ระดับประเทศ ทั้งนี้ กกต. คาดการณ์ว่าจะส่ง 200 รายชื่อให้ คสช. ได้ในวันที่ 2 ม.ค. 2562 กกต. เพื่อให้คัดเลือกและ "ตัดสายสะดือ" เหลือ 50 คนสุดท้าย

จากนั้น คสช. จะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มี "ประสบการณ์-เป็นกลางทางการเมือง" ขึ้นมา 9-12 คน เพื่อทำหน้าที่เฟ้นหา ส.ว. จำนวน 194 คน

ส่วนที่เห็นชื่อแน่ ๆ แล้ว 6 คนตอนนี้เพราะเป็นโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

การประกาศรายชื่อ ส.ว. ทั้งหมด 250 คนจะเกิดขึ้น 3 วันภายหลังการประกาศรายชื่อ ส.ส. หรือภายในเดือน เม.ย. 2562 ในกรณีมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562

4. บทบาท "ลูกกตัญญู" ผู้รับมรดกจาก คสช.

ภาพภายในรัฐสภา

ที่มาของภาพ, BBC Thai

"ส.ว. เฉพาะกาล" ถูกกำหนดให้มี "อำนาจหน้าที่แบบเฉพาะกิจ" 3 ประการ ในระยะเวลา 5 ปี

  • มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จากปกติเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาผู้แทนฯ
  • มีสิทธิยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาขอ "ปลดล็อก" ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากในบัญชีที่พรรคการเมืองนำเสนอ ซึ่งเป็นการเปิดทางไปสู่การมี "นายกฯ คนนอก" นั่นเอง
  • มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิรูปประเทศและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งหมดนี้เพื่อไม่ให้สิ่งที่คณะรัฐประหารปี 2557 ทำมาต้อง "สูญเปล่า"