กัญชา : สนช. รับหลักการวาระแรก กม.ปลดล็อกกัญชา ให้ใช้ทางการแพทย์ได้

เจ้าหน้าที่ช่างน้ำหนักกัญชาที่โรงงานผลิตในอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

สนช. ลงมติเอกฉันท์รับหลักการ วาระแรกกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ตั้งเป้าออกกฎหมายภายใน 60 วัน

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (23 พ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ในวาระแรก ตามที่สมาชิก สนช. 44 คน นำโดยนายสมชาย แสวงการ สนช. เข้าชื่อเสนอ เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ปลดล็อกให้ กัญชา สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 145 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการ 29 คน กำหนดแปรญัติ 7 วัน โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมถึงการใช้กัญชา ซึ่งถูกจัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 5 (มีความร้ายแรงน้อยกว่าประเภท 1 ซึ่งคือเฮโรอีน แอมเฟตามีนฯ) ในทางการแพทย์ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) ให้สามารถนำเข้าหรอส่งออกยาเสพติดประเภท 5 ได้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต

(2) เพื่อกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลหรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

(3) เพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้หากกระทำเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์หรือเพื่อการศึกษาวิจัย

(4) เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจกําหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติด ประเภท 5 หรือกําหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กําหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมาตรการควบคุมตรวจสอบ

น้ำมันกัญชาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, น้ำมันกัญชาเป็นส่วนสำคัญของการใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์

(5) ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จําหน่าย นําเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกําหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อครอบครองจําหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกําหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น

นายพุทธิพงษ์ยังได้อธิบายอีกว่า คือการปลดล็อกเฉพาะในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ หมอและคนไข้ โดยในที่ประชุมเน้นว่าเพื่อให้สังคมที่ความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการรักษาและใช้ในการแพทย์เท่านั้น

นายพุทธิพงษ์ระบุว่า ส่วนเรื่องพื้นที่ปลูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะพิจารณากำหนดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ใครจะปลูกหลังบ้านตัวเองได้ และกระบวนการผลิตก็ต้องระบุว่า ใครจะสามารถนำไปผลิตได้และนำมาจากที่ไหน มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่นำไปปลูกและใช้ได้อย่างอิสระ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครม. ได้เพิ่มเติมว่า หลังกฎหมายปลดล็อกประกาศใช้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการใช้อีก 5 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงทดลอง และหลังจาก 5 ปี จะมีการทบทวนกันอีกครั้งว่าจะปรับต่อไปอย่างไร เมื่อ ครม. เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วก็ได้ส่งกลับพร้อมแนบความคิดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ห่วงต่างชาติจดสิทธิบัตร

กัญชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักวิชาการเรียกร้องให้พรรคการเมืองและรัฐบาล แสดงจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พร้อมทบทวนการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากให้ต่างชาติยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรกัญชาไปแล้ว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลี่ยงที่จะเปิดเผยจำนวนบริษัทต่างชาติที่ขอยื่นจดสิทธิบัตร พร้อมยืนยันขั้นตอนยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์

สำหรับร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษดังกล่าวถูกบรรจุเป็นวาระอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)แล้ว และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (13 พ.ย.)

ในเวลาต่อมาการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรกัญชาโดยต่างชาติถูกหยิบยกขึ้นมา และก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ขอเรียกร้องให้พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... แสดงจุดยืนต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีที่ได้ข่าวว่าจะไปตั้งพรรคการเมืองควรที่จะตาสว่างและหันมาทบทวนกระบวนการทำงานจดสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือต่อทุนข้ามชาติ

ผู้จัดการ กพย.เผยว่า คำแถลงของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวานนี้ เป็นการใช้สำนวนโวหารที่ไม่มีความชัดเจน และตอบไม่ตรงโจทย์ กรณีคำชี้แจงเรื่องการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติยื่นจดสิทธิบัตรจำนวนทั้งหมดกี่รายการกันแน่ เนื่องจากตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรายวัน

"ตัวเลขมันมั่วมาก เดิม กพย.มีข้อมูล 5-6 รายการ แต่วันนี้องค์การเภสัชกรรมบอกว่ามี 8 รายการ ล่าสุดเฟซบุ๊กกัญชาชนมี 25 รายการ และละเว้นคำขอไม่ได้ทำต่อเหลือ 15 รายการ เราจึงอยากรู้กระบวนการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะอธิบดีฯ สามารถยกเลิกคำขอก็ได้ถ้าไม่เข้าข่ายกฎหมายไทย จะมาอ้างว่าแก้ไม่ได้นั้นผิด คุณมีหน้าที่กลั่นกรองก่อนประกาศ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีฯ ด้วยซ้ำที่ต้องตรวจสอบก่อนว่าผิดมาตราใดบ้าง เราต้องการความถูกต้อง เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ องค์กรเภสัชกรรม และผู้ป่วย"

การใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์นอกเหนือการแพทย์นั้นยังได้รับการคัดค้านจากคนไม่น้อย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังคัดค้านในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากทางการแพทย์

ก่อนหน้านี้ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ออกมาเปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ต้องทำวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีต่างชาติยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาเป็นจำนวนถึง 6 รายการ ซึ่งผิดกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ที่ระบุว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ หรือไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้

และมาตรา 9 (4) ห้ามยื่นสิทธิบัตรที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรค ขณะที่บริษัทต่างชาติยื่นได้จดสิทธิบัตรจากการที่ประเทศไทยทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือ Patent Cooperation Treaty (PCT) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการยื่นขอสิทธิบัตรระหว่างประเทศที่ยื่นไว้ที่ประเทศสมาชิกหนึ่งจะมีผลให้ความคุ้มครองในประเทศสมาชิกที่เหลือทั้งหมด ถ้าประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่งจะขอจดสิทธิบัตรก็จะยื่นมาถามประเทศสมาชิกว่ายอมรับหรือไม่ หากยื่นมาสอบถามไทยและไทยไม่ขัดข้อง ระบบจะอนุมัติมาขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรไทย โดยที่ไม่ต้องประเมินอีก

เตรียมยื่นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ผู้จัดการ กพย.กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมได้ทักท้วงในเรื่องนี้แล้วหลายครั้ง แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงไม่ดำเนินการใด ๆ ทั้งนี้หากยังนิ่งเฉยเครือข่ายนักวิชาการและผู้ป่วยจะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 57 และให้นายกรัฐมนตรีใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

"อธิบดีฯ สามารถยกเลิกคำขอก็ได้ถ้าไม่เข้าข่ายกฎหมายไทย จะมาอ้างว่าแก้ไม่ได้นั้นผิด คุณมีหน้าที่กลั่นกรองก่อนประกาศ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีฯ ด้วยซ้ำที่ต้องตรวจสอบก่อนว่าผิดมาตราใดบ้าง ซึ่งเราต้องการความถูกต้อง เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ องค์กรเภสัชกรรมไม่สามารถผลิตยาได้ในเชิงอุตสาหกรรม และผู้ป่วย"

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้นำเสนอประเด็นสิทธิบัตรกัญชาต่อที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ซึ่งมีการประชุมไปเมื่อวานนี้ด้วย

คำบรรยายวิดีโอ, แคลิฟอร์เนียอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการแล้วไทยทำอะไรอยู่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่า หน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข คือ ทำอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จากการใช้สมุนไพร ซึ่งกรณีกัญชา ถือเป็นพืชกัญชาที่มีสารสำคัญในธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้ ทางคณะกรรมการปฎิรูปฯ จึงเห็นว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีความชัดเจนกว่านี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับฝ่าฝืน ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เพราะผิดตั้งแต่ต้น ก็ต้องเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า หากเรื่องนี้ไม่ได้ข้อสรุป ทั้งอภ. และ กพย. ควรยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรมไม่เช่นนั้นจะทำการศึกษาหรือสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ เพราะติดเรื่องสิทธิบัตร

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

สำหรับคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่บอกว่าไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยืนยันว่า จริง ๆ ไม่ใช่ หากพิจารณากฎหมายสิทธิบัตร จะทราบทันทีว่า มาตรา 36 ระบุว่าได้รับการคุ้มครองแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับเลขสิทธิบัตร ดังนั้นในระยะเวลา 5 ปีซึ่งเป็นช่วงของการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีความใหม่หรือไม่นั้น แต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือว่าได้รับการคุ้มครองไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์

"ถามว่าใครจะมาวิจัยพัฒนาอีก เพราะเสี่ยงว่าจะทำไปเพื่ออะไร ใครจะยืนยันว่า เมื่อกฎหมายให้ใช้ทางการแพทย์ได้ และมีการพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทางการแพทย์ที่มีการควบคุม แต่สุดท้ายติดสิทธิบัตร ที่ลงทุนไปทั้งหมดใครรับผิดชอบ อันนี้ไม่ใช่เสียหายแค่เรื่องงบประมาณ แต่จะเสียหายตรงผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาด้วย"

หวั่นกระทบการสร้างโรงงานสกัดสารกัญชา

ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการ อภ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะบอกว่าไม่เป็นอะไร และไม่ให้สิทธิบัตรสารธรรมชาติในกัญชา แต่ความเป็นจริงก็มีการรับยื่นคำขอไปแล้ว จึงกังวลว่า ถ้าไม่ชัดเจน หรือไม่มีหนังสือใด ๆ อย่างเป็นทางการจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโรงงานสกัดสารกัญชาหรือไม่ ซึ่ง อภ.อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 120 ล้านบาท หากส่งผลกระทบก็ต้องชะลอเรื่องนี้

"อยากให้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักกฎหมายท่านใดออกมาให้ความชัดเจนเรื่องนี้ เพราะการสร้างโรงงานสกัดสารกัญชาใช้งบ 120 ล้านบาท ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นกระทบต่อประเทศชาติแน่ ๆ ที่สำคัญ อภ.ต้องแบกรับความเสี่ยงไป" นพ.โสภณกล่าว

รม.พาณิชย์ระบุ เป็นความเข้าใจผิดของข่าวสาร

ทางด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นความเข้าใจผิดของข่าวสารที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันคำขอสิทธิบัตรยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งมีเงื่อนไขทางกฎหมายครอบคลุมหลายประการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่า เมื่อมีผู้มายื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องรับเรื่องไว้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และประกาศโฆษณาต่อไป สำหรับข้อสงสัยที่ว่า เมื่อประกาศโฆษณาและไม่มีผู้โต้แย้ง จะทำให้ได้รับสิทธิบัตรในทันทีหรือไม่ ความจริงยังมีกระบวนการตรวจสอบอีก จึงอยากสร้างความชัดเจนว่า หากเป็นสารสกัดกัญชาตามกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) สารสกัดกัญชาถือเป็นสารสกัดจากพืช จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งยื่นได้ แต่จดไม่ได้ เพราะต่อขัดมาตรา 9 (1)

นายสนธิรัตน์ยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลตัวเลขบริษัทที่ขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรด้วย เพียงแต่ระบุว่า มีการยื่นขอจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2553

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ได้ผ่านขั้นตอนประกาศโฆษณาแล้วเมื่อปี 2559 กรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยต้องยื่นคัดค้านคำขอภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศโฆษณา หลังจากนั้นผู้ยื่นคำขออาจจะกลับไปพัฒนา โดยบริษัทได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายข้อ ทั้งสารสกัดและสารสังเคราะห์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะกลับมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามมาตรา 9 อีกครั้ง ผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสิทธิบัตร กรณีไม่ผ่านก็จะตกไปเองในขั้นตอนตรวจสอบการประดิษฐ์ หรือหากมีการยื่นสารสังเคราะห์ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นสูตรใหม่จริง

ภาคประชาชนตั้งคำถาม

ขณะที่มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIO-THAI) ออกคำชี้แจงในเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ พร้อมกับตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาใน 3 ประเด็น คือ

1.ปัญหาแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการเดินหน้าคำขอสิทธิบัตรซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากพืช ซึ่งขัดมาตรา 9(1) ที่ระบุว่าจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากพืชหรือสัตว์ เนื่องจาก cannabinoid เป็นสารสกัดจากพืช เช่นเดียวกันกับการอนุญาตให้มีการอ้างสิทธิบัตรจากสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคโรคลมบ้าหมู ทั้งที่ผิดมาตรา 9 เพราะเป็นความรู้แพทย์แผนไทยโบราณ เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคสมองพิการและผู้ปกครอง ขณะรอรับสารสกัดกัญชาในคลินิคแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ผู้ป่วยโรคสมองพิการและผู้ปกครอง ขณะรอรับสารสกัดกัญชาในคลินิคแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

2.ปัญหาการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศภายใต้สนธิสัญญา PCT โดยนอกเหนือจากการยื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้วนั้น ยังมีในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรกัญชาซึ่งมีจำนวนหนึ่งผ่าน PCT หรือสนธิสัญญาความคุ้มครองสิทธิบัตรระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้จนประสบผลสำเร็จโดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทย แต่ในทางปฏิบัติเรากลับพบคำขอสิทธิบัตร PCT จากต่างประเทศมากถึง 28,518 สิทธิบัตร แต่มีคำขอสิทธิบัตรจากประเทศไทยไปต่างประเทศเพียง 447 สิทธิบัตร (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2559) เท่านั้น

หน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความจำเป็นต้องใช้บทบาทของตนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีใน PCT โดยทำหน้าที่ในการตรวจสอบคัดค้านคำขอสิทธิบัตรในต่างประเทศเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศด้วย โดยเฉพาะในกรณีคำขอสิทธิบัตรนั้นนำเอาทรัพยากรชีวภาพหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยไปจดสิทธิบัตร ทั้งในกรณีกระท่อมและกัญชา เนื่องจากหากคำขอสิทธิบัตรนั้นมีผลจะทำให้เป็นการขัดขวางการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ของประเทศในต่างประเทศในระยะยาวด้วย

3.ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในข้อ 1 และ 2 คือ ความจำเป็นในการแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทย ให้คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเอง ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อป้องกันกรณีโจรสลัดชีวภาพ และสร้างกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

คำบรรยายวิดีโอ, กองทัพอิตาลีปลูกกัญชาขายเป็นยาให้ประชาชน

ปัจจุบันในกฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ จีน เป็นต้น มีการระบุถึงเงื่อนไขดังกล่าวอย่างชัดเจน ส่วนในหลายประเทศก็มีข้อกำหนดดังกล่าวในกฎหมายอื่น ซึ่งจะมีผลต่อกฎหมายสิทธิบัตร เป็นต้น

"รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมาจากการวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศคือความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่แทนที่เราจะเห็นการส่งเสริมเงื่อนไขให้มีการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการปกป้องและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่สิ่งที่เราเห็นในทางปฏิบัติคือ การใช้วาทกรรมสวยหรูแต่เนื้อหาที่แท้จริงคือ การบ้าการลงทุนจากต่างชาติ และเอื้ออำนวยอุตสาหกรรมจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ มิได้วางรากฐานให้มีการพัฒนาความเข้มแข็งของคนในประเทศ มิหนำซ้ำยังทำลายการวิจัยและพัฒนาโดยกระบวนการมอบสิทธิบัตรที่ไม่ชอบแก่บริษัทยาและสถาบันวิจัยซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ" คำชี้แจงระบุ