เลือกตั้ง 2562 : หุ้นร้อนในมือ ธนาธร และอนาคตของพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มั่นใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่แจก "ใบส้ม" ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีถือครองหุ้นบริษัทสื่อ

นายธนาธร อดีตนักธุรกิจ เจ้าของฉายา "ไพร่หมื่นล้าน" เคยถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

ต่อมาสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายธนาธรได้โอนหุ้นบริษัทดังกล่าวของตนเอง และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ภายหลังวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งหัวหน้า อนค. เป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 ของพรรค ขณะเดียวกันก็มีผู้ยื่นคำร้องให้ กกต. วินิจฉัยคุณสมบัติการของนายธนาธร และตั้งข้อสังเกตเรื่องการ "โอนหุ้นย้อนหลัง"

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ทำให้สถานะทางการเมืองของหัวหน้า อนค. ไม่แน่นอน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 98(3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42(3) กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"

หากนายธนาธรไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหานี้ได้ชัดเจน เขาอาจขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งในระหว่างการตรวจสอบนี้ กกต. มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี หรือที่เรียกว่าแจก "ใบส้ม" ก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 9 พ.ค. นั่นหมายถึงการที่เขาจะหมดสิทธิเข้าสภาฯ พร้อมลูกพรรค

สำหรับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นเจ้าของนิตยสาร WHO และรับจ้างทำนิตยสารจิ๊บจิ๊บของสายการบินนกแอร์ และนิตยสารของธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาธร สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา รุดไปให้กำลังบุตรชายขณะรับทราบข้อกล่าวหาคดีผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ก่อนมีความชัดเจนจาก กกต. แกนนำพรรคอนาคตใหม่ได้เคลื่อนไหวทั้ง "ทางการเมือง" และ "ทางกฎหมาย" โดยฝ่ายกฎหมายได้เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่สำนักงาน กกต. พร้อมนำเอกสารพยานหลักฐานต่าง ๆ ไปด้วย อาทิ ตราสารโอนหุ้น โนตารี ใบหุ้น เช็คชำระค่าหุ้น และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ อนค. และอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เปิดแถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรค โดยยืนยันว่านายธนาธรซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศพร้อมนำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปชี้แจงต่อ กกต. แต่ถึงขณะนี้ยังไม่เคยได้รับการติดต่อใด ๆ จาก กกต. เลย พร้อมย้ำว่ากรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซุกหุ้น หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด

นายปิยบุตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และไม่เคยสอนวิชากฎหมายหุ้นส่วนบริษัทมาก่อน ทว่าเขาบอกกับบีบีซีไทยว่าเคยได้คะแนนวิชานี้สูงสุดในชั้นเรียนสมัยเป็นนักศึกษาปริญญาตรี วันนี้เขารับหน้าที่แจกแจงทุกรายละเอียดแทนหัวหน้าพรรคของเขา

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของคำชี้แจงนายปิยบุตรได้ 6 ข้อ ดังนี้

แถลงข่าว

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่

เหตุใดเอกสารโอนหุ้นของนายธนาธรและภรรยาให้มารดา ถึงไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ?

นายปิยบุตรยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง อธิบายว่า การโอนหุ้นมีผลสมบูรณ์เมื่อทำเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ส่วนจะให้มีผลต่อบริษัทและบุคคลภายนอก ก็ต่อเมื่อมีการจดแจ้งเอาไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งจะถือว่าบุคคลภายนอกรับรู้แล้ว

เมื่อดูเอกสารเมื่อ 8 ม.ค. 2562 พบว่า มีทั้งตราสารโอนหุ้น, โนตารี, ใบหุ้น, เช็คชำระค่าหุ้น และลงไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จึงถือว่า "นับตั้งแต่ 8 ม.ค. คุณธนาธรจึงไม่ได้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แต่อย่างใด"

ส่วนที่เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดนายธนาธรถึงเพิ่งแจ้งเรื่องการโอนหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วันที่ 21 มี.ค. 2562 อดีตอาจารย์นิติศาสตร์แจกแจงว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้แจ้งภายใน 14 วันหลังมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 19 มี.ค. นี่เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวกับสถานะการถือหุ้นของนายธนาธร

ในตราสารโอนหุ้นลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 แต่วันดังกล่าวนายธนาธรหาเสียงช่วยลูกพรรคอยู่ที่ จ. บุรีรัมย์ จึงเกิดคำถามว่าจะโอนหุ้นกันได้อย่างไร?

นายปิยบุตรงัดหลักฐานภาพถ่ายในขณะที่นายธนาธร นายปิยบุตร และแกนนำพรรคร่วมคาราวานหาเสียงที่ จ. บุรีรัมย์ มาแสดงต่อสื่อมวลชน ก่อนอธิบายต่อไปว่าช่วงบ่าย นายธนาธรได้นั่งรถกลับ กทม. มีเอกสารค่าผ่านทางด่วนบัตรอัตโนมัติ (อีซีพาส) เวลา 15.00 น. ของวันที่ 8 ม.ค. จากนั้นเช้าวันที่ 9 ม.ค. ก็มีหลักฐานเป็นอีซีพาสจากบ้านของนายธนาธรไปสนามบินดอนเมือง เพื่อเดินทางไป จ. นครศรีธรรมราชอีก มีตั๋วโดยสารเครื่องบินชัดเจน จึงชัดเจนว่าบ่ายวันที่ 8 ม.ค. ตัวของนายธนาธรอยู่ที่ กทม. และมาทำธุรกรรมเรื่องนี้

มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการทำ "นิติกรรมอำราง" หรือทำหลักฐานหนังสือการโอนย้อนหลัง โดยเฉพาะการที่มารดาของนายธนาธรโอนหุ้นกลับไป-กลับมาให้หลาน 2 คนคือ "นายเอ" กับ "นายบี"?

นายปิยบุตรแจกแจงว่า มารดาของนายธนาธรได้โอนหุ้นให้หลานจริงเมื่อ 14 มี.ค. คือนายทวี และนายปิติ ซึ่งชื่อเล่นว่า "เอ" กับ "บี" จริง ๆ ไม่ได้เป็นตัวละครอะไร เพราะเดิมตั้งใจจะปิดบริษัทปี 2561 แต่มีหนี้ลูกหนี้ค้างชำระประมาณ 11 ล้านบาทเศษ จึงโอนหุ้นให้กับนายทวีและนายปิติ โดยมีหลักฐานครบถ้วน

ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. นางรวิพรรณได้ทำหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท กำหนดให้มีผลในวันรุ่งขึ้น

วันที่ 19 มี.ค. มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยมีผู้ถือหุ้น 4 คนปรากฏตัวด้วยตัวเอง ส่วนอีก 6 มอบฉันทะให้ผู้ถือหุ้น 4 คนเข้าประชุมแทน ดังนั้นองค์ประชุมครบถ้วน 10 คน วาระคือการแจ้งเรื่องการลาออกของนางรวิพรรณ, แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และมีมติให้เลิกบริษัท เพราะฝ่ายบัญชีและกรรมการต่าง ๆ สำรวจมาแล้วพบว่าหนี้คงค้างเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เมื่อทวงไม่สำเร็จก็ปิดบริษัทดีกว่า ทำให้นายเอกับนายบีโอนหุ้นกลับมาให้นางสมพรอีกครั้ง พร้อมกับผู้ถือหุ้นอีก 3 คนด้วย เพื่อให้นางสมพรจัดการเรื่องการปิดบริษัทได้สะดวก จึงเหลือผู้ถือหุ้น 5 คน โดยสมพรถือหุ้นเยอะสุดเพื่อให้สะดวกในการปิดบริษัท

วันที่ 21 มี.ค. บริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้ยื่นสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายใน 14 วันหลังการประชุม

ธนาธร และภรรยาในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

ที่มาของภาพ, EPA

เหตุใดถึงไม่ชี้แจงเรื่องหุ้นของนายธนาธรตั้งแต่ต้น?

นายปิยบุตรบอกว่า ข่าวเพิ่งออกมาในช่วง 2 วันก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในวันที่ 23 มี.ค. นายธนาธรก็ได้นำเอกสารต่าง ๆ ชี้แจงเบื้องต้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่พรรคมีเวลาหาเสียงถึงเวลา 18.00 น. ของวันนั้น ก็เกรงจะถูกตีความว่าเป็นการหาเสียง จากนั้นเมื่อเรื่องลุกลามไป จนมี "นักร้อง" ไปร้อง กกต. นายธนาธรก็รอไปชี้แจง แต่ "รอจนรอไม่ไหวแล้วครับ ถ้าไม่เช่นนั้นเสียหายแน่นอน เราก็เลยต้องออกมาชี้แจงวันนี้"

มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุให้ กกต. แจก "ใบส้ม" นายธนาธร โดยอ้างเหตุว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบ?

เลขาธิการ อนค. ตอบว่าถ้าพิจารณาด้วยจิตใจเป็นธรรมโดยดูเอกสารที่นำมาแสดง ก็จะเห็นว่ามันจบตั้งแต่ 8 ม.ค. แล้ว "กกต. ต้องมีมติทันทีแล้วว่าเรื่องไม่มีมูล ไม่มีเหตุผลอื่นใดเลยที่ต้องตั้งกรรมการสอบสวน... ผมมั่นใจว่าจะตีตก ไม่โดนใบส้ม"

พรรคไม่ได้ประเมินสถานการณ์ในทางลบไว้เลยว่าหัวหน้าพรรคอาจไม่ได้เข้าไปเป็น ส.ส. พร้อมลูกพรรค?

เขาตอบว่า "ไม่เคยกังวลเลย ถ้าบ้านเมืองนี้ปกครองโดยยึดกฎหมายนิติธรรมแท้จริง องค์กรอิสระเป็นองค์กรอิสระแท้จริง มั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไร"

กลุ่มผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจ ธนาธร ในวันที่เจ้าตัวไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

ลำดับความเป็นมาปม "หุ้นร้อน" ในมือธนาธร

  • 22 มี.ค. : สำนักข่าวอิศราเผยแพร่รายงาน "'ธนาธร-เมีย' โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน" โดยพบว่า นายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ได้โอนหุ้นจำนวน 9 แสนหุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท (นายธนาธรถือ 675,000 หุ้นคิดเป็น 15% และนางรวิพรรณถือ 225,000 หุ้น คือเป็น 5%) ให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ในวันที่ 21 มี.ค. 2562 หรือ 3 วันก่อนการเลือกตั้ง
  • 23 มี.ค. : นายธนาธรนำตราสารโอนหุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 ขึ้นแสดงบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของเขา เพื่อยันว่า "ได้โอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นทุกท่านจึงไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้..." ขณะที่การสมัคร ส.ส. ของเขาเกิดขึ้นเมื่อ 6 ก.พ. 2562
  • 25 มี.ค. : นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร
  • 27 มี.ค. : สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีการแจ้งโอนหุ้นของนายธนาธรเมื่อ 21 มี.ค. 2562 ไม่ตรงกับตราสารหุ้นที่นายธนาธรเปิดเผยต่อสาธารณะ อีกทั้งยังพบว่าการประชุมผู้ถือหุ้น 19 มี.ค. 2562 มีกรรมการ/ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม จำนวน 10 คน ทั้งที่น่าจะเหลือ 8 คน เนื่องจากนายธนาธรและภรรยาขายหุ้นออกไปแล้ว
  • 29 มี.ค. : นายธนาธรเปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ยืนยันขายหุ้นให้มารดาตั้งแต่ 8 ม.ค. ก่อนบริษัทปิดกิจการ เพราะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป พร้อมนำสื่อมวลชนไปยังบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 7 บนอาคารไทยซัมมิท เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทแห่งนี้ปิดกิจการไปแล้ว
  • 2 เม.ย. : นายธนาธรออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยในจำนวนนี้ได้ชี้แจงเรื่องผู้ถือหุ้น 10 คน ว่าเป็นเพราะมารดาได้โอนหุ้นให้หลาน 2 คน ตั้งแต่ 14 ม.ค. 2562 ทำให้การประชุม 19 มี.ค. มีผู้ถือหุ้นคงเหลือจำนวน 10 คน ส่วนตัวยืนยันไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย และ "มิได้มีพฤติการณ์ 'ส่อพิรุธ' ดังที่สื่อมวลชนบางฉบับพยายามชี้นำ"
  • 4 เม.ย. : นายธนาธรให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเมื่อขายหุ้นไปแล้ว ทางบริษัทและมารดาจะไปทำอะไร "ไม่รู้เรื่องด้วย" และ "ไม่มีความเกี่ยวข้อง ก็ให้เป็นไปตามเอกสาร"
  • 4 เม.ย. : กกต. มีมติตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบสำนวนเพื่อดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน กรณีการกล่าวหานายธนาธรว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อ โดยมีนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล เป็นประธาน
  • 5 เม.ย. : นายศรีสุวรรณ จรรยา เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณียื่นร้องให้สอบสวนและวินิจฉัยเพื่อส่งให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของนายธนาธร หลังพบพิรุธว่าการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย "อาจเป็นการอำพรางนิติกรรม"
  • 22 เม.ย. : ประชุมคณะกรรมการช่วยตรวจสอบสำนวนฯ เพื่อสรุปความเห็นเสนอต่อ กกต.
  • 22 เม.ย. : เลขาธิการพรรค อนค. เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย อนค. เข้ายื่นเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กกต.

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา และคำชี้แจงของนายธนาธรผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์