เลือกตั้ง 2562 : สหรัฐฯ-มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้อง กกต. โปร่งใส-เป็นธรรม

คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2 คน

ที่มาของภาพ, AFP

สหรัฐฯ เป็นชาติตะวันตกล่าสุดที่เรียกร้องให้ กกต. เร่งตรวจตรวจสอบรายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นในทุกกรณีอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ส่วน มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ พีเน็ต เรียกร้องทบทวนคำวินิจฉัยไม่นำบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์มานับ

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความโปร่งใส-เป็นธรรม ในการทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ พีเน็ต เป็นองค์กรเคลื่อนไหวล่าสุดที่ออกมาเรียกร้องให้ขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์มานับเป็นคะแนนเสียใหม่ โดยให้เหตุผล 5 ประการด้วยกัน

1.การนำส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากต้นทางมาถึงประเทศไทยล่าช้าไม่ทันการนับคะแนน ไม่น่าจะเป็นเหตุอ้างได้ว่าไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมจนทำให้บัตรเหล่านั้นกลายเป็นบัตรเสีย ตามที่อ้างตามมาตรา 114 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

2.สิทธิเลือกตั้งเป็นอำนาจโดยตรงของประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศและนิติบัญญัติ การที่ กกต. ใช้ข้อกฎหมายอย่างรวบรัด โดยไม่คำนึงถึงสิทธิ และการทำหน้าที่พลเมืองของประชาชน ทำให้สังคมขาดความไว้วางใจว่ากระบวนการจะสุจริตและเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

3.ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของชาวไทยในนิวซีแลนด์มานับย่อมเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย โดยเป็นกรณีที่พึงบังคับใช้กฎหมายให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกรอนสิทธิ ซึ่งไม่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป

บัตรเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

4.รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 224(3) ประกอบกับมาตรา 225 ให้อำนาจ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่พบว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์นี้น่าจะเข้าข่ายการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 1,542 คนต้องเสียสิทธิ์ในการนำผลคะแนนไปคำนวณประกอบการได้มาซึ่ง ส.ส.

5. หากพิจารณาที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 กกต. ย่อมจะต้องมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ นั่นคือ "การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม"

สหรัฐฯ ยินดีด้วย แต่ต้องโปร่งใส

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โรเบิร์ต พาลาดิโน ได้ระบุผ่านแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในไทย เมื่อ 26 มี.ค. แสดงความยินดีที่คนไทยหลายสิบล้านคนได้ออกมาใช้สิทธิ์ "เป็นสัญญาณบวกแสดงถึงการกลับสู่รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนความต้องการของประชาชน"

พาลาดิโน ระบุต่อว่า "เรายืนเคียงข้างประชาชนชาวไทยในการเรียกร้องให้มีการประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้มีการตรวจสอบรายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นในทุกกรณีอย่างยุติธรรมและโปร่งใส"

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า รอคอยที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ "เพื่อส่งเสริมค่านิยมต่างๆ รวมถึงประชาธิปไตย ความมั่นคง และความเจริญมั่งคั่งของพลเมืองทุกคน อันจะนำประเทศของเราทั้งสองให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น"

คนที่ไม่ได้เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งร่วมกันประท้วงเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557

กกต. ชู กม. คอมพิวเตอร์ฯ สกัดข่าว "โกงเลือกตั้ง"

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า บัตรปลอมและบัตรเกิน ไม่มีจริง และประกาศว่า หากผู้ใดแชร์ 'ข่าวปลอม' เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ กกต. เสื่อมเสีย จะมีความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้านสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ขอให้สอบสวนกรณีพบความผิดปกติระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา

สำนักงาน กกต. ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีปรากฏเป็นข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับกรณีที่มีบัตรเลือกตั้งหายหรือบัตรเลือกต้ังเกินมาเป็นจำนวนมาก โดยยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นข่าวที่มุ่งหวังก่อให้เกิดความวุ่นวายและสับสน เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง

ทางกกต. ขอให้ประชาชนได้โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยหากมีการกระทำใส่ความ ทำให้ กกต. เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และหากมีการส่งต่อข้อมูลที่มีการบิดเบือนหรือใส่ร้ายหรือปลอมหรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลความเป็นจริงที่ถูกต้องจาก กกต. ก่อน โปรดอย่าหลงเชื่อข่าวลวงอันไม่เป็นความจริงที่มีการส่งต่อในขณะนี้

บัตรสายจากกรุงเวลลิงตันกลายเป็นบัตรที่ไม่ถูกนับ

ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 1,542 ใบ จากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ มาไม่ทันการคัดแยกและไม่ทันการจัดส่งไปยังสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง กกต. แถลงในวันที่ 26 ว่า มีมติให้บัตรเลือกตั้งดังกล่าว ไม่สามารถนำมานับเป็นคะแนนได้

กกต. ยังได้ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยทางสื่อสังคมออนไลน์ 7 เรื่อง รวมถึงเรื่อง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในการลงคะแนน มากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยทาง กกต. ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นข้อมูลที่อยู่ในขั้นตอนการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากบางหน่วยเลือกตั้งไปยังคณะกรรมการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นข้อมูลที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกหน่วยเลือกตั้ง ประกอบกับระบบการรายงานผลในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดความขัดข้องทางเทคนิคทำให้ข้อมูลที่รายงานออกไปเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งภายหลังจาก สำนักงาน กกต. ได้ตรวจพบแล้ว จึงดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องในทันที

คนไปเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่างชาติขอให้ตรวจสอบความผิดปกติ

ด้าน สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในประเทศไทย เรียกร้องให้ประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปอย่างปราศจากความรุนแรง และถือเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากเข้าร่วมแข่งขันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนชาวไทยจำนวนมากได้ร่วมใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

นางมายา โคซิยานซิช โฆษกของอียูแถลงว่า สหภาพยุโรปหวังว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ รายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งควรได้รับการพิจารณาตรวจสอบให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วและโปร่งใส

สหภาพยุโรปหวังว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่สะท้อนถึงเจตจำนงของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ เพื่อสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน

ด้านนายมาร์ก ฟีลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งในไทยเช่นกัน

"เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอบสวนความผิดปกติที่มีการรายงานทุกเรื่องอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และโปร่งใส เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้ได้ผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด" นายฟีลด์ ระบุในแถลงการณ์

เขายังระบุว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลควรกระทำอย่างเหมาะสมและเปิดเผย สะท้อนสิ่งที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้ง

"เราพร้อมจะทำงานกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดใหม่อย่างใกล้ชิด" นายฟีลด์ ระบุ