50 อันดับมหาเศรษฐีไทยของ 'ฟอร์บส์' ปีนี้ ค้าปลีกรุ่งแต่สื่อร่วง

นายธนินท์ เจียรวนนท์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานกลุ่มซีพีในปีพ.ศ. 2560

นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของไทยประจำปี 2018 ตระกูลเจียรวนนท์ ครองอันดับ 1 ด้วยทรัพย์สินมูลค่ารวม 9.5 แสนล้านบาท ตามมาด้วยตระกูลจิราธิวัฒน์ 6.72 แสนล้านบาท ด้านเศรษฐีที่อยู่ในธุรกิจสื่อต่างได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ทรัพย์สินลดลง ทั้งตระกูลมาลีนนท์ของช่อง 3 และคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล เจ้าของไทยรัฐ

นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า 4 พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ สร้างความมั่งคั่งจากธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี หนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบันมีทรัพย์สินมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.5 แสนล้านบาท โดยพ่อของพวกเขาคือ เจี่ย เอ็กชอ และน้องชายได้เปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชที่นำเข้ามาจากจีนให้แก่เกษตรกรไทยในปีพ.ศ. 2464

นายธนินท์ เจียรวนนท์ น้องคนเล็กสุดในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน ได้เป็นประธานกลุ่มซีพีเป็นเวลา 48 ปี จนกระทั่งก้าวลงจากตำแหน่งในปีพ.ศ. 2560 แต่ยังคงเป็นประธานอาวุโส ปัจจุบันนายสุภกิต บุตรชายคนโตของนายธนินท์ วัย 53 ปี และนายศุภชัย วัย 50 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีพีตามลำดับ

ด้านตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งทำธุรกิจค้าปลีก เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รั้งอันดับสองด้วยทรัพย์สินมูลค่า 2.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.72 แสนล้านบาท ขึ้นจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว ฟอร์บส์ระบุว่า ตระกูลจิราธิวัฒน์ควบคุมดูแลกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัจจุบันนำโดยนายทศ จิราธิวัฒน์ หลานชายของผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล

เซ็นทรัลมีแผนที่จะขยายสาขาร้านค้าเป็นมากกว่า 7,500 ร้านค้าในประเทศไทยภายในปี 2565 จากที่มีอยู่เกือบ 5,000 ร้านค้าในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เซ็นทรัลมีแผนที่จะขยายสาขาร้านค้าเป็นมากกว่า 7,500 ร้านค้าในประเทศไทยภายในปี 2565 จากที่มีอยู่เกือบ 5,000 ร้านค้าในปัจจุบัน

ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจรายย่อยรายนี้มีรายได้ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.48 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 มาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป และเวียดนาม

เซ็นทรัลมีแผนที่จะขยายสาขาร้านค้าเป็นมากกว่า 7,500 ร้านค้าในประเทศไทยภายในปี 2565 จากที่มีอยู่เกือบ 5,000 ร้านค้าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจไปในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้มีการร่วมทุนกับบริษัท JD.com ของจีน 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.77 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

ส่วนมหาเศรษฐีที่อยู่ใน 5 อันดับแรกอีก 3 รายได้แก่ นายเฉลิม อยู่วิทยา ผู้นำกลุ่มที่ถือหุ้นกระทิงแดง 51% มีทรัพย์สินอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.65 แสนล้านบาท ตามมาด้วยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง ซึ่งมีทรัพย์สินอยู่ที่ 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.51 แสนล้านบาท และนายวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของคิงพาวเวอร์ ผู้นำในธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีของไทย ซึ่งมีทรัพย์สินอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.65 แสนล้านบาท

เศรษฐีธุรกิจสื่อทรัพย์สินลด

ฟอร์บส์ รายงานว่า การแข่งขันที่รุนแรงในทีวีดิจิทัลของประเทศไทยได้ส่งผลให้ทรัพย์สินของเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ลดลงจำนวนมาก โดยนายวิชัย มาลีนนท์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีธุรกิจโทรทัศน์และมีอายุมากที่สุดในบรรดาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทย มีทรัพย์สินลดลงกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งขณะนั้นเขามีทรัพย์สิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.32 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.15 หมื่นล้านบาท

จอโทรทัศน์

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/DIGITAL TV (NBTC)

คำบรรยายภาพ, รายได้โฆษณาทางโทรทัศน์ต่อปีลดลง 6% ลงมาอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือราว 1.01 แสนล้านบาท ในปีที่แล้ว

บีอีซีเวิลด์ ซึ่งบริหารงานโดยนายประชุม มาลีนนท์ บุตรชายของเขา ได้ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาด้วยราคาสูงสุดที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.35 พันล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งเป็นของกลุ่มบีอีซีเวิลด์ จะยังอยู่ในช่องที่มีผู้ชมมากที่สุด 3 อันดับแรกของไทย แต่มูลค่าหุ้นของบริษัทก็ลดลงราว 85% จากระดับสูงสุดในปี 2556 โดยกลุ่มบีอีซีเวิลด์ ได้รายงานว่ามีกำไรสุทธิลดลง 95% ลงมาอยู่ที่ 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 60 ล้านบาทในปีที่แล้วด้วย

ด้านคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ซึ่งเป็นเจ้าของไทยรัฐ หนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดขายมากที่สุดในประเทศไทย ก็มีทรัพย์สินลดลงมากกว่า 1 ใน 3 นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล โดยปัจจุบันมีทรัพย์สินอยู่ที่ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.12 หมื่นล้านบาท

โดยช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งบริหารงานโดยนายวัชร วัชรพล หลานชายของเธอ เป็นช่องโทรทัศน์อันดับ 9 ของไทยในปี 2560 ลดลงจากปีก่อนหน้า 1 อันดับ และมีรายงานว่าปลดพนักงานออกบางส่วนในช่วงไม่นานมานี้ด้วย

ขณะที่นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือ บีบีทีวี ก็เผชิญกับสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ลงของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 แม้ว่าจะยังคงเป็นผู้นำในตลาด โดยในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลล่าสุดของช่อง 7 ทางช่องมีรายได้ลดลง 20% ขณะที่กำไรสุทธิลดลงมากกว่า 40% โดยนายกฤตย์ มีทรัพย์สินลดลงจาก 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.61 แสนล้านบาท ในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.17 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้เปิดการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ใบ ทำให้ผู้ที่ต้องการชิงส่วนแบ่งค่าโฆษณาทางโทรทัศน์ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือราว 1.12 แสนล้านบาทเข้ามาร่วมประมูลจำนวนมาก ยอดประมูลพุ่งสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.16 พันล้านบาทต่อใบอนุญาต ซึ่งต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตภายใน 6 ปี รัฐบาลไทยตั้งเป้าทำเงินจากการประมูลนี้ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท

แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลไม่ได้มีความคึกคัก ผู้เล่นหลายรายพยายามที่จะเอาตัวให้รอดในธุรกิจนี้ ฟอร์บส์รายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์สื่อจากบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงว่า รายได้โฆษณาทางโทรทัศน์ต่อปีลดลง 6% ลงมาอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือราว 1.01 แสนล้านบาท ในปีที่แล้ว

ผู้หญิงติดอันดับ 7 คน

ในบรรดามหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยตามการจัดอันดับของฟอร์บส์ล่าสุด มีผู้หญิงติดอันดับอยู่ด้วย 7 คนได้แก่ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานเดอะมอลล์ กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย ซึ่งก่อตั้งโดยนายศุภชัย อัมพุช บิดาของเธอ ปัจจุบันเธอมีทรัพย์สิน 2.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7.91 หมื่นล้านบาท เป็นผู้มีฐานะร่ำรวยที่สุดอันดับ 15 ของไทย

ตามมาด้วย นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ซึ่งเป็นมารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มีทรัพย์สินอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.11 หมื่นล้านบาท อยู่ที่อันดับ 28

ส่วนผู้หญิงอีก 4 คนที่ติดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรกของฟอร์บส์ได้แก่ นิชิตา ชาห์ เฟเดอร์บุช กรรมการผู้จัดการของกลุ่มจีพี ซึ่งทำธุรกิจด้านการขนส่งทางเรือและยารักษาโรค, สุรางค์ เปรมปรีดิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการของบีบีทีวี และผู้ผลิตละครยอดนิยมหลายเรื่องในอดีต, จรีพร จารุกรสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของ WHA บริษัทด้านลอจิสติกและคลังสินค้าชั้นนำของไทย, คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล เจ้าของไทยรัฐ และณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ คาราบาว กรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดง