เพลงประเทศกูมี : ผกก. เอ็มวี ชี้ ผลงานสะท้อนความจริง

ประเทศกูมี

ที่มาของภาพ, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม/Youtube

คำบรรยายภาพ, ฉากจากวิดีโอประกอบเพลง "ประเทศกูมี"

สำหรับหลาย ๆ สังคมทั่วโลก เพลงและการเมืองเป็นของคู่กัน บ่อยครั้งที่เพลง ๆ หนึ่งสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในประเทศหรือแม้กระทั่งในโลกได้

ลองนึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงครามเวียดนามของศิลปินหญิงอเมริกันอย่างโจน เบซ หรือเพลง "Imagine" ของจอห์น เลนนอน ที่วาดฝันโลกที่สันติสุข ก้าวกระโดดมาถึงยุคที่ศิลปินแร็พอย่างคานเย เวสต์ ออกมาสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ หรือล่าสุดที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ทวีตสนับสนุนฝ่ายเดโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐกลางสมัย

เพลงที่มีเนื้อหาการเมืองอย่าง "ประเทศกูมี" ของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ซึ่งถูกตำรวจขู่ว่าจะดำเนินคดีเพราะเข้าข่ายผิดคำสั่ง คสช. อาจทำให้นึกไปถึงงาน MTV Video Music Awards ที่มีการมอบรางวัลในประเภทที่ชื่อ "Video With a Message" หรือรางวัลวิดีโอประกอบเพลงที่มี "สารสำคัญ" สื่อไปยังผู้ชม

A still from the Childish Gambino video

ที่มาของภาพ, Childish Gambino/YouTube

คำบรรยายภาพ, ฉากจากวิดีโอประกอบเพลง "This Is America"

เพลง "Born This Way" ของเลดี้ กาก้า ซึ่งชนะรางวัลนี้เมื่อปี 2011 ปลุกเร้าให้คนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือคนเชื้อชาติอะไร ในเมื่อ "ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้" มาจนถึงเพลง "This Is America" ของ Childish Gambino ในปีล่าสุด ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังเนื่องจากสะท้อนภาพปัญหาในสังคมอเมริกันปัจจุบันได้อย่างเฉียบแหลมผ่านเนื้อเพลงและการออกแบบท่าเต้น

"ประเทศที่ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยาน ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร" แร็พเปอร์สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ร้องขึ้นในเพลง "ประเทศกูมี" ซึ่งมียอดวิวขณะนี่้มากกว่า 63 ล้านวิวแล้ว แต่ผลของการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมกลับไม่มี "รางวัล" ให้อย่างในต่างประเทศ เว็บไซต์ข่าวมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคลิปวิดีโอเพลง "ประเทศกูมี" ว่าได้ดูคลิปแล้วและคิดว่าสุ่มเสี่ยง 50 : 50 และขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ที่มาของภาพ, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Rap Against Dictatorship ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่า การที่เพลงเป็นกระแสเปิดความคิดให้คนว่าพวกเขาสามารถพูดเรื่องนี้ได้

"คนที่ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วคอมเมนต์หรือแชร์ เราก็คิดว่ามันคือการตื่นตัวแล้ว หรือถ้าเขาจะเบื่อ ไม่สนใจ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาอาจจะประสบอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยุ่งแล้วก็ได้ แต่บางคนที่อยู่กับความกลัวหรือไม่กล้าแล้วออกมาด่าเราที่ทำเพลงนี้ออกมา เราก็ถือว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ก็คือการเคลื่อนไหวทางความคิดแล้วในยุคนี้"

ประชาไทรายงานว่า ขณะนี้ ปอท. ได้ออกมาระบุแล้วว่าเพลงอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหายและเชิญศิลปินมาให้ข้อมูล

ด้านนายธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับวิดีโอประกอบเพลง "ประเทศกูมี"บอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางตำรวจแต่อย่างใด และก็ยังไม่เข้าใจด้วยว่าข้อหาที่จะมาแจ้งความคืออะไร

"เดิมทีผมไม่คิดว่าเขาจะสนใจ เป็นเสียงของพลเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ที่คิดว่ามีความจริงที่จะพูด อย่างที่ผมทำในมิวสิค(จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา) มันก็เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ ก็ไม่คิดว่าเขาจะซีเรียสอะไรขนาดนั้น คิดว่าเขามีอะไรที่ต้องทำเยอะ"

นายธีระวัตน์บอกว่า ที่เพลงเป็นกระแสอาจจะเพราะมีคนที่รู้สึกเหมือนกันเยอะ นี่ทำให้ทางการตกใจว่าทำไมคนแชร์และไลค์เยอะ "ก็ปราบตามวิธีอำนาจนิยม อาจจะขู่ให้กลัว"

"เราควรจะซื่อสัตย์ต่อความคิดตัวเอง ไม่ได้ชั่วร้าย ไปฆาตกรรม ประเทศเรามีอะไรไม่ดี เราก็พูดออกไป ...เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง จะอยู่กับความหลอกลวงหรือเรื่องจริง หลอกลวงอยู่ได้แค่ชั่ววูบ สุดท้ายต้องอยู่กับความจริง"

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ที่มาของภาพ, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

คำบรรยายภาพ, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

เพลงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ในสังคม ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้ายฝ่ายใด ในไทยก็เช่นกันที่เพลงเพื่อชีวิตที่เคยมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ยุค 14 และ 6 ตุลา มาจนถึงยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ภายใต้รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่คาราบาวปล่อยเพลง "ประชาธิปไตย" ที่ร้องว่า "อย่างผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง ใครอยากเป็นบ้าง ยกมือขึ้น"

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงวิทยานิพนธ์เรื่อง "วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)" ของ ณัฏฐณิชา นันตา เราจะเห็นได้ว่าหลังยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ในช่วงปี 2535-2540 เนื้อหาของเพลงยังคงสะท้อนปัญหาทางสังคมและการเมือง แต่ขยับขอบเขตไปทางด้านการด้อยโอกาส และการใช้ทรัพยากรในหลายภูมิภาค ก่อนที่ความลำบากทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 2538 จะเริ่มทําให้ศิลปินเพื่อชีวิตปรับตัวเข้าสู่ตลาดธุรกิจเพลงมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด และตอบความต้องการทางการตลาดที่ต้องการเนื้อหาเกี่ยวกับ ปากท้อง และความรัก จนทำให้เกิดเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต

งานวิจัยดังกล่าวศึกษาเนื้อหาจากเพลงเพื่อชีวิตที่ได้รับความนิยมในกระแสหลัก 316 เพลง พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักมากที่สุดที่ร้อยละ 52 ตามมาด้วย ด้านสังคม ร้อยละ 27 ด้านการเมือง ร้อยละ 13 และด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 8

ภาพถ่ายจากหนังสือ สานแสงทอง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, วงคาราบาว ถ่ายจากหนังสือ สานแสงทอง ปี 2526

เมื่อปีที่แล้ว เรื่องของการเมืองกับดนตรีถูกนำกลับมาอยู่ด้วยกันในสื่อกระแสหลักเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมิวสิควิดีโอของเพลง "เผด็จเกิร์ล" จากอัลบัมล่าสุดของวง แทททูคัลเลอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ชวนให้คิดถึงการเมืองและกิจกรรมของรัฐบาล ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในเพลงเป็นแค่เพียงการยกแนวคิดของความเป็นเผด็จการมาล้อกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักชาย-หญิง เท่านั้นอย่างที่ รัฐ พิฆาตไพรี มือกีต้าร์ของวงแทททูคัลเลอร์และผู้แต่งเพลงได้เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยไว้ว่า

"ตลกมากกว่าครับ มันก็สนุกดี มันสุ่มเสี่ยงต่ออะไรมั้ยหรือการเมืองไหม ผมไม่มองอย่างนั้น เป็นการล้อเล่นธรรมดา มี '44 Rules' พ้องกับ 'มาตรา 44' หรืออยากได้เรือดำน้ำ หยิบเรื่องของ คสช. มาล้อ ก็เป็นการหยิกแกมหยอกธรรมดา เราไม่ได้จะพูดถึงการเมืองโดยตรง ด้วยภาพที่มันเป็นเชิงแฟชั่น แล้วพอดูก็จะเห็นว่ามัน ไม่มีเจตนาจะเข้มข้มทางการเมืองอยู่แล้ว"

B-Floor

ที่มาของภาพ, B-Floor

คำบรรยายภาพ, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ในการแสดงเดี่ยว "บางละเมิด"

แม้ว่านี่จะอาจจะเป็นครั้งแรกในยุค คสช. ที่ทางการออกมาตั้งคำถามต่อการแสดงออกทางเมืองผ่านเพลง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แขนงศิลปะอื่น ๆ โดนทางการเข้ามาแทรกแซงควบคุม ย้อนไปเมื่อปี 2015 การแสดงเดี่ยว "บางละเมิด" ของอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นักแสดงหญิงสมาชิกกลุ่มละครบีฟลอร์ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ยืนยันขอเข้ามาชมและบันทึกการแสดง

ภาพยนตร์ "ดาวคะนอง" เมื่อปี 2016 ของผู้กำกับอโนชา สุวิชากรพงศ์ ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ครั้งที่ 26 และได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีออสการ์ แต่กลับถูก "ตำรวจ" สั่งห้ามฉายโดยให้เหตุผลว่า "สุ่มเสี่ยง"

เมื่อกลางปีที่แล้ว ตำรวจ ทหารบุกแกลเลอรี 2 แห่งย่านช่องนนทรี และสั่งปลดงานศิลปะทางการเมือง 7 ชิ้น โดยอ้างว่า ฝ่ายตรงข้ามจะมา "ทำลายผลงานศิลปะหรือแกลเลอรีของคุณ"

หมายเหตุ - บทความชิ้นนี้ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม ในส่วนยอดวิวล่าสุดของ มิวสิควิดีโอ ประเทศกูมี จากเดิม 2 ล้านวิว เป็น 63 ล้านวิว