แรงงานไทยในอิสราเอล : สถานทูตอิสราเอลชี้ความเป็นอยู่ของแรงงานไทยไม่เลวร้าย

แรงงานไทยในอิสราเอล

สถานทูตอิสราเอลปฏิเสธรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนของบีบีซีที่ว่าแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในภาคเกษตร ของอิสราเอลจำนวนหนึ่ง มีความเป็นอยู่ลำบาก ถูกเอาเปรียบ และละเมิดสิทธิ์ โดยในรอบ 6 ปี มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปกว่า 170 คน

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยระบุในเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ว่า "ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่รายงานโดยสำนักข่าวบีบีซี ว่าด้วยเรื่องว่าจ้างแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง"

ในเอกสารดังกล่าวระบุว่าได้สั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักผู้ประสานงานว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งชาติ ฯลฯ ให้ดูแลการว่าจ้างงาน ของแรงงานต่างชาติ ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและสุขอนามัยให้เห็นไปตามกฎหมายแรงงานของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการสายด่วนพิเศษเป็นภาษาไทยเพื่อให้แรงงานไทยสามารถรายงานปัญหาต่าง ๆ ที่ได้รับ โดยในปี 2561 มีการแจ้งเข้ามา 992 คำร้อง และทั้งหมดได้รับการดูแล้ว

เอกสารของสถานทูตยังอ้างว่าจากการสำรวจของ International Organization for Migration (IOM) จนถึงปัจจุบันพบว่าร้อยละ 95 ของแรงงานไทยเห็นว่าข้อตกลงความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน "ดีจนถึงดีเลิศ" และคณะทำงานของไอโอเอ็มยังได้เดินทางไปอิสราเอล ในเดือนที่ผ่านมา "และประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่แรงงานไทยได้รับการปฏิบัติ"

ห้องนอนของแรงงานไทยในอิสราเอล
คำบรรยายภาพ, สภาพห้องนอนของแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนหนึ่ง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์สดทางเฟซบุ๊กบีบีซีไทยว่า จะเชิญผู้แทนไอโอเอ็ม มาหารือในสัปดาห์หน้า และจากการหารือกับทูตไทยในอิสราเอล และทูตแรงงานไทยได้รับแจ้งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงบางส่วน แต่จะดำเนินการเพื่อให้ แก้ไขต่อไป

"ผมเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา เพราะระบบของเราเปิดให้แรงงานมาร้องเรียนอยู่แล้วเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น ...ผมเชื่อมั่นในระบบ ของอิสราเอลเพราะเห็นว่าได้มีการแก้ปัญหาที่ประสานไปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขอรับเรื่องที่เกิดขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง"

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังระบุถึงตัวเลขแรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอลว่ามีกว่า 170 คน ซึ่งตรงกับการรายงานของบีบีซี อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากทูตไทยในอิสราเอลว่าแรงงานที่เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะ "ทำงานหนัก ความเครียด ดื่มสุรา และรายงานทางการแพทย์บอกว่าเป็น พันธุกรรมของคนอีสานในไทย"

เมื่อถูกถามว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 170 คนนั้นถือว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า "ถือว่าพอสมควร แต่ถ้าดูจากประเทศอื่นที่ไป เช่น จีน ส่งแรงงานไปน้อยกว่าเราแต่อัตราสูญเสียมากกว่าไทย"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่ามีแผนจะเดินทางไปติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลด้วยตัวเอง กลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

เสียงสะท้อนจากแรงงานไทยและเอ็นจีโอ

ด้านนายบี (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นอดีตแรงงานไทยในอิสราเอล กล่าวในการให้สัมภาษณ์สดในรายการเดียวกันว่า เขาไปทำงานที่อิสราเอลในปี 2556 และอยู่ที่นั่นประมาณปีครึ่ง ปัญหาที่ประสบคือ "ถ้าเป็นโมชาฟ (หมู่บ้านการเกษตร) ค่าแรงจะไม่ได้ตามสัญญา เกือบจะทุกคน ถ้าเป็นคิบบุทซ์ (คล้าย ๆ กับสหกรณ์การเกษตร) จะได้เงินตามสัญญา"

เขาได้ร้องเรียนไปยังสถานทูตไทย "เรามีเบอร์โทรของสถานกงสุลที่โน่น ผมโทรไปร้องเรียน จากวันที่โทรไป จนถึงวันที่เขาโทรกลับมาสองเดือนกว่า เพราะคนร้องเรียนเยอะ และหากนับวันที่ร้องเรียนไปจนถึงวันที่เขาโทรกลับมา 5-6 เดือน มันนานเกินไป เขาบอกว่าจะติดต่อมาก็หายเงียบไป"

ในขณะที่ น.ส.กัญญพชร อาดีร์ บาคาร์ ล่ามของคาฟลาโอเวด องค์กรรณรงค์และช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในอิสราเอล ระบุว่า ในปี 2561 ทางองค์กรได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานไทยมากกว่า 900 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าแรง สภาพที่อยู่ ความปลอดภัยในการทำงาน และการทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก

ทั้งนี้ ในรายการสนทนาสดของบีบีซีไทย มีผู้แสดงความเห็นกว่า 700 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล เกือบทั้งหมดสะท้อนปัญหา เรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นไปตามสัญญา สภาพที่อยู่อาศัยและการทำงานหนักเกินไป

กราฟยอดผู้เสียชีวิต

น.ส.กัญญพชร กล่าวด้วยว่าแรงงานไทยอยู่ในสภาพหวาดกลัวการถูกย้ายงานจึงทำให้บางส่วนไม่กล้ามาร้องเรียนขอความเป็นธรรม

"แรงงานรู้สึกว่าหมดหวัง เพราะร้องเรียนไปแล้วก็ถูกนายจ้างย้ายงาน...แต่ตามกฎหมายอิสราเอลระบุว่าถ้าแรงงานถูกไล่ออกเพราะร้องเรียนเรื่องสภาพ การทำงานและค่าแรงไม่ตรงตามกฎหมาย คุณสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้เลย"

ด้าน น.ส.เพ็ญประภา วงษ์โกวิท ทูตไทยในอิสราเอล ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai Live ของนายสุทธิชัย หยุ่น ว่า แรงงานไทยที่มาทำงาน ในอิสราเอลจะอยู่ตามฟาร์มของเอกชน ซึ่งสถานทูตต้องได้รับอนุญาตจึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ และต้องนำเจ้าหน้าที่อิสราเอลไปพร้อมกัน

"เรื่องที่อยู่อาศัยที่เป็นไปตามข่าวบีบีซี เราได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 200 เคสต่อปี จากจำนวนแรงงาน 25,000 คน เราก็พยายามจัดสรรเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล...ไปก็พบสภาพที่ไม่น่าพอใจ อะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้เขาแก้ไข กฎหมายอิสราเอลก็แรงอยู่แล้ว เขาก็ต้องปรับปรุงแก้ไข"

ทูตไทยในอิสราเอล กล่าวด้วยว่า "ต้องขอบคุณนักข่าวที่เข้าไปแล้วสะท้อนออกมาเพียงแต่ว่าการที่ออกมาอาจทำให้ทางบ้านตกใจเกินกว่าเหตุบ้างไหม เพราะองค์กรดูแลก็มีอยู่เยอะพอสมควร โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และต้องการทำงานที่นี่ต่อไป"

แรงงานไทย 99% อยู่สุขสบาย

หลังบีบีซีไทยนำเสนอรายงานเรื่อง แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล กระทรวงแรงงานได้ส่งคณะแพทย์และพยาบาลจากกรมการแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ในที่อิสราเอล ระหว่าง 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2561 เพื่อตรวจสุขภาพของแรงงาน และตรวจ คัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตายด้วยเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ EKG และลงพื้นที่ที่มีประวัติแรงงานใหลตาย โดยเน้นหนักไปที่การศึกษา ประเมินสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ เพื่อหาปัจจัยบ่งชี้ที่เป็นสาเหตุของ การใหลตาย

ทั้งนี้ จากการรายงานของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ผ่านการประชุมวีดีโอ คอนเฟอร์เรนส์ พบว่าแรงงานที่ประสบปัญหาเป็นส่วนน้อยเพียง 1-2% โดยส่วนใหญ่ 99% อยู่สะดวกสบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่าได้สั่งการให้มีการดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยกระทรวงแรงงาน มีมาตรการในการติดตามคุ้มครองดูแลให้แรงงานไทยในอิสราเอลได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งจากกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ในปีที่ผ่านมา สามารถเรียกร้องเงินชดเชยให้แก่แรงงานไทยได้กว่า 47 ล้านบาท

ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทย ขึ้นมาหารือ ซึ่งผู้แทนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเดินทางไปอิสราเอล ร่วมกับทาง สอท.ไทยในเทลอาวีฟ โดยมีแพทย์ พยาบาลตรวจสุขภาพให้กับแรงงานไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาส่วนใหญ่ที่แรงงานไทยแจ้งให้ทราบ คือ สถานที่พัก คับแคบ แออัด การมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน 8-10 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานที่หนักเกินไป ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอและการที่แรงงานมักดื่มอัลกอฮอล์ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพและโรคใหลตายได้

จากการตรวจสุขภาพแรงงานในปี 2560-2561 พบว่าแรงงานไทยมีปัญหาโรคอ้วน น้ำหนักเกิน ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ ปวดหลังและมีภาวะเครียด จากปัญหาหนี้สิน

แรงงานไทยในอิสราเอล

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) กล่าวว่า

"เราจำเป็นต้องดูคนงานไทยที่ทำงานอย่างถูกต้อง ส่วนคนงานที่ไปทำงานแบบไม่ถูกต้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำงานแบบไม่ถูกต้องหากเกิดปัญหา อะไรขึ้นมา ก็ช่วยยากเหมือนกรณีเกาหลีใต้"

ทางกระทรวงแรงงานได้ลงนามในข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย - อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand - Israel Cooperation on the Placement of Workers หรือ TIC) เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอลภายใต้โครงการนี้ จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ระยะเวลาการจ้างครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอิสราเอล เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 47,000 บาท และทุก ๆ ปี จะมีแรงงานไทยราว 5,000 คนสมัครไปทำงานภายใต้โครงการนี้

"ผมก็เห็นใจคนไทย ที่ไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องติดตาม กำกับดูแลให้กระทรวงแรงงานย้ำเตือนในเรื่องของบริษัทต่างๆ ที่เอาคนไปทำงานต่างประเทศมีการหลอกลวงไปหรือไม่ บางที่ไปแล้วทำงานไม่ถูกต้องตามกฏหมายมันจะได้อย่างไร แล้วก็เดือดร้อนมาแบบนี้ มันเสียโอกาสและทำให้แรงงานไทยไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ขอให้ทำให้ดี ก็ต้องใช้บทบาทความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศในการหารือร่วมกัน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ฝันที่ไม่เป็นจริง

ยศ (นามสมมุติ) เป็นแรงงานไทยคนหนึ่งที่บีบีซีไทยคุยด้วย เขาเคยทำงานในฟาร์มวัวและสวนพริกในโมชาฟพาราน เล่าว่า เขาเดินทางไปทำงาน ในอิสราเอล ได้ประมาณปีเศษเพราะต้องการสร้างบ้าน ซื้อที่ดินและหวังจะกลับไปทำเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงอิสราเอลแล้วพบว่า สภาพการทำงาน ที่อยู่อาศัย และรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

ยศเล่าว่าเขาต้องตื่นไปทำงานตั้งแต่หกโมงเช้า เพราะงานเริ่มตั้งแต่หกโมงครึ่ง เขาทานข้าวเช้าตอนเก้าโมง และทำงานต่อ ก่อนจะกลับไปยังที่พักในเวลา ประมาณบ่ายสองโมง จากนั้นสี่โมงเย็นเขาต้องลงมือบรรจุพริก ทำไปเรื่อยจนถึงสามทุ่ม แล้วถึงได้กลับมาหุงหาอาหารทานข้าวเย็นเสร็จราวสี่ทุ่ม หรือห้าทุ่ม แล้วจึงเข้านอน และต้องตื่นอีกทีในเวลาตีห้าของวันรุ่งขึ้น

"หน้าร้อนก็ร้อนจัด ทำงานเหนื่อยครับ หน้าหนาวก็ลำบากครับ หนาวเกิน ถ้าถามว่าอยู่ได้มั้ย ก็อยู่ได้ครับ แต่มันหนาว ไม่ค่อยอยากจะทำงาน มือชาหมด เก็บพริกเนี่ย ถามว่าเหนื่อยมั้ย มันก็เหนื่อย บางทีคิด นั่งท้อเหมือนกันครับ นั่งคนเดียว นั่งท้อคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว"

"ผมฝันมามาก ฝันว่าจะได้เงินเดือนละหกหรือเจ็ดหมื่นบาท แต่เอาเข้าจริง ผมส่งเงินกลับบ้านได้แค่ครึ่งหนึ่ง" ยศบอก

บ้านพักของนายจ้างและแรงงานไทยในโมชาฟลาคิช
คำบรรยายภาพ, บ้านพักของนายจ้างและแรงงานไทยในโมชาฟลาคิช

ยศ ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในภาคอีสานบอกอีกว่าที่พักของเขานั้นอยู่ในสภาพไม่ถูกสุขลักษณะ แม้จะทำงานเหนื่อยมาทั้งวันแต่ก็มีบางคืนที่เขาหลับไม่ลง เพราะในที่พักนั้นมีทั้งเสียงแมลงสาบ เสียงหนู "ผมกลัวมันมากัดสายไฟและเสื้อผ้าด้วย"

ยศเชื่อว่าการที่นายจ้างเดิมของเขาสามารถปฏิบัติต่อเขาและแรงงานไทยคนอื่นได้แบบนี้ ก็เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้เข้ามาดูแล อย่างทั่วถึง ส่วนนายจ้างของเขานั้นก็ไม่ใส่ใจลูกน้อง

"ปกตินายจ้างต้องหาผ้าห่มที่นอนให้… แต่นี่เราต้องหาเองหมด อย่างสภาพแอร์แบบเนี่ย เขาต้องเปลี่ยนให้ แต่เขาไม่สนใจลูกน้องหรอก เขาเอาแต่งาน"

แรงงานไทยในอิสราเอล
คำบรรยายภาพ, ในการจัดทำรายงานชิ้นนี้แรงงานไทยหลายคนไม่กล้าให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผย

"ที่ผมต้องมาทำงานแบบนี้เพราะเราไม่ได้เกิดมารวย…และผมก็ไม่อยากให้ลูกต้องทำงานหนักแบบนี้ อยากให้เขาได้มีการศึกษา"ยศ บอก เขาบอกด้วยว่าทางบ้านไม่ทราบว่าสภาพการทำงานและที่พักของเขาในอิสราเอลเป็นอย่างไร

บีบีซีไทยขอสัมภาษณ์นายจ้างของยศ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ติดตามเรื่องราวของแรงงานไทยในอิสราเอลคนอื่น ๆ ในสารคดีของบีบีซีไทยทางยูทิวบ์ “แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล” ตอนที่ 1