เพิ่มเติม: สหรัฐฯ ชี้ ประชาชนไทยยังถูกละเมิดสิทธิ์อย่างกว้างขวางในยุค คสช.

นักเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเรียกร้องปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, Reuters

รายงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี พ.ศ. 2560 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ ประชาชนไทยยังถูกละเมิดสิทธิ์อย่างกว้างขวางในยุครัฐบาลทหาร ตั้งแต่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงการคุกคามผู้ต้องหาคดีอาญา และการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากข้อหา รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ถูกจำกัด ด้านโฆษกรัฐบาลไทยยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ เพียงปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 ซึ่งนายจอห์น ซัลลิแวน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 20 เม.ย. เป็นการอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรเอกชนทั่วโลก

ในส่วนของไทยนั้น เป็นรายงานความยาว 44 หน้า อ้างอิงข้อมูลทางการไทยระหว่างเดือน ต.ค. 2559 - ก.ย. 2560 มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า นอกจากจะพบการจำกัดเสรีภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ก็ยังพบปัญหารุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายเรื่อง อาทิ การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งรวมถึงการคุกคามหรือข่มเหงผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้ถูกคุมขัง และนักโทษผู้ต้องขัง

รัฐบาลทหาร ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า การแสดงมุมมองต่าง ๆ ต่อประเทศไทย โดยรัฐบาลต่างประเทศเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิที่สามารถกระทำการได้ แต่สำหรับประเทศไทยไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อประเทศอื่น เพราะถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมองไทยในแบบเดียวกัน

"อย่างไรก็ตาม ทางการไทยขอยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน แต่เป็นเพียงการดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างการกระทำผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิ ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูว่า คดีที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายจริงหรือไม่ ถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอธิบาย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Reuters

พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวอีกว่า หากเรื่องผิดกฎหมายเกิดขึ้นในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ในประเทศไหน ๆ ก็ต้องดำเนินการแบบเดียวกัน

ส่วนในเรื่องการบังคับกฎหมายหรือใช้กฎหมายนั้น พล.ท.สรรเสริญ ย้ำว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการตามมาตรา 44 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็เป็นเพียงใช้กฎหมายในทางการบริหารเท่านั้น ไม่เคยใช้กฎหมายเพื่อก้าวล่วงในขั้นตอนหรืออำนาจด้านตุลาการ

จับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ

รายงานของสหรัฐฯ ชิ้นนี้ยังพบกรณีที่ทางการจับกุมและคุมขังประชาชนตามอำเภอใจ กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงข่มเหงกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาการทุจริต การหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก และการค้ามนุษย์

แม้ที่ผ่านมาทางการจะดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การที่เจ้าหน้าที่ได้รับการละเว้นจากการถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นทางภาคใต้ที่มีการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ-วิสามัญฆาตกรรม

รายงานระบุต่อไปด้วยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ต้องสงสัย ผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรม, การใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการฆ่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ข้อมูลจากสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 - ก.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งหมายรวมถึงตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุมไป 16 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากตัวเลขในปีก่อนหน้านี้

นายชัยภูมิ ป่าแส

ที่มาของภาพ, เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

คำบรรยายภาพ, นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกวิสามัญฆาตกรรม บริเวณจุดตรวจยาเสพติด ต.เมืองนะ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน มี.ค.2560

รายงานได้ยกตัวอย่างกรณีที่ทหารได้วิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ บริเวณจุดตรวจยาเสพติดบ้านริมหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน มี.ค.2560 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า นายชัยภูมิ มียาเสพติดในครอบครองและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยระเบิดมือ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างตั้งคำถามถึงข้อกล่าวอ้างของทหาร พร้อมเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

นอกจากนี้ รายงานยังกล่าวถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปเมื่อเดือน เม.ย.2557 รวมถึงกรณีของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ที่สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าเขา "ถูกอุ้ม" หายไปจากประเทศลาว ซึ่งนายวุฒิพงศ์ หลบหนีไปพำนักหลังถูกตั้งข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ซ่องสุมอาวุธเพื่อก่อเหตุความรุนแรง และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ

ที่มาของภาพ, องค์การสหพันธ์รัฐไท

คำบรรยายภาพ, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋

รายงานของทางการสหรัฐฯ ยังกล่าวถึงกรณีพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์ค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จ.สุราษฎร์ธานี ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2560 หลังจากถูกสั่งขังคุกทหารเพราะไม่เข้าเวรตามที่ได้รับมอบหมาย โดยครอบครัวอ้างว่า พลทหารยุทธกินันท์ถูกซ้อมและถูกทรมานจนเสียชีวิต

นักโทษล้นคุก

อีกปัญหาที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึงคือเรื่องความแออัดของเรือนจำและศูนย์กักขังต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง สถานบำบัดยาเสพติด และศูนย์กักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ส่วนใหญ่มีนักโทษหรือผู้ต้องขังมากเกินจำนวนที่สามารถรองรับได้

ข้อมูลจนถึงวันที่ 1 ส.ค.2560 พบว่าทางการมีผู้ต้องขังตามทัณฑสถานหรือศูนย์กักเหล่านี้ประมาณ 307,500 คน ทั้งที่สถานที่เหล่านี้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 210,000 - 220,000 คน

นอกจากนี้ยังพบว่า 21% ของผู้ถูกจองจำในคุกนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในขั้นก่อนการพิจารณาคดี โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แยกผู้ต้องขังเหล่านี้ออกจากผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้วอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน บรรดากลุ่มเอ็นจีโอรายงานว่า ทางการมักจับผู้ต้องหาชาย หญิง และเด็กไว้รวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจในระหว่างที่รอการดำเนินคดี กรณีลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในสถานีตำรวจขนาดเล็ก หรืออยู่ห่างไกลความเจริญ ในส่วนของศูนย์กักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนั้น พบข้อมูลว่า ทางการไทยอาจจองจำผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและบุตรของคนเหล่านี้ไว้ในศูนย์นานหลายปีจนกว่าพวกเขาจะเสียเงินค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศ

ผู้ถูกคุมขังและนักโทษการเมือง

รายงานของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา คสช.มักคุมตัวผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง โดยข้อมูลจนถึงเดือน ส.ค.2560 กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ถูกจำคุกหรือควบคุมตัวในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวน 135 คน องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่าการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้มักมีมูลเหตุมาจากเรื่องการเมือง

เมื่อเดือน ธ.ค.2559 ตำรวจได้จับกุมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้แชร์บทความเดียวกันราว 2,600 ราย

ป้ายเรียกร้องให้มีการประกันตัวไผ่

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เมื่อเดือน ส.ค.2560 นายจตุภัทร์ได้ให้การรับสารภาพในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และศาลจังหวัดขอนแก่นได้ตัดสินจำคุกนายจตุภัทร์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ โดยนับแต่วันที่เขาถูกจับจนถึงวันที่เขาให้การรับสารภาพนั้น ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวของนายจตุภัทร์ 12 ครั้ง

ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดให้ทหารมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ส่งผลให้ที่ผ่านมาพบกรณีที่ทหารใช้อำนาจดังกล่าวในการคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็นตรงข้ามกับ คสช. หรือสมาชิกครอบครัวของบุคคลนั้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานการข่มขู่คุกคามคนใกล้ชิดของนายชัยภูมิ ป่าแส

นักเคลื่อนไหวถือป้ายเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยในการเดินขบวนต่อต้านกฎหมายนี้ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2554

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักเคลื่อนไหวถือป้ายเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยในการเดินขบวนต่อต้านกฎหมายนี้ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2554

นอกจากนี้ ทางการยังเฝ้าติดตามและตรวจสอบผู้เห็นต่าง ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติ โดยเมื่อเดือน เม.ย. รัฐบาลได้ออกประกาศห้ามประชาชนติดต่อ หรือเผยแพร่ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ จากบุคคลต้องห้าม 3 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนวิจารณ์ประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง ได้แก่ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และนายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ผู้สื่อข่าวจากสกอตแลนด์

จำกัดเสรีภาพสื่อ

รายงานระบุว่า ทางการไทยใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือเอาผิดผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมา องค์กรสื่ออิสระจะยังดำเนินงานอยู่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำงานอย่างอิสระ ผู้คนในแวดวงสื่อหลายรายแสดงความวิตกกังวลว่าคำสั่งของ คสช.จะจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน และสั่งระงับการทำงานของสื่อโดยไม่มีหมายศาล ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเรื่องที่ทางการเข้าไปจำกัดหรือขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี ซึ่งรวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่าง ๆ ทางออนไลน์ โดยที่ผ่านมามีรายงานว่ารัฐบาลได้ตรวจสอบผู้ให้บริการสื่อออนไลน์เอกชนโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย