พระที่นั่งวิมานเมฆ ปิดไม่ให้สาธารณชนเยี่ยมชมแล้ว หลังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มานานกว่า 3 ทศวรรษ

พระที่นั่งวิมานเมฆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์บนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี สู่ที่ตั้งใหม่ในสวนดุสิต กรุงเทพฯ พร้อมกับชื่อใหม่ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" อาคารพระที่นั่งซึ่งขึ้นชื่อลือนามในฐานะอาคารไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกรุงเทพฯ จะไม่ได้อวดโฉมให้สาธารณชนได้เยี่ยมชมอีกต่อไป

บีบีซีไทยได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังว่าขณะนี้พระที่นั่งวิมานเมฆไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกเข้าชมแล้ว

"ปิดไปแล้วครับ แล้วต่อไปนี้จะไม่ได้เปิดให้คนเข้าชมแล้ว" เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังกล่าว

พระที่นั่งวิมานเมฆปิดปรับปรุงไปตั้งแต่กลางปี 2559 แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายจากกูเกิล แมป ในสื่อสังคมออนไลน์ที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งวิมานเมฆนั้นว่างเปล่า อาคารพระที่นั่งไม้สักทองอายุกว่า 120 ปี และอาคารโดยรอบถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าหลังจากนี้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติจะยังสามารถเข้าไปเที่ยวชมพระที่นั่งวิมานเมฆได้อีกหรือไม่

ก่อนจะมาเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆ

พระที่นั่งวิมานเมฆ เดิมคือพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 พระที่นั่งในบริเวณพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน ที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2435

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสทวีปยุโรปในปี 2440 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจรดคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างเป็นอุทยานสถานและพระราชทานนามอุทยานสถานแห่งนี้ว่า "สวนดุสิต"

พระที่นั่งวิมานเมฆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากนั้นก็ทรงมีพระประสงค์ให้รื้อย้ายพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังเข้ามาสร้างใหม่ที่ในเขตสวนดุสิตที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2443 ใช้เวลาในการสร้างทั้งสิ้น 2 ปี และพระราชทานนามใหม่ว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" นับเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเป็นการถาวรในบริเวณสวนดุสิต

จากพระราชฐานสู่สถานที่ท่องเที่ยว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวัง มาประทับเป็นการถาวร ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นเวลาถึง 5 ปี จนการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานเสร็จสมบูรณ์ในปี 2449 จึงทรงย้ายไปประทับที่นั่น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา มาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2468 และในปีต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา จึงทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ

หลังจากนั้นพระทั่งวิมานเมฆก็ไม่ได้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด และมีสภาพทรุดโทรมลง จนกระทั่งปี 2525 อันเป็นปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้ซ่อมรักษาพระที่นั่งวิมานเมฆ

ในปี 2528 สำนักพระราชวังได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการเปิดพระที่นั่งวิมานเมฆเป็นการถาวรให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมตั้งแต่วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค. 2528 เป็นต้นมา

พระที่นั่งวิมานเมฆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

กลับสู่การเป็นพระราชฐาน

นอกจากคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังว่าพระที่นั่งวิมานเมฆปิดถาวรแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับพระที่นั่งวิมานเมฆยังปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจากการสืบค้นโดยบีบีซีไทยพบว่ามี 2 ฉบับ คือ

  • เอกสารแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรและราคากลางในงานจ้างก่อสร้าง ชื่อโครงการ "งานปรับปรุงโครงสร้างส่วนชั้นใต้ดิน พระที่นั่งวิมานเมฆ" โดยมี "โครงการก่องสร้างกิจกรรมพิเศษในพระบรมวงศานุวงศ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง" เป็นเจ้าของโครงการ วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 80 ล้านบาท จากราคากลางที่คำนวณไว้ที่ 81.31 ล้านบาท ณ วันที่ 6 พ.ย. 2560

เอกสารฉบับนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะงานไว้ว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างไม้ 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ซึ่งอาคารมีอายุการใช้งานเป็นเวลานาน มีการทรุดตัวของอาคารเกิดขึ้น ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย

"งานปรับปรุงเฉพาะส่วนงานโครงสร้างชั้นใต้ดิน ได้แก่ งานรื้อถอนพื้นพร้อมโครงสร้างพื้น ผนังก่ออิฐเดิม คาน-เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มไม้และงานระบบไฟ งานระบบสุขาภิบาล งานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ซึ่งการปรับปรุงจะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการรื้อถอน โดยใช้เหล็กเพื่อเสริมค้ำยันโครงสร้างเดิมไปพร้อม ๆ กัน เพื่อรับน้ำหนักตัวอาคารเดิมระหว่างจัดทำโครงสร้างใหม่...ดำเนินการดีดอาคาร 8 เหลี่ยมขึ้น 30 เซนติเมตร พร้อมรื้อถอนโครงสร้างเดิมและจัดทำโครงสร้างใหม่" เอกสารระบุ

  • เอกสารสัญญาเลขที่ 146/2561 ลงนามโดยนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาฯ จัดจ้างบริษัทสโตนเฮ้นจ์ จำกัด "ออกแบบ บริหารและควบคุมงานโครงการก่อสร้างปรับปรุง พื้นที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระตำหนักสวนกุหลาบและพื้นที่เวทีใหม่สวนอัมพร บริหารและควบคุมงานพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พื้นที่อาคารที่ประทับธนาซิตี้และพื้นที่สนามเสือป่า"

เอกสารสัญญาระบุว่า บริษัทสโตนเฮ้นจ์จะต้องเริ่มลงมือทำงานภายในวันที่ 27 ก.ย. 2561 และจะต้องดำเนินการตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ก.ย. 2562 โดยตกลงราคาค่าจ้างตามสัญญานี้เป็นจำนวนเงิน 46 ล้านบาท

พระที่นั่งวิมานเมฆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

บีบีซีไทยได้ติดต่อบริษัท สโตนเฮนจ์ จำกัด เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ แต่ทางบริษัทเอกชนดังกล่าวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยบอกว่าไม่สามารถเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการได้

นักประวัติศาสตร์ที่ไม่ประสงค์ออกนามได้บอกกับบีบีซีไทยว่า ผู้รับเหมาได้รื้อถอนอาคารพระที่นั่งออกทั้งหมดเพื่อซ่อมแซม โดยชิ้นส่วนต่าง ๆ ของอาคารถูกเก็บเอาไว้ภายในเขตพระที่นั่ง ส่วนชิ้นส่วนของพระตำหนักและอาคารที่อยู่รอบ ๆ ที่ถูกรื้อถอนนั้นถูกนำไปเก็บไว้หลายที่

พระที่นั่งวิมานเมฆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทางบีบีซีไทยเดินทางไปที่พระที่นั่งวิมานเมฆแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป การสังเกตจากด้านนอกพบว่ากำลังมีการก่อสร้างอยู่ภายใน

"พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นการกระทำใด ๆ ถือว่าเป็นสิทธิ์ชอบธรรมของพระองค์ท่าน การปิดหรือรื้อถอนองค์พระที่นั่งไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหามากกว่าคือการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอ" นักประวัติศาสตร์ผู้นี้ระบุ