เลือกตั้ง 2562 : กกต. เคาะแล้วเลือกตั้ง 24 มี.ค.

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป พรรคต้องเปิดชื่อ "นายกฯ ในบัญชี" ภายใน 4-8 ก.พ.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า มติ กกต. ที่ออกไม่ได้เป็น "เอกฉันท์" แต่ยึด "เสียงข้างมาก" โดยยืนยันว่าการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ถือว่า "เหมาะสม เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบกฎหมาย" และ "ถ้าเลือกวันใดวันหนึ่งแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนใหญ่ก็จะเลือกวันนั้น" หากจัดเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. ก็จะกระชั้นไปหรือไม่

บีบีซีไทยรายงานว่า การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. เป็นไปตามข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยให้ความเห็นไว้ว่า "น่าจะเหมาะสมที่สุด" ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับพรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียง 59 วัน (23 ม.ค.-23 มี.ค.)

ประธาน กกต. ยังได้เปิดปฏิทินนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ปฏิทินสู่การเลือกตั้ง 2562

ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงยืนยันการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ว่า "เหมาะสม เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบกฎหมาย"
Image caption นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงยืนยันการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ว่า "เหมาะสม เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบกฎหมาย" Image copyright AFP/Getty Images

กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส. แต่ละเขต

วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

วันรับสมัคร ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อ พร้อมแจ้งชื่อนายกฯ ในบัญชีของแต่ละพรรค

กกต. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร

กกต. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
Image caption กกต. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ Image copyright AFP/Getty Images

วันลงคะแนนนอกราชอาณาจักร

วันลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง (เลือกตั้งล่วงหน้า)

วันเลือกตั้งทั่วไป

วันสุดท้ายของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ในบทเฉพาะกาล ว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
Image caption นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ในบทเฉพาะกาล ว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ Image copyright Thai News Pix

แย้มไม่ส่งศาล รธน. ตีความปมจัดเลือกตั้งใน 150 วัน

อย่างไรก็ตามนายอิทธิพรไม่ขอยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า กกต. จะสามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พ.ค. หรือไม่ หลังเกิดข้อถกเถียงว่าการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หมายถึงจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือรวมขั้นตอนรับรองและประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนความเป็นไปได้ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ ประธาน กกต. บอกเพียงว่า "อยู่ในความคิด กกต. แต่ยังไม่ตัดสินใจ ถ้าทำตามขั้นตอน กกต. อาจไม่มีความจำเป็น"

วันเลือกตั้งที่แน่ชัดถูกประกาศออกมา หลังจากช่วงเช้าวันนี้ (23 ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562

พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา

เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป อาศัยความตามมาตรา 175 และ 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ให้ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังมี พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. คือ ทุกพรรคการเมืองจะถูกคิดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งบาทแรกตั้งแต่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ตามระเบียบ กกต. กำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส. เขตใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน ส่วนพรรคการเมืองใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค

สำนักนายกฯ ออกแถลงการณ์ วิกฤติบ้านเมือง "ไม่ควรจะย้อนกลับมาหลอกหลอนเราอีก"

วันเดียวกัน (23 ม.ค.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การเลือกตั้งทั่วไป โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. แต่การประสานงานระหว่างรัฐบาลกับ กกต. เป็นหน้าที่ของรัฐบาล "เท่าที่ผ่านมาได้ประสานเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการแจ้งข้อมูลให้ กกต. ทราบถึงกำหนดการและกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งที่จะมีขึ้นก่อน ระหว่างพระราชพิธี และภายหลังพระราชพิธี เพื่อไม่ให้กิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องดำเนินการภายหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งบางเรื่องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมอยู่แล้วไปทับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการทับซ้อนกับกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าว..."

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า รัฐบาลขอให้ประชาชนช่วยกันรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อยและความสามัคคีปรองดองดังที่ปรากฏตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ให้ยั่งยืนต่อไปจนผ่านพ้นการเลือกตั้ง และการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและเป็นที่ชื่นชมยินดีของนานาชาติ พร้อมย้ำว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง "ความขัดแย้ง ข้อพิพาทบาดหมางจนนำไปสู่วิกฤติของบ้านเมืองดังในอดีต ไม่ควรจะย้อนกลับมาหลอกหลอนเราอีก"

Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562