สำรวจชีพจรแม่น้ำโขง

ย้อนรอยโครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง
กับการใช้อำนาจอันทรงพลังของจีน
เพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ

คนหาปลา

ชาวประมงกำลังทอดแหบริเวณโค้งน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่หมู่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เรือท่องเที่ยวขนาด 150 ตัน นำผู้โดยสารเดินทางไปยังลาว แล่นเลาะใกล้ริมฝั่งไทย มุ่งหน้าไปตามเส้นทางที่มีเกาะแก่งน้อยใหญ่ขวางกั้น

ระดับน้ำที่ต่ำกว่าฝั่งราว 5-6 เมตร เป็นสัญญาณว่าฤดูแล้งใกล้จะมาเยือน ส่วนที่กลางลำน้ำตลอดไปจนจรดชายฝั่งอีกฟากหนึ่ง สันดอนทรายกว้างใหญ่ผุดให้เห็นในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของแขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

เรือเร็วรับจ้างขนาด 8 คนนั่ง แล่นข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งน้ำเป็นระยะ ๆ ชาวลาวหอบหิ้วกระเป๋าและข้าวของเครื่องใช้จากฝั่งไทยกลับบ้านเกิด เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของคนสองฝั่งโขงที่เห็นกันชินตา ที่หมู่บ้านห้วยลึกนี้เป็นจุดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลพ้นเขตแดนไทยเข้าสู่ลาว

“วันนี้ได้ปลากดเหลือง ปลาค้าว ปลาสร้อยปลาพวกนี้ทำอะไรกินได้หมด แต่ละชนิด ความอร่อยไม่เหมือนกัน กลิ่นไม่เหมือนกันปลามันจะไม่เบื่อเหมือนเนื้อ กินได้ทุกวัน” ประสิทธิ์ อินทะวงศ์ ชาวบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย วัย 44 ปี เล่ากลั้วเสียงหัวเราะ ขณะค่อย ๆ ปลดปลาที่จับได้ออกจากตาข่ายทีละตัว

ประสิทธิ์ หาปลาด้วยการวางตาข่ายดักปลาไว้บนหาดในแม่น้ำโขงซึ่งสูงพ้นตาตุ่มเพียงนิดเดียว แค่ 30 นาที ก็ได้ปลาเล็กปลาน้อยขนาดความยาวราวฝ่ามือ

"ปีหนึ่ง ๆ แค่เฉพาะฤดูหาปลาใหญ่ขาย ถ้าหาปลาอย่างเดียว ก็ 3 เดือน ถ้านานหน่อยก็หาได้ 4-5 เดือน พอน้ำหลากมาก็ถือว่าหมดฤดูแล้ว บางคนมีรายได้ 60,000-70,000 บาท เพราะปลาราคาแพงมาก อย่างน้อย ๆ ก็ 250-300 บาทต่อกิโลกรัม” ประสิทธิ์เล่าให้ฟังถึงรอบการหาปลาของชาวบ้านห้วยลึก ที่ชาวประมงจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำก่อนจะถึงช่วงน้ำลดในเดือน ต.ค.ถึง พ.ย. หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า "ปลาขอดน้ำ"

แม้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรปลาในแม่น้ำโขงจะน้อยกว่าในอดีต แต่ก็ช่วยให้เขามีรายได้เสริมรองจากการทำเกษตร และคนริมโขงที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกฝั่งอย่างประสิทธิ์นี่เอง ที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับมหานทีสายนี้

มันเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำโขง (ทำให้) ระบบน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ หากช่วงปกติ เดือน พ.ค.น้ำจะเริ่มขึ้น ปลาจะขึ้นมาวางไข่ แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าน้ำจะขึ้นตอนไหน และตอนไหนจะแห้งมันก็แห้งไปเลย”

ประสิทธิ์รู้ว่ารัฐบาลจีนมีแผนดำเนินโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ และรัฐบาลไทยก็เข้าร่วมด้วย แต่เขาไม่รู้เลยว่าคนในท้องถิ่นอย่างเขาจะได้ประโยชน์อะไร

"ถ้าทำเส้นทางให้เรือวิ่ง โดยที่ไม่มีเกาะแก่งของปลาในลำน้ำ ปลาก็ไม่มีที่จะพักไม่มีที่จะอยู่ แต่หากยังมีเกาะแก่ง มีหลุม ปลาก็มาอาศัยอยู่"

การกลับมาของโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

เรือสัญชาติจีน หนึ่งในกองเรือสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาจีน CCCC Second Harbor Consultant เข้าขุดเจาะสำรวจทางธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ ตามแนวแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน พ.ค. 2560

แนวคิดปรับปรุงร่องน้ำโขงเคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วในช่วงปี 2543-2548 ครั้งนั้นมีการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำไปแล้ว 10 จุด บริเวณชายแดนจีน-เมียนมา และเมียนมา-ลาว จุดสำคัญที่ยังเหลืออยู่คือบริเวณคอนผีหลงในไทย ที่ชาวบ้านในพื้นที่และนักอนุรักษ์คัดค้าน

หลังจากนั้นโครงการหยุดชะงักไป ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในรูปโครงการศึกษาสำรวจออกแบบแนวทางปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำโขงตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2558-2568 ระยะทาง 631 กิโลเมตร มีขอบเขตตั้งแต่มณฑลยูนนานประเทศจีน-เมียนมา ผ่านไทยไปถึงนครหลวงพระบางของลาว จุดประสงค์ก็เพื่อขยายร่องน้ำให้เรือขนาด 500 ตันแล่นไปมาได้ โครงการศึกษาทั้งสองได้รับเงินทุนจากจีน

เมื่อเดือนธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ประเทศ (ไทย ลาว เมียนมาและจีน) ที่ร่วมลงนามข้อตกลงให้มีการเดินเรืออย่างเสรีในแม่น้ำโขงได้เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือฉบับดังกล่าว ปลุกให้การเดินหน้าสำรวจลำน้ำโขงที่เคยระงับไปฟื้นคืนมาอีกครั้ง

รัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เหตุผลว่า "เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก" การเห็นชอบโครงการเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลทหารชุดนี้กำลังเจรจาต่อรองเงื่อนไขการร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน

กลุ่มอนุรักษ์และภาคประชาชน ที่ประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และอีก 60 องค์กร ประสานเสียงจี้ให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี แต่เสียงคัดค้านโครงการที่มีอายุกว่าทศวรรษไม่เป็นผล เพราะในเดือน เมษายน 2560 เรือจากจีนสามลำได้ออกสำรวจพื้นที่ทางธรณีวิทยาในแม่น้ำโขงในส่วนของไทยตามโครงการปรับปรุงร่องน้ำตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ผ่าน อ.เชียงของ สิ้นสุดชายแดนไทย-ลาวที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นระยะทาง 96 กิโลเมตร

การสำรวจในครั้งนั้น ใช้เวลา 55 วัน เรือของบริษัท CCCC Second Harbour Consultant จำกัด เจาะได้สำรวจ 15 จุด ทั้งหมด 168 หลุมเจาะ เพื่อเก็บข้อมูลด้านวิศวกรรมศาสตร์ อันได้แก่ การสำรวจพื้นที่กายภาพของแม่น้ำโขง ด้านชลศาสตร์ ข้อมูลอัตราความเร็วของกระแสน้ำ ความลึก พิกัดร่องน้ำ และด้านธรณีวิทยา ข้อมูลสภาพชั้นพื้นท้องน้ำของแม่น้ำโขง

"รัฐบาลสี่ประเทศลงนามในการเดินเรือเสรี แต่ไม่ได้ลงนามว่าระเบิดแก่ง ซึ่งก็ตามมาด้วยโครงการปรับปรุงเดินเรือพาณิชย์โดยการขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางต่อการเดินเรือ" เพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ ประเมินถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

ในเดือนกันยายน 2560 บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับบริษํท CCCC Second Harbor Consultants ของจีน ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน โดยชาวบ้านในจังหวัดเชียงรายได้รับแจ้งว่า จะคงเกาะแก่งหรือดอนขนาดใหญ่ไว้ แต่หากมีบางส่วนอยู่ในแนวร่องน้ำก็อาจตัดแต่งเพื่อขยายร่องน้ำให้กว้างประมาณ 50 เมตร

“ส่วนความลึกจะอยู่ที่ 2.5 เมตร โค้งไปตามร่องน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันถ้าหากร่องน้ำมีความลึกน้อยกว่า 2.5 เมตรจะดำเนินการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้สามารถเดินเรือขนาด 500 ตันได้” เอกสารสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ โดยบริษัท ทีมฯ ที่บีบีซีไทยได้รับมาระบุ

ชาวบ้านเองเห็นว่าสิ่งที่เป็นข้อข้องใจของพวกเขายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาระบุว่าจีนมีท่าทีที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยพร้อมจะยกเลิกและปรับเปลี่ยนโครงการ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีฝ่ายใดรวมทั้งจีนออกมายืนยันขานรับคำพูดนี้

แก่งก้อนคำ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

ลำดับเวลาโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

2535 ก่อตั้งกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)สมาชิก จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม

2537 ไทย จีน เมียนมา ลาว ลงนามความตกลงเดินเรือเสรีเปิดให้เรือแต่ละชาติเข้าเทียบท่าของกันและกันได้

2545 ครม.ไทยอนุมัติรายงานอีไอเอโครงการระเบิดแก่ง(เตรียมฉบับร่างโดยจีน)

2545-2546 ระเบิดเกาะแก่งบริเวณพรมแดนจีนเมียนมา ลาว

2546 หยุดการระเบิดแก่ง ครม.มีมติชะลอโครงการหลังชาวบ้านริมฝั่งและกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นคัดค้าน

2559
• จีนริเริ่มกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มี ไทย จีน กัมพูชา ลาว เมียนมาเวียดนาม เข้าร่วม
• มี.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงาน จีน- 4 ประเทศอาเซียน เตรียมปัดฝุ่นโครงการปรับปรุงร่องน้ำแม่โขงให้เรือ500 ตัน ผ่านทางได้
• พ.ย. เรือจีนสำรวจพื้นที่แม่น้ำโขงในลาว
• ธ.ค. คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระยะ 10 ปีท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้าน

2560
• เม.ย.-พ.ค. กองเรือจีนสำรวจแม่น้ำโขงชายแดนไทย -ลาว 96 กม.
• ธ.ค.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ บอกว่าจีนอาจยุติโครงการ

การค้าที่ชายแดน

คนงานเร่งลำเลียงยางพาราอัดก้อนจากรถบรรทุกขนถ่ายไปยังเรือสินค้าสัญชาติลาวขนาด 250 ตัน ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ช่วงเดือน ก.พ.

แม้ในช่วงที่ทีมงานบีบีซีไทยไปเยือนท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ การขนส่งสินค้าจะไม่คึกคักนัก แต่ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงไปยังจีนนั้น ยังใช้เส้นทางไทย-จีน เป็นหลัก

แม้เป้าหมายของการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงก็เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สัญจรไปมาได้ แต่ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เห็นว่าผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำคงไม่ใช้เพราะไม่คุ้มทุน เธอมองว่าหากจีนต้องการขนส่งสินค้าในจำนวนมาก สามารถใช้การขนส่งทางถนนหรือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงได้

ทว่าสิ่งที่นักธุรกิจอย่างผกายมาศ เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงทุกวันนี้ กลับเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหลายแห่งที่อยู่ในประเทศจีน

ปัญหาอย่างเดียวคือการระบายน้ำของเขื่อนจีนมีความไม่แน่นอน บางวันก็ระบายน้อย บางวันมาก จนเป็นอันตรายต่อการเดินเรือโดยที่เราไม่มีโอกาสรู้”

ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย

นอกจากเขื่อนในประเทศที่จีนกั้นแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนาน 6 แห่งแล้ว จีนยังมีแผนจะสร้างเขื่อนหลายแห่งกั้นลำน้ำโขงในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา ท่ามกลางเสียงทัดทานของชาวบ้านและนักอนุรักษ์

หัวใจแม่น้ำโขง

ผาเยีย แก่งโขดหินส่วนหนึ่งของแก่งคอนผีหลงซึ่งกินระยะทางทั้งหมดราว 1.5 กิโลเมตร

บริเวณหนึ่งในลำน้ำโขงซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของนักอนุรักษ์ คือแก่งคอนผีหลง ที่ไม่ได้ถูกทำลายไปเมื่อมีการดำเนินโครงการระเบิดเกาะแก่งระยะแรก บีบีซีไทยเดินทางไปยังจุดดังกล่าว โดยเริ่มต้นล่องเรือจากท่าผาถ่าน ท่าเรือท่องเที่ยวหลักของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

เมื่อเรือแล่นย้อนลำน้ำโขงขึ้นไปราว 10 กิโลเมตร ก็เริ่มเห็นเกาะแก่งหินรูปทรงแตกต่างกัน ขนาดน้อยใหญ่ ริมสองฝั่งน้ำ หนาตาขึ้น จุดนี้เองคือบริเวณที่เรียกว่าคอนผีหลง

แก่งคอนผีหลง มีขนาด 1.5 กิโลเมตร เป็นเกาะแก่งหินขนาดใหญ่ 1 ใน 15 จุด ที่ถูกสำรวจภายใต้โครงการปรับปรุงร่องน้ำระยะที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2560

ผาเยีย คือจุดแรกเมื่อเรือเข้าสู่เขตคอนผีหลง เกาะแก่งใหญ่ที่มีทั้งผาหินทิ้งร่องรอยของระดับน้ำที่เคยแตะระดับช่วงหน้าน้ำ สลับกับพื้นทรายเป็นหย่อม ๆ

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นักอนุรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมศึกษาทรัพยากรแม่น้ำโขงในงานวิจัยท้องถิ่น บอกว่า คอนผีหลงเป็นจุดที่ลึกที่สุดในระยะแม่น้ำโขง ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทย ทั้งหมด 96 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.เชียงแสน ถึง อ.เวียงแก่น
ถัดจากจุดนี้ขึ้นไปราว 100 เมตร นิวัฒน์ชี้ให้ดูช่วงลำน้ำโขงที่แคบลง โดยมีโขดผาหินขนาบสองฝั่ง เขาบอกว่าเป็นจุดที่แคบที่สุด และระดับน้ำลึกถึง 47 เมตร และ ณ บริเวณนี้เองที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นจุดที่ปลาบึกมาผสมพันธุ์และวางไข่

ระบบนิเวศเหมือนอวัยวะที่สำคัญของแม่น้ำโขง ระเบิดแก่งก็เหมือนการควักหัวใจ ควักอวัยวะของแม่น้ำโขงออกไป มันฆ่าแม่น้ำโขง"

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

ตรงผาเยีย นิวัฒน์ชี้ให้ดูบ่อหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวหนึ่งฟุตที่ยุบตัวลงไปบนแก่งโขดหิน คนพื้นที่ภาคอีสานเรียกว่า โบก เขาบอกว่ารูตามซอกหินเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของปลา

“ปลาจะเข้ามาอยู่อาศัยเพราะว่ามันจะลดความแรงของการไหลของน้ำ เพราะว่ามันมีหินผาที่บังไว้ เมื่อน้ำเริ่มลด ปลาก็มีไกเป็นแหล่งอาหาร และยังเป็นบ้านของปลา” นิวัฒน์ กล่าว

งานวิจัยท้องถิ่นที่กลุ่มรักษ์เชียงของเก็บข้อมูลไว้นั้น บันทึกไว้ว่าแม่น้ำโขงช่วงตั้งแต่ อ.เชียงแสน ถึง อ.เวียงแก่น มีระบบนิเวศ 11 ประเภท เฉพาะในเขตคอนผีหลงก็มีแล้วถึง 10 ระบบนิเวศย่อย

รอยจ้ำริ้วที่เกิดจากการดูดกินพืชของปลาในช่วงหน้าน้ำ ทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นบนโขดหิน

รอยจ้ำริ้วที่เกิดจากการดูดกินพืชของปลาในช่วงหน้าน้ำ ทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นบนโขดหิน

งานวิจัยท้องถิ่นที่กลุ่มรักษ์เชียงของเก็บข้อมูลไว้นั้น บันทึกไว้ว่าแม่น้ำโขงช่วงตั้งแต่ อ.เชียงแสน ถึง อ.เวียงแก่น มีระบบนิเวศ 11 ประเภท เฉพาะในเขตคอนผีหลงก็มีแล้วถึง 10 ระบบนิเวศย่อย
“แก่งหินผาช่วงคอนผีหลงเป็นเขื่อนโดยธรรมชาติ วางตัวสลับกันไปเป็นช่วง ๆ ดังนั้น แม่น้ำโขงถึงไม่เคยแห้ง” นิวัฒน์อธิบายธรรมชาติของระบบนิเวศของเกาะแก่ง และยังแนะนำให้รู้จัก แจ๋มกุด ร้องฟาน ชื่อเรียกจุดต่าง ๆ ที่คนท้องถิ่นรู้จักดี

มีให้เห็นแล้วว่าสิบกว่าปี โครงการระเบิดแก่งก็กลับขึ้นมาได้ ต้องมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกให้ชัดเจน"

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานากลุ่มรักษ์เชียงของ

บีบีซีไทยยังได้สำรวจหาดบ้านดอนตุ๊ หาดทรายละเอียดยาวเกือบ 1 กิโลเมตรที่ต่อเนื่องด้วยสันดอนดินที่มีพงหญ้าและต้นไม้ล้มลุก ระบบนิเวศบริเวณหาดทรายแห่งนี้ คือที่วางไข่ของนกหลายชนิดในแม่น้ำโขง

“นกแถบนี้มีอยู่ 18 ชนิด นกอพยพ นกประจำถิ่น หน้าแล้งก็เป็นที่อยู่อาศัยของนก แต่ว่าที่ผ่านมา การขึ้นลงน้ำจากการเปิดปิดเขื่อนก็มีผลกระทบ”

หาดบ้านดอนตุ๊ ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย หาดทรายยาว 1 กิโลเมตรนี้เป็นหนึ่งในระบบนิเวศแม่น้ำโขง

กระทบพันธุ์ปลา

ในมุมมองของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เขาคาดการณ์ภาพอนาคตของแม่น้ำโขงภายหลังการปรับปรุงร่องน้ำเอาเกาะแก่งออกไปจนหมดสิ้น ว่าจะกระทบต่อปลาในบางฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูที่ปลาบึกขึ้นมาวางไข่ ซึ่งตามธรรมชาติจะอาศัยในแม่น้ำโขงตอนล่าง และว่ายน้ำขึ้นมาวางไข่บริเวณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

“ผลกระทบส่วนใหญ่ไม่ได้ใช่แค่การเปิดร่องน้ำอย่างเดียว แต่รวมถึงผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนประเทศจีนที่ปล่อยน้ำในระดับที่ให้สามารถเดินเรือได้ตลอดเวลา ปัญหาอยู่ที่ว่าระบบนิเวศของแก่ง สันดอนกลางน้ำจะเสียไป จากเดิมที่มีช่วงแล้ง ช่วงน้ำท่วมตามฤดูกาล แต่ความไม่แน่นอนของการขึ้นลง จะกระทบต่อความหลากหลายของพันธุ์พืช นก และสัตว์น้ำที่อาศัยบริเวณนั้น” ดร.ชวลิต กล่าวกับบีบีซีไทย

ช่วงที่เรือแล่นไปมาจำนวนมากอาจจะรบกวนการวางไข่ของปลา"

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

จากการเก็บข้อมูลสำรวจจำนวนพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงเมื่อเดือน พ.ย. 2560 กับกรมประมง ตั้งแต่ อ.เชียงแสน ถึง อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นจุดที่จีนได้มีการสำรวจในโครงการ ปรับปรุงร่องน้ำ พบพันธุ์ปลาอย่างน้อย 70 ชนิด

ในจำนวนนี้มีกว่า 30 ชนิด ที่เป็นปลาเศรษฐกิจ แหล่งรายได้ของชาวบ้านใน จ.เชียงราย และลาว ทั้งปลาขนาดเล็กไปจนถึงปลาใหญ่ ดร.ชวลิต เปิดเผยข้อมูลสำคัญอีกว่า ในแถบนั้นมีปลาทั้งของไทยและของโลกอย่างน้อย 6 ชนิด ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาบึก ปลาเทพา ปลาฝักพร้า ปลายี่สก ปลากระเบนน้ำโขง และปลาหว้า ซึ่งล้วนลดจำนวนลง

ข้อกังวล

หากย้อนดูผลกระทบของการปรับลดขนาดแก่งในแม่น้ำโขงช่วงเมียนมาและลาวที่ดำเนินการไปในระยะแรกนั้น ในรายงานฉบับสมบูรณ์ (รายงานหลัก) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ระบุว่า ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่เกษตรริมน้ำโขงในช่วงแก่งตังซาลัม เกาะแก่งแม่น้ำโขงช่วงเมียนมาและลาว เนื่องจากมีการนำหินจากการระเบิดแก่งไปทิ้งบริเวณพื้นที่เกษตร

นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนบ้านดอนสวรรค์ของฝั่ง สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสนของไทย เคยต้องอพยพโยกย้ายชุมชนในช่วงฤดูฝน เนื่องจากการพังทลายของตลิ่ง เมื่อปี 2545 ซึ่งน้ำในแม่น้ำมีความขุ่นสูงขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วของน้ำ คลื่นจากเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับเรือประมง และผลกระทบต่อแหล่งอาหารที่ได้จากเกาะแก่งหรือดอนทรายกลางแม่น้ำโขง

นี่อาจเป็นภาพอนาคตที่ผู้ที่อยู่กับแม่น้ำโขงไม่ต้องการเห็น หากการปรับปรุงร่องน้ำแม่น้ำโขงเกิดขึ้นจริง

ในวันที่จีนรุกลงใต้

ที่หมู่บ้านลวงโต้ง เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เกษตรกรที่นี่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้านเพราะเป็นการคมนาคมรูปแบบเดียวที่เข้าถึง

ชายชาวลาววัย 72 ปี คนหนึ่ง บอกกับบีบีซีไทยว่า เขาไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในแม่น้ำโขง

บีบีซีไทยยังได้พูดคุยกับชาวลาวในหมู่บ้านบ้านลวงโต้ง 2-3 คน ที่ต่างกังวลที่จะต้องอพยพครอบครัวและที่ทำกินออกจากพื้นที่เดิมในปี 2563 เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านราว 10 กิโลเมตร

หญิงชาวลาวคนหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยอย่างกังวลว่า การย้ายที่อยู่คงทำให้เธอและครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหาอาหารเพิ่ม จากที่เคยอาศัยลำน้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร

ไม่เพียงแต่โครงการขยายร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ที่จีนหมายมั่นในช่วงที่ผ่านมาจะสะท้อนความพยายามของจีนในการควบคุมแม่น้ำโขง

แต่ข้อมูลจากองค์การแม่น้ำนานาชาติระบุว่า บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างตั้งแต่ประเทศลาว ไทย และกัมพูชา ซึ่งขณะนี้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ 11 แห่ง ในจำนวนนี้มี 6 แห่ง ที่จีนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง

เอลเลียต เบรนแนน นักวิจัยอิสระด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์ผ่านหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ถึงประเด็นแม่น้ำโขงในแง่ยุทธศาสตร์การเมืองความมั่นคงว่า “กรณีแม่น้ำโขงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศอาเซียน ถัดจากประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนจะใช้การควบคุมการพัฒนาในแม่น้ำโขงเพื่อวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในการขยายอิทธิพลมายังอาเซียน”

การล่องแม่น้ำโขงในจากเมืองปากแบง ไปหลวงพระบาง นอกจากจะเปิดโอกาสให้ได้เห็นวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำของชาวลาวแล้ว ยังได้เห็นความคืบหน้าการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ที่ทอดตัวผ่านลำน้ำโขง ส่วนหนึ่งในแผนการของมังกรจีนที่จะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคอินโดจีน

เดือนกุมภาพันธ์ 2561 สำนักข่าว Laotian times ของลาวรายงานความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟเชื่อมจากชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต้น ผ่านหลวงพระบาง และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์ว่า คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 20 หลังจากเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 และมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2564

จีนไม่อยากขี่ช้างจับตั๊กแตน ?

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนจะชะลอการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง แต่ในมุมมองของ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองจังหวะการถอยของจีนว่าเป็น เพราะ “จีนไม่อยากขี่ช้างจับตั๊กแตน” และเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนปรับปรุงร่องน้ำเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าชายแดนระหว่างเมืองเล็ก ๆ ที่มูลค่าการค้าไม่ได้มากมายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน และยังต้องขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์กับประชาชนในท้องถิ่น

รศ.ดร.อักษรศรี เห็นว่าสิ่งที่จีนสนใจในเวลานี้คือเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อจากชายแดนจีน ไปยัง สปป.ลาว ซึ่งจะต่อขยายเส้นทางค้าขายและคมนาคมลงมายังอินโดจีน

พื้นที่ก่อสร้างรถไฟลาว-จีน ใกล้กับเมืองหลวงพระบาง ริมทางหลวงหมายเลข 13

พื้นที่ก่อสร้างรถไฟลาว-จีน ใกล้กับเมืองหลวงพระบาง ริมทางหลวงหมายเลข 13

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เห็นว่าสิ่งที่จีนสนใจในขณะนี้คือกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation- LMC) ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 โดย 5 ชาติในภูมิภาคอินโดจีน 5 ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เข้าร่วม

จีนสนใจอินโดจีนเพราะมีประชากรมหาศาล ห้าประเทศรวมกันมี 237 ล้านคน เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจก็มีมูลค่าสูงถึง 940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยังเห็นว่าจีนไม่ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong sub regional-GMS)หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว แต่ได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation- LMC) เมื่อปี 2559 ที่ 5 ชาติในภูมิภาคอินโดจีน 5 เข้าร่วม ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม

สำหรับแม่น้ำโขงแล้ว ในสายตาของคนที่ใช้เวลาคลุกคลีและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างเพียรพร เธอมองวิวัฒนาการที่เกิดกับสายน้ำแห่งนี้อย่างเคลือบแคลง "เราเห็นความพยายามของจีนมาโดยตลอดในการใช้แม่น้ำโขงเป็นประตูหรือทางยุทธศาสตร์ลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง"

แม่น้ำโขงถูกมองเป็นถนน แต่ไม่ได้ถูกมองเป็นระบบนิเวศอันสลับซับซ้อน แหล่งหาปลาของชาวบ้าน แหล่งเก็บไกของกลุ่มผู้หญิง มุมมองส่วนตัว ไม่คิดว่าจะยกเลิก อาจเป็นการชะลอเพื่อรอจังหวะอะไรหรือไม่"

เพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ